พลตรีพัฒนา ศิริสาคร สําเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรอาชีวศึกษาชั้นสูง โรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ เมื่อปีพุทธศักราช 2499 (แม่โจ้รุ่นที่ 19) และได้รับปริญญาเศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2502 จากนั้นจึงเริ่มเข้ารับราชการทหาร ได้รับพระราชทานยศร้อยตรี เมื่อปีพุทธศักราช 2504 ระหว่างรับราชการทหารได้ศึกษาต่อในระดับสูง ได้รับปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยอาลิกา ประเทศอินเดีย เมื่อปีพุทธศักราช 2510 รวมทั้งได้ศึกษาเพิ่มเติมในวิทยาลัยการทัพบก ชุดที่ 33/31
พลตรีพัฒนา ศิริสาคร เป็นผู้มีผลงานดีเด่นโดยเฉพาะวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน เป็นผู้บรรยายพิเศษในโรงเรียนเหล่าทหาร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง ระหว่างศึกษาในวิทยาลัยการทัพบก ได้เสนอวิทยานิพนธ์ เรื่อง บทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ได้รับคัดเลือกเป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่น และทางวิทยาลัยการทัพบกได้จัดพิมพ์เผยแพร่ ในส่วนผลงานอาชีพได้รับความสําเร็จอันนับเป็นแบบอย่างอันดี โดยได้รับการเลื่อนยศและตําแหน่งเป็นลําดับ งานสําคัญได้แก่ หัวหน้าฝ่ายการเงิน กรมทหารราบ ที่ 21 รักษาพระองค์ อาจารย์โรงเรียนทหารการเงิน ผู้ช่วยทูตทหารบกไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหัฐอเมริกา ผู้ช่วยเจ้ากรมการเงินทหารบก ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และได้รับพระราชทานยศพลตรี ต่อมาเมื่อเกษียณอายุราชการยังได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และได้เริ่มทํางานด้านการเมือง โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรี ตลอดจนได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองพระประแดง อันเป็นถิ่นที่อาศัย
ปัจจุบันพลตรีพัฒนา ศิริสาคร ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพราะได้นําเอาประสบการณ์ที่สั่งสมมาทํางานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง โดยเป็น กรรมการและที่ปรึกษาให้ชุมชนและสมาคมต่าง ๆ รวมทั้งยังได้รับนับถือเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน ทั้งด้านการศึกษาและการปฏิบัติหน้าที่การงาน ได้รับเชิญไปบรรยายในโรงเรียนต่าง ๆ ในเขตอําเภอ พระประแดงอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังได้ทําการกสิกรรมในรูปไร่นาสวนผสม และได้เผยแพร่วิธีการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่ทันสมัยให้เกษตรกรด้วยกัน
โดยที่พลตรีพัฒนา ศิริสาคร เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิดีเด่นด้านการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน และได้นําศักยภาพต่าง ๆ มาปฏิบัติหน้าที่รับราชการทหารกระทั่งได้รับความสําเร็จสูงสุดทางการงานอันนับเป็นแบบอย่างชีวิตอันดี ตลอดจนเป็นผู้นําทางด้านภูมิปัญญาของท้องถิ่นและการทํางานเพื่อสาธารณชน นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติยศเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้สืบไป