หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา (รุ่นที่ 10) และระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จากนั้นศึกษาต่อในต่างประเทศ สำเร็จการศึกษา จากโรงเรียนเตรียมทหารคิงส์ ประเทศออสเตรเลีย ระดับปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมลรัฐยูท่า และระดับปริญญาโท ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง (Brigham Young University) ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ได้ศึกษาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ ไทย-ญี่ปุ่น เปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยโซเฟีย (Sophia University) ประเทศญี่ปุ่น และหลักสูตรนักปกครองชั้นสูง จากวิทยาลัยมหาดไทย รวมทั้ง ผ่านหลักสูตรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 2550
ด้านการทำงาน หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เริ่มต้นเข้ารับราชการ ในกองทัพบก ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดส่วนการศึกษา กองวิชากฎหมาย และสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ชั้นยศร้อยเอก จากนั้น ได้โอนย้ายมารับราชการ สังกัดกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ พุทธศักราช 2541 ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนนโยบายการเมืองการปกครองและการบริหาร สำนักนโยบาย และแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2542 หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2546 ได้รับการ แต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พุทธศักราช 2547 รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พุทธศักราช 2550 รองผู้ว่าราชการ จังหวัดบุรีรัมย์ และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคง สำนักงานปลัดกระทรวง มหาดไทย พุทธศักราช 2552 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการ จังหวัดนครปฐม พุทธศักราช 2557 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พุทธศักราช 2555 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ดังตัวอย่างผลงานด้านวิชาการ ท่านได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษในสถาบัน การศึกษาระดับสูงหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมยุทธศึกษาทหารบก กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ วิทยาลัยมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่าย ตุลาการศาลยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยพะเยา และหอสมุดสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ส่วนในด้านการบริหาร ท่านเป็นแบบอย่างของข้าราชการที่ดี ดังจะเห็นได้จากการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยคุณธรรมและ จริยธรรม ท่านมีความสามารถในการครองตน ครองคนและครองงาน จนเป็นที่รักของประชาชนในพื้นที่ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการจัดการบ้านเมืองให้มี ความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งสงบร่มเย็น และมีความสามัคคี กลมเกลียวกัน ดังจะเห็นได้จากโครงการชุมชนน่าอยู่หน้าบ้านน่ามอง ท่านริเริ่มให้มีการปรับปรุงพื้นที่และบริเวณของศาลากลางจังหวัดเพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน นอกจากนี้ ได้ดำเนินการเสนอโครงการ “เชียงใหม่ : นครที่เป็นที่สุด แห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554
จากการปฏิบัติราชการจนเป็นที่ประจักษ์ ดังกล่าว ท่านจึงได้รับ การพิจารณาคัดเลือกให้เป็น “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น” ของกระทรวงมหาดไทย เมื่อพุทธศักราช 2532 โดยสอบเลื่อนระดับ 6 ได้เป็นอันดับที่ 1 ของกระทรวง มหาดไทยในปีนั้น รางวัล “ศิษย์เก่าดีเด่น” พุทธศักราช 2549 จากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) และ “ศิษย์เก่าดีเด่น เนื่องในวัน ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี” พุทธศักราช 2549 รางวัล “คนดี ศรีสยาม”
พุทธศักราช 2549 จากสหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ ท่านได้รับคัดเลือก ให้เป็น “ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” พุทธศักราช 2549 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “พ่อตัวอย่างแห่งชาติ” พุทธศักราช 2550 รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ครั้งที่ 23 ประจำปี 2552-2553 ได้รับรางวัล “ครุฑทองคำ” ผู้บริหารราชการพลเรือน ดีเด่น ประจำปี 2553-2554 ของสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลเกียรติยศ โล่เชิดชูเกียรติ โดยยกย่องให้เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตน ชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประจำปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
โดยที่ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดี แก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม และเป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งทำคุณประโยชน์สำคัญ ให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติ เหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
หมายเหตุ: ข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 38 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2559