วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่

by

|

in

วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาชั้นสูง แผนกเกษตรกรรมสังกัดกองโรงเรียนเกษตรกรรม กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 18 กิโลเมตร บริเวณของโรงเรียนทั้งหมดมีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ เป็นโรงเรียนที่รับนักเรียนประจำ (กินนอน) โรงเรียนนี้ได้เริ่มตั้งขึ้นมาเป็นปีที่ 23 มีประวัติสังเขปดังนี้

เนื้องจากกรมเกษตร (กรมกสิกรรม) กระทรวงเกษตราธิการ ได้จัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2476 (ปัจจุบันเรียกสถานีกสิกรรมแม่โจ้ ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนทางด้านเหนือ) ซึ่งขณะนั้นพระช่วงเกษตรศิลปการ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานีฯ

ในปี พ.ศ. 2477 ทางกระทรวงธรรมการ ได้จัดตั้งโรงเรียนครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือขึ้น ซึ่งได้เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2477 โดยรับนักเรียนที่เรียนสำเร็จจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ขึ้นไป มาเรียนมีหลักสูตรกำหนดเวลาเรียน 2 ปี โดยมีพระช่วงเกษตรศิลปะการ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพเป็นอาจารย์ใหญ่ด้วย

ในปี พ.ศ. 2478 กระทรวงธรรมการ ได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคเหนือขึ้น โดยใช้สถานที่ร่วมกับโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือ โรงเรียนวิสามัญเกษตรกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มีหลักสูตรกำหนดเวลาเรียน 4 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสามัญ เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วกระทรวงธรรมการกำหนดให้มีวิทยฐานะเทียบเท่ามัธยมปีที่ 8

ในต้นปี พ.ศ. 2481 กระทรวงธรรมการได้ยุบเลิกโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคใต้ “คอหงส์” จังหวัดสงขลา โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคกลาง “บางกอกน้อย” ธนบุรี และ โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคอิสาน “โนนวัด” จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนเหล่านี้ได้โอนกิจการทั้งหมดมารวมกันที่โรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมภาคเหนือที่ “แม่โจ้” แต่แห่งเดียว

ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคอื่นๆ ซึ่งตั้งก่อนโรงเรียนแม่โจ้ก็ถูกยุบเลิก คงเหลือไว้แต่ที่โรงเรียนครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือ คือ ที่แม่โจ้เพียงเท่านั้น และให้เลิกยุบไปทั้งหมดเมื่อสิ้น พ.ศ.2481

อนึ่ง ในต้นปี พ.ศ. 2481 นี้ ทางการได้โอนกิจการต่างๆ ของโรงเรียนนี้จากกระทรวงธรรมการ ย้ายสังกัดไปขึ้นอยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตราธิการ และเปลี่ยนฐานะของโรงเรียนนี้เป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหลักสูตรกำหนดเวลาเรียน 2 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 เข้าเรียน

ในต้นปี พ.ศ. 2482 กระทรวงเกษตราธิการได้จัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นที่อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร และกำหนดให้โรงเรียนนี้มีฐานะเป็นเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีหลักสูตรกำหนดเวลาเรียน 2 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนสามัญ เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว มีสิทธิเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนโดยตรง โดยไม่มีการสอบคัดเลือก

ในปี พ.ศ. 2486 กระทรวงเกษตราธิการได้ยกฐานะวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่บางเขนเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหลักสูตรกำหนด 2 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนสามัญ เมื่อเรียนจบหลักสูตรที่นี่แล้วรับช่วงเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนโดยเฉพาะ

ในปี พ.ศ. 2490 ทางกระทรวงเกษตราธิการให้ยุบโรงเรียนเตรียมอุดมเกษตรศาสตร์ และนัยว่าจะโอนกิจการของโรงเรียนนี้ไปรวมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งหมด แต่พระช่วงเกษตรศิลปะการ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตร มีทัศนะเห็นว่ายังไม่ควรเลิกโรงเรียนนี้เสียเลยทีเดียว เพราะทางภาคเหนือเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยการกสิกรรม ถ้ามีโรงเรียนอย่างนี้ไว้ จะได้สะดวกแก่ยุวชนทางภาคเหนือได้ศึกษาโดยสะดวก ฉะนั้นทางการจึงได้ตกลงตั้งเป็นสถานศึกษาเกษตร กระทรวงศึกษาธิการ มีหลักสูตรกำหนดเวลาเรียน 2 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยมสามัญ และนักเรียนที่สำเร็จจากสถานศึกษาการเกษตรที่นี่ บางส่วนมีสิทธิเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนด้วย

ในปลายปี พ.ศ. 2491 ทางกระทรวงเกษตราธิการ ได้โอนกิจการทั้งหมดของโรงเรียนนี้ย้ายสังกัดไปขึ้นต่อกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนฐานะของโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ มีหลักสูตรกำหนดเวลาเรียน 3 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 และโรงเรียนนี้ได้เปิดรับนักเรียนประเภทนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา

ครั้นต่อมาทางกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจะส่งเสริมโรงเรียนอาชีวศึกษาแผนกเกษตรกรรมให้มีวิทยฐานะสูงขึ้น จึงได้ยกฐานะโรงเรียนเกษตกรรมแม่โจ้เป็น “วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่” ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2499 ในต้นปี 2500 กระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มหลักสูตรขึ้นอีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี เป็นแผนกฝึกหัดครูมัธยมกสิกรรม กำหนดเวลาเรียน 2 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จอาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกเกษตรกรรม และผู้ที่สำเร็จจากฝึกหัดครูประถมกสิกรรม (ป.ป.ก.) เข้ารับการศึกษา สำเร็จแล้วได้วุฒิ ป.ม.ก. เทียบเท่าอนุปริญญามาจนกระทั้งปัจจุบันนี้