หอระฆังแม่โจ้ พ.ศ. 2477 สร้างขึ้นเพื่อกำหนดเวลาชีวิตประจำวันของนักเรียนแม่โจ้แต่อดีต ตั้งแต่การปลุกให้ตื่นนอนเวลา 05.00 น. เพื่อลงงานภาคปฏิบัติเวลา 06.00-07.00 น. เข้าชั้นเรียนเวลา 08.00-12.00 น. ลงงานปฏิบัติภาคบ่ายอีกครั้งในเวลา 13.00-16.00 น. และสุดท้ายย่ำระฆังเพื่อสวดมนต์ไหว้พระ ก่อนเข้านอนเวลา 21.00 น. และแน่นอนการรัวระฆังกลางดึกหลังเที่ยงคืน คืนใดเกิดขึ้น ย่อมบ่งบอกถึงกิจกรรมประเพณีการรับลูกแม่โจ้ใหม่ไว้ในอ้อมอกอีกครั้งหนึ่ง
หอระฆัง ดั้งเดิม ปี พ.ศ. 2477 สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหมด และใช้งานมายาวนาน จนเริ่มหมดอายุตามสภาพกาลเวลา พ.ศ. 2533 ภาพหอระฆังแม่โจ้ 2477 ด้านล่างนี้ ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธนิต มะลิสุวรรณ สังเกตว่ามีการรักษาสภาพเดิม ด้วยการใช้กระดานแผ่นไม้ ตีค้ำยันเสาไว้
ปัจจุบัน นอกจากเหนือจากระฆังเดิมที่ถูกนำไปแขวนเป็นสัญลักษณ์ไว้บริเวณหน้าศาลเจ้าแม่ แม่โจ้ ซึ่งคนรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจหรือทราบถึงเรื่องราวอันเป็นตำนาน เวลาชีวิต วิถีแม่โจ้ ซึ่งเกิดกับนักเรียนแม่โจ้ในอดีตก็ได้ จึงมีศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่น 34 และรุ่น 55 ได้จัดสร้างหอระฆังจำลองรูปแบบ ที่มีความมั่นคงแข็งแรง เป็นหอระฆังคอนกรีตเสริมเหล็กรูปทรงเดิมของหอระฆังเก่าพ.ศ. 2479 โดยมีการสร้างหอระฆังดังนี้
1.หอระฆังอนุสรณ์แม่โจ้ 50 ปี หน้า “วิหารอุรวดี” ใกล้กับสำนักหอสมุด สร้างโดยศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 34 มอบให้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2527
2. หอระฆังอนุสรณ์แม่โจ้รุ่น 55 อยู่ในบริเวณใกล้เคียงหอระฆังเดิม (เมื่อปี พ.ศ. 2479) อันเป็นเอกลักษณ์ของแม่โจ้ในอดีตจัดสร้างและมอบให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้เมื่อปี พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่ใกล้ศาลเจ้าพ่อ แม่โจ้
แหล่งที่มา : บันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน (หน้า198)