พิธีปู่จาข้าวลดเคราะห์

by

|

in

พิธีปู่จาข้าวลดเคราะห์ (ข้อมูลอ้างอิงจากหมู่บ้านศรีดอนชัย หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน)

    “ปู่จา” เป็นภาษาเมืองล้านนา แปลเป็นภาษากลางว่า “บูชา” คือ การแสดงความเคารพด้วยเครื่องสักการะ ยกย่องเทิดทูนด้วยความนับถือหรือเลื่อมใส “ข้าวลดเคราะห์” คือ การทำพิธีทางความเชื่อโดยการใช้ข้าวเพื่อทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือลดเคราะห์ให้หายไป พิธีปู่จาข้าวลดเคราะห์ ในโบราณชาวล้านนาเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมการบูชาข้าวเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า และขอพรจากพระพุทธเจ้าพึงเอาบุญคุณแก้ว 3 ประการ (พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์) อันมีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน และอีกนัยหนึ่งก็คือการสะเดาะเคราะห์ ส่งเสริมดวงชะตาให้ดีขึ้นมักรวมไปถึงการต่ออายุ หรือแก้ไขสิ่งเลวร้ายจากหนักกลายเป็นเบา จากเบากลายเป็นหาย จากหายกลายเป็นดี และเป็นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งในการกระตุ้นทางจิตใจทำให้คนที่ทำพิธีเกิดจิตใจที่เข้มแข็ง จึงส่งผลให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์เป็นปกติ การเริ่มทำบุญตั้งแต่ต้นปีก็จะสามารถเพิ่มดวง เสริมสง่าราศีให้ชีวิตมีความสุขและประสบความสำเร็จตลอดทั้งปีและตลอดไป

      ปัจจุบันพิธีปู่จาข้าวลดเคราะห์ จะจัดขึ้นทุกในวันที่ 16 หรือ 17 เดือนเมษายนของทุกปี (วันปากปี) ในตอนเช้าตรู่ ช่วงเวลา 6-7 โมงเช้า ชาวบ้านหรือคณะศรัทธาจะจัดเตรียมข้าวของเพื่อมาทำพิธีลดเคราะห์ โดยถือว่าวันปากปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา ดังนั้นเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ จึงมีการจัดพิธีกรรมที่จะปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป และขอพรให้เกิดสิ่งดี ๆ ในปีใหม่ที่จะมาถึงนี้

 

วัสดุ/อุปกรณ์/วัตถุดิบ ในการประกอบพิธีกรรม

1. สะตวง จำนวน 1 ใบ (ปัจจุบันสามารถใช้วัสดุที่สะดวกและหาได้ง่าย ได้แก่ กล่องกระดาษ เป็นต้น) ในสะตวงประกอบด้วย ใบโชค (ใบตะคร้อ) ใบขนุน ใบแก้ว (ต้นดอกแก้ว) ใบมะเขือ ใบมะแว้ง ใบหวีด ใบเดื่อเกลี้ยง และใบเดื่อป่อง ทั้งหมดอย่างละ 9 ใบ ข้าวนึ่งสุก 9 ก้อน ชิ้นกล้วย 9 ชิ้น อ้อย 9 ชิ้น ธูป 9 ดอก บุหรี่ 9 มวน หมาก 9 คำ ดอกโชค (ดอกตะคร้อ) 9 ดอก ดอกไม้อะไรก็ได้ที่หาได้ตามท้องถิ่น 9 ดอก ผลไม้อะไรก็ได้ 9 ชิ้น ข้าวต้มมัด 9 ชิ้น และเมี่ยง 9 คำ แคบหมู 9 ชิ้น ข้าวตอก 9 เม็ด (สามารถเลือกวัตถุดิบใส่เท่าที่มีอยู่ใกล้ตัวและหาง่ายไม่ลำบาก บางอย่างไม่มีก็ใช้อย่างอื่นทดแทนได้ เช่น แคบหมู ใช้ข้าวแต๋นแทนได้)

 

2. ตะกร้าหรือถาดสำหรับใส่เสื้อผ้าจำนวน 1-2 ใบ เสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัว คนละ 1 ตัว

 

3. ขี้สาย จำนวนตามสมาชิกในครอบครัว บางบ้านเพิ่มอีก 2 เส้นสำหรับสัตว์เลี้ยง (ทำจากฝ้ายสายสิญจน์ ขนาดยาวเท่ากับ 1 วาของสมาชิกในบ้านแต่ละคน วัดจากปลายนิ้วกลางข้างซ้ายจนถึงปลายสุดของนิ้วกลางข้างขวาหรือวัดจากมือซ้ายจนถึงไหล่ข้างขวาก็ได้ แล้วนำไปแช่ในน้ำมันมะกอก/น้ำมันมะพร้าว/น้ำพืชไว้ ๑ คืน)

 

4. เทียน ไม้ขีด/ไฟแช็ค และไม้สำหรับพาดขี้สาย ควรเป็นไม้เนื้อดิบเพราะจะไม่ไหม้ไฟในระหว่างเผาขี้สาย

 

 

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

1. เช้าวันที่ 16 หรือ 17 เมษายน เวลาประมาณ 06.00 หรือ 07.00 น. นำเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องทำพิธีไปวางไว้หน้าพระประธานในวิหารวัด โดยนำสะตวงมาวางไว้บนเสื้อผ้าที่จะทำพิธี และออกไปนอกวิหาร นำไม้ไปพาดกับกิ่งไม้ในบริเวณวัด คลี่ขี้สายออกเป็นเส้นพาดกับไม้ ให้ห่างกันประมาณ 3-5 นิ้ว กันไฟไหม้ขี้สายอื่น ๆ)

 

2. นิมนต์พระสงฆ์จำนวน 1 รูป มัคทายก (ปู่จ๋าน) นำกล่าวสวดมนต์ไหว้พระ และอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล มัคทายก (ปู่จ๋าน) กล่าวคำบูชาข้าวลดเคราะห์ (ในระหว่างที่กล่าวคำบูชา ชาวบ้าน/ผู้ร่วมทำพิธีจะออกไปเผาขี้สาย)

 

3. จุดเทียนเพื่อนำไปจุดเผาขี้สายที่นำไปพาดไม้ไว้ โดยจุดจากปลายขี้สาย เพื่อให้ไฟไหม้ขึ้นไปทางด้านบน และให้เฝ้าอยู่จนกระทั่งเผาขี้สายทุกเส้นให้หมด (นับว่าเป็นการเผาเคราะห์ร้าย เสนียดจัญไรให้หมดไปจากตัว) เสร็จแล้วกลับไปบนวิหารเพื่อทำพิธีต่อ

 

4. จุดเทียนถวายเป็นพุทธบูชา กล่าวบทสวดมนต์ไหว้พระ พระสงฆ์พรมน้ำมนต์ใส่เสื้อผ้าและผู้ร่วมพิธี นับว่าเป็นการขับไล่เคราะห์ร้ายให้หมดไป พระสงฆ์ให้พร เป็นอันเสร็จพิธีของสงฆ์

 

5. ชาวบ้าน/ผู้ร่วมทำพิธีนำเสื้อผ้าออกไปนอกบริเวณวัด ทำการสะบัดเสื้อผ้าให้หมดทุกชิ้น เพื่อให้เคราะห์ร้ายที่ยังติดมากับเสื้อผ้าให้ออกไปให้หมด ก่อนนำกลับบ้าน และนำสะตวงไปกองรวม ๆ กันในที่สำหรับเผาทิ้ง

 

 

คำกล่าวปู่จาข้าวลดเคราะห์

          กล่าว นะโน 3 หนก่อน แล้วว่า โยสันนิสินโน วะระโพธิ มูลเลฯ ถึงตังปะนะมะมิสังฆัง สาธุ โอก๋าสะ ภันเต๋ ข้าแด่พระติรัตนตรั๋ยผ่านแล้วพระเจ้าแก้วตังสามประก๋าร มีศรีสัพพัญญูเจ้า เป็นเก๊าเป็นประธาน อัฏฐะอรหันต๋าสาวะกะเจ้าตัง 8 พระองค์ ต๋นอันทรงกุณอะนันต๋า อะปะริมาณาหาตี่สุดบ่ได้ ส่วนว่าในอัชะในวันนี้ก็หากเป็นวันดีศรีสุภะมังคละอันผาเสริฐ ล้ำเลิศยิ่งกว่าวันและยามตังหลาย บัดนี้หมายมีมูลละศรัทธา อันเป๋นเจ้าเสื้อและเจ้าผ้า ก็มาเล็งหันยังเคราะห์ปี๋ เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์ 30 อยู่ปายหน้า เคราะห์ 50 อยู่ปายหลัง อันจักมาถูกต้องป๊องลักคณา ยังวรสันตะระแห่งต๋นตั๋วมูลศรัทธา เมื่อหลับเมื่อตื่น เมื่อยินเมื่อเตียว เมื่อวันและยามตังมวล จิ่งจักได้ถะหมวลตกแต่งน้อมนำมายังเข้าปู๋จา และผะตี๊ดเตียนสีสาย กิลานะปัจจั๋ย มาถะปะนาตั้งไว้ ในตี้ใกล้สะมุกขีต๋าฐานะปัตต๋าแห่งพระไถรรัตนะแก้วเจ้า 3 ประก๋าร เปื่อว่าจักขอห้ามเสียยังอุปัททะวะกั๋งวลอนอนตราย ตังมวลนั้นแต๊ะหลี ด้วยดังผู้ข้าจักกล่าวต๋ามบาทบาลีว่า อิมานิ โอทะนะปิ๋ณฑิสัตตะโภจะนะสะหะมะธุเป๋หิ ปุคคะละตั๋ณฑุละสะหะปู๋จุ๊ปะกะระณะตานัง สักกัจจั๋งเตมะฯ ทุติยัมปิฯ ตะติยัมปิฯ โอทะนะปิ๋ณฑิสัตตะโภชนะ สะหะมะ ธุเปหิ ปุคคะละตั๋นฑุละ สะหะปู๋จุปะกะระกะณะตานัง สักกัจจั๋งเตมะ ชะยะ สิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตถิ ภาคะยัง สุขัง พะลัง สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ โภคัง วุฑฒีจะ ยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะ สิทธี ภะวันตุเตฯ เอเอนะ สัจเจนะ สัพพะตา ปาปะคะหะ วินาสันตุ สัพพะอุปัททะวะอันตรายะ วินาสันตุ สัพพะโรคาวินาสันตุ เอเต๋นะ สัจเจ๋นะ สัพพะสิทธินาสันตุ เอเต๋นะ สัจจะวัชเชนะ โหนตุจัยยะมังคะลัง ดั่งนี้ก็เป๋นก๋าละอันกวรงาม ยามดีจื่นจ๊อย ผู้ข้าน้อยกล่าวแล้วยื่นยอถวาย ขออังคาสราธนายังพระไถรรัตนะแก้วเจ้าตัง 3 ประก๋าร จุ่งมีมหากรุณาปะปะฏิคคะหะรับเอายังเข้าปู๋จาและผะตี้ดเตียนสีสาย คิลานะปัจจั๋ย ไตยวัตถุปู๋ปะจุ๋กรณะบุญเดิม เปื่อว่าจักแผ่ผละนาบุญอันนี้ไปหา ยังอัฏฐะปาปะเคราะห์เจ้าตัง 8 อันผัดแวดห้อง 12 รวายศีมีต้นว่า 1 2 3 4 5 6 7 ราหูเกตุจตุรงคะตัง 9 และนักขัตตะฤกษ์เจ้า 27 ตั๋ว และตั๋วใดจักเสด็จมาถูกต้อง ป๊องลักคณะจาต๋าแห่งต๋นตั๋วมูลศรัทธา ตังจั๊นต้นและจั๊นนอกขอกกล๋างและปล๋าย และตั๋วใดจักมาเป๋นป๋าปะเคราะห์ จุ่งจักนำมายังโจ้กปี๋ โจ้คเดือนโจ้คลาภ ผาบแป๊ข้าเสิ้กสัตรู๋หมู่มาร มีจัยยะลาภะสักก๋ารอันถูกเนื้อเปิงใจ๋ ไหลหลั่งถั่งตกมาผากฎจดเจื้อ ตกส่องหน้าตันต๋า แห่งต๋นตั๋วมูลศรัทธาหื้อได้ป๊นจากเสียยังภัยยะสัปป๊ะอุปัทวะกั๋งวลอนตรายเสียปายในต๋นตั๋ว มีโรคาภัยยะปายนอกตั๋วต๋นปั๋ญจะภัยยะ 5 ประก๋ารมีต้นว่า ราจะภัย โจ๋ระภัย มนุสสะภัย อมนุสสะภัย อัคคีภัย อุทกภัยและภัยยะ อุปัททะวะกั๋งวลอนตรายตังหลาย อันจักมาถูกต้องป๋องยังวรต๋นตั๋วมูลละศรัทธานั้น จุ่งจักหื้อร่ำงับกลับหายเป๋นดั่งน้ำคว้ำตกหาย จากพรากใบบัวใบบอนนั้นจุ่งจักมีเตี้ยงแต๊ดีหลี ตั้งแรกแต่ก๋าละนี้ไปปาหน้า จุ่งนักหื้อมูลละศรัทธาตังหลาย ประกอบด้วยฑีฆา อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภานะ อโรคยะมีธรรมจ่ำเริญยังวรพุทธสาสะนาไปไจ้ ๆ อย่าได้กลาดได้กลาแต๊ดีหลี ด้วยมีแต๊โรกาวะจระเจ้าตังหลายฝูงเป๋นมาแล้ว ในฑีฆาก๋าละป๋างก่อนนั้น จิ่งได้ตกแต่งพร้อมน้อมนำมายังเข้าปู๋จาและผะตี้ดลำเตียนและสีสาย มาถะปะนาถวายเป๋นตานแก่พระแก้วเจ้า 3 ประก๋าร หันมามีสภาวะป๋านสันนี้ก็จุ่งจักหื้อมูลละศรัทธาตังหลายป๊นเสียจากภัยยะอนตรายหื้อพร่ำเป๋นดั่งโยกาวะจะระเจ้าตังหลาย ฝูงเป๋นมาแล้วในฑีฆาก๋าละเมื่อก่อนนั้นแต๊ดีหลี กุสละนาบุญภิสันตะรวายษีเยื่องนี้มีน้อยมาก มูลละศรัทธาหากได้กระทำแล้วซ้ำจัดอุติสะแผ่ผละนาบุญไปหา ยังเตวบุตรเทวดาตังหลายมวลหมู่ อันหากอยู่รักษา ยังวรพุทธสาสนาถานะตี้นี้เป๋นเก๊า และเตวดาอันอยู่รักษายังขอบขันธสีมาบ้านเมืองเหมืองฝาย ต๋นรักษาเนื้อและรักษาตั๋วต๋นไปก่อนหน้าและต๋ามหลัง กือว่าภุมมะเตวดา รุกขะเตวดา อาก๋าสะเตวดา พระยาอินทร์ พระยาพรหม พระยายมราช และต๊าวจตุโลกบาลตังสี่ และนางธรณีศรีคุตตะอามาตย์ ต๋นจ้ำบุญและจ๋ำบาป ต๋นจ๋ำน้ำหยาดหมายตาน จุ่งมาขีดเอารายหมายเอาจื่อใส่ไว้ยังสุวัณณะปัตต๋าหลายเงินหลาบคำ สนำจ๋ำจื่อไว้เมื่อใดมูลละศรัทธาม้างปั๋ญจขันธปายหน้าแต่มรณาธรรม จุ่มจักนำเอายังวรขันธสันตะระแห่งต๋นมูลละศรัทธาหื้อได้ไปรอด หว่ายหน้าจอดเวียงแก้วยอดเนรปาน นั้นจุ่งมีเตี้ยงแต๊ดีหลี แล้วกล่าวยันทุน (3 รอบ) หลบ สักกัตว๋า (3 รอบ) แล้วชะยะ สิทธิฯ สัพพี ก็จบแลฯ

 

หมายเหตุ : * วัตถุดิบหรือวัสดุที่ในสะตวงของพิธีกรรมนี้จะไม่ใส่ เครื่องแกงส้ม (เช่น ยอดมะขาม เป็นต้น), แกงหวาน (เช่น ผักหวาน เป็นต้น) แต่จะใส่ในพิธีกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ส่งเคราะห์ ส่งผี ฯลฯ เป็นต้น

** ข้อมูลอ้างอิงมาจากชาวบ้านและมัคทายกในหมู่บ้านศรีดอนชัย หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

***กล่าว “ยันทุน” คือ บทคาถาส่ง เป็นคาถาฝันดี เคล็ดแก้ฝันร้าย หากคุณฝันร้ายหรือฝันไม่เป็นมงคล ให้ท่องหรือภาวนาพระคาถายันทุนนี้ แล้วเรื่องร้ายๆ จะกลับกลายเป็นดีหรือเรื่องร้ายๆ จะบรรเทาเบาบางลง ใช้สำหรับสวดภาวนาป้องกันภัยอันตรายต่างๆ   

คาถายันทุน

(ตั้งนะโม 3 จบ) ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุฯ

****กล่าว “สักกัตว๋า” คือ บทคาถาส่ง ระงับโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งจะอายุยืนยาว ถ้าผู้ใดสวดเจริญอยู่เป็นนิจ นอกจากจะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังแคล้วคลาดจากภัยต่าง ๆ

คาถาสักกัตว๋า

สักกัตวา พุทธะรัตตะนัง โอสะถัง อุตตะมังวะรัง

หิตัง เทวะมะนุสสานัง พุทธะเตเชนะ

โสตถินา นัสสันตุ ปัททะวา สัพเพ ทุกขา วูปะสะเมนตุ เม

สักกัตวา ธัมมะรัตตะนัง โอสะถัง อุตตะมังวะรัง

ปะริฬาหูปะสะมะนัง ธัมมะเตเชนะ โสตถินา

นัสสันตุ ปัททะวา สัพเพ ภะยา วูปะสะเมนตุ เม

 

สักกัตวา สังฆะรัตตะนัง โอสะถัง อุตตะมังวะรัง

อาหุเนยยัง ปาหุเนยยัง สังฆะเตเชนะโสตถินา

นัสสันตุ ปัททะวา สัพเพ โรคา วูปะสะเมนตุ เม

 

 

 

ข้อมูล : พระใบฎีกาพงษ์ศักดิ์ วชิรปญฺโญ (สุทำแปง) (เจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัย หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน)

            นายประดิษฐิ์  สมบูรณ์ชัย (มัคทายก หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน)

เรียบเรียง : อริสมันต์  แสนอุโมงค์

เผยแพร่ : จดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้