พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับการแต่งงานของชนเผ่าปกาเกอะญอ

by

|

in

เมื่อเด็กหนุ่มสาวน้อยชนเผ่าปกาเกอะญอได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มตัวแล้ว สิ่งสวยงามที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็หนีไม่พ้นความรักใคร่ชอบพอกันตามธรรมชาติที่ถูกกำหนดไว้ หากหนุ่มสาวคู่ใดรักใคร่ชอบพอกันจนความรักเบ่งบาน เป็นที่รับรู้และยอมรับของผู้เป็นบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายแล้ว พิธีกรรมแห่งความรักของทั้งคู่ก็จะเริ่มดำเนินขึ้น เพื่อความถูกต้องตามกฎประเพณีและวัฒนธรรมของชนเผ่าที่สืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น โดยผู้เป็นบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงจะปรึกษาหารือกันแบบวงในเพื่อหาข้อสรุปคู่หนุ่มสาว เมื่อได้ข้อสรุปว่าหนุ่มสาวคู่นี้เหมาะสมแก่การคู่ครองแล้ว ก็จะนำไปสู่การพิจารณาคัดเลือกตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายในหมู่บ้าน ที่ได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากฝ่ายหญิง เพื่อเป็นตัวแทนไปพูดคุยเจรจาและขอคำมั่นสัญญาจากฝ่ายชาย เมื่อตัวแทนฝ่ายหญิงได้รับคำมั่นสัญญาจากฝ่ายชายแล้ว จะนำไปสู่กิจกรรมความรักอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างครอบครัวฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพื่อพูดคุยหารือรายละเอียดของงานแต่งงาน กำหนดวันหมั้นหมาย และนัดหมายวันแต่งงานของคู่หนุ่มสาว

ในวันหมั้นหมายนั้น ฝ่ายชายจะมีการส่งตัวแทนหรือเถ้าแก่ไปทำพิธีการหมั้นหมายฝ่ายหญิง ซึ่งในพิธีฝ่ายหญิงจะมีการนำไก่หนึ่งคู่มาทำอาหารเพื่อเลี้ยงรับรองตัวแทนหรือเถ้าแก่ฝ่ายชาย เพื่อแสดงเจตนารมณ์ถึงการให้เกียรติ ยามเช้าวันรุ่งขึ้นถัดไปสถานะคู่หนุ่มสาวจะเปลี่ยนไปเป็นเจ้าบ่าวและเจ้าสาว โดยมีกำหนดการนัดหมายเจ้าบ่าว ญาติพี่น้อง และมิตรสหาย เดินทางไปพบเจ้าสาวเพื่อดำเนินการทำพิธีแต่งงานให้ถูกต้องตามกฎประเพณีและวัฒนธรรมต่อไป ซึ่งการแต่งงาน “ดึเทาะโค่เบล” หมูตัวแรกที่ถูกล้มเพื่อทำพิธีสำคัญในงานแต่งงานนั้น ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “เทาะเตาะ” จะถูกนำเนื้อและอวัยวะสำคัญเป็นเครื่องบูชาเทพยดาเพื่ออวยพรเจ้าบ่าว เจ้าสาว และผู้เข้าร่วมงานทุกคน พอถึงกำหนดเดินทางไปบ้านเจ้าสาว เถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำพิธีรินหัวเหล้า “เดะซิโข่” เพื่ออธิษฐานและขอพรให้การเดินทางอย่างราบรื่น เมื่อเสร็จพิธีแล้วทั้งคณะก็ออกเดินทางโดยพร้อมเพรียงกันที่จุดนัดหมาย พอถึงบ้านเจ้าสาวแล้วจะมีเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวและชาวบ้านที่มาคอยต้อนรับที่จุดนัดหมายที่เตรียมไว้ล่วงหน้า เพื่อทำพิธีดื่มหัวเหล้า “เอาะซิโข่” หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ตัวเจ้าบ่าวและญาติพี่น้องจะขึ้นไปบนบ้านเจ้าสาว เพื่อการเลี้ยงสังสรรค์แสดงความยินดีกันทั้งสองฝ่าย แสดงถึงความรักและความสามัคคี

ในงานเลี้ยงสังสรรค์จะมีการดื่มเหล้าที่ต้มเองพร้อมกับขับลำนำโต้ตอบกัน โดยภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “พอกวาธา” ระหว่างงานสังสรรค์ ญาติพี่น้องฝ่ายเจ้าสาวและชาวบ้านจะช่วยกันล้มหมูเพื่อทำอาหารสำหรับเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานแสดงความยินดีทุกคน หลังจากทำอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะดำเนินการทำพิธีถวายอาหารเทพยดาเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ชาวบ้านเคารพบูชาสืบทอดกันมายาวนาน หลังจากเสร็จพิธีแล้วผู้มาร่วมงานจะรับประทานอาหารโดยพร้อมเพรียงกัน

ผู้เขียน ณรงณ์ ณงค์ชัยปัญญา
ถ่ายภาพ ธนกฤต นันทวิเชียรฤทธิ์