วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร ประจำปี 2566
นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ชั้นปีที่ 1 – 4 จากโรงเรียนเจริญชัยวิทยา จังหวัดชัยนาท และชั้นปีที่ 5 – 7 จากโรงเรียนหันคา จังหวัดชัยนาท ด้านการทำงาน นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ เริ่มจากการฝึกงาน ณ โรงกลึงเถ้าแก่บักโอ๋ วงเวียนใหญ่ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เมื่อพุทธศักราช 2517 – 2519 ตำแหน่งช่างกลึง ณ โรงกลึงเกษตรยนต์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เมื่อพุทธศักราช 2520 – 2537ตำแหน่งหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถเกษตรยนต์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เมื่อพุทธศักราช 2538 – 2565 และในปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท สามารถเกษตรยนต์ จำกัด
ด้านผลงานทางวิชาการ นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ เป็นผู้ที่มีความสามารถในการวิจัย ออกแบบ สร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับรถตัดอ้อย รวมถึงผลิตรถตัดอ้อย จำนวนหลายรุ่น และเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทย ที่ได้จำหน่ายรถตัดอ้อยไปยังประเทศต่าง ๆ ภายใต้เครื่องหมายการค้า SMKY เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐ สังคมนิยมเวียดนาม โดยมีผลงานที่ได้รับอนุสิทธิบัตร คือ “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ ชื่อ “กระบะรถตัดอ้อยที่มีกลไก เกลี่ยและลำเลียงท่อนอ้อย” “กระบะบรรจุท่อนอ้อยที่มีรางพับและสายพานลำเลียง ท่อนอ้อยสำหรับรถตัดอ้อย” “เครื่องคัดแยกสิ่งปะปน” และรถตัดอ้อย รุ่น SM 200C ของบริษัทฯ ได้รับการออกแบบให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีกลไกการทำงานที่สะดวกในการดูแลและบำรุงรักษา รวมทั้งเหมาะกับการใช้งานในลักษณะต่าง ๆ ทั้งสภาพพื้นที่ปลูกอ้อย และลักษณะต้นอ้อย รวมถึงลักษณะการใช้งานของชาวไร่อ้อย ทำให้รถตัดอ้อย ของบริษัทเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และยังได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม 2773-2560 รถตัดอ้อย มอก.4728-1/2779 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรถตัดอ้อยของบริษัท ในประเทศไทยรายแรกที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานฯ ดังกล่าว
นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ อันเกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท และได้ฝ่าฟันกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ โดยเริ่มต้นจากการฝึกงานในโรงกลึง จนสามารถก่อตั้งบริษัทของตนเองในระดับอุตสาหกรรม SMEs ซึ่งได้ลงทุนซื้อเครื่องจักรกลสำหรับการผลิตที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงอันทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลมากมาย เช่น โล่เชิดชูเกียรติ ตามโครงการร่วมมือ และพัฒนากำลังคนอาชีวะ ประจำพุทธศักราช 2550 จากสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จังหวัดชัยนาท โล่เกียรติคุณในการสนับสนุนการจัดงาน “ประชาร่วมใจต้านภัยอาชญากรรม” ประจำพุทธศักราช 2552 จากคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท รางวัลที่ 1 “กลไกชุดเก็บเกี่ยวในรถตัดอ้อย” ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำพุทธศักราช 2553 จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ได้รับใบประกาศเกียรติคุณเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้ที่มีผลงาน ในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์จากวุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 ได้รับรางวัล นักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำพุทธศักราช 2556 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระราชูปถัมภ์ และรางวัลชนะเลิศ สาขาการเกษตรและเกษตรแปรรูป ในการประกวดรางวัลเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม ประจำพุทธศักราช 2560 จากกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีร่วมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย
นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ ได้เผยแพร่ผลงาน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน ในงานนิทรรศการแสดงนวัตกรรมไทยและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรชนิดต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น งานวันเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย หรือเทคโนมาร์ท-อินโนมาร์ท (TechnoMart-InnoMart) 2012 จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พุทธศักราช 2555 ณ อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี งาน Seminar on Technology and Technique in Cane Industry : 23 July 2014, Sam San, Thanh Hoa Ngay, Vietnam งาน Sugarex Indonesia 2022: 23-24 November 2022, Surabaya, Indo nesia นอกจากนี้ ยังได้ตีพิมพ์ลงนิตยสาร SUGAR ASIA ในอีกหลายฉบับอย่างต่อเนื่อง เช่น Vol. 08 No. 29 April – June 2022: TH/EN, p. 38, Vol. 08 No . 30 July – September 2022 : TH/EN, p. 4, Vol. 08 No. 31 October – December 2022: TH/EN, p. 24 – 27. no. Vol. 09 No. 33 April – June 2023: TH/EN, p. 16 – 19.
โดยที่ นายสามารถ ลี้ธีระนานนท์ เป็นผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ เป็นวิศวกร นักคิด และนักประดิษฐ์ที่พัฒนาและปรับปรุงรถตัดอ้อย โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นฐานในการพัฒนาจนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน รวมทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญ ให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มได้รับการยอมรับ จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ นับเป็นแบบอย่างอันดีแก่บุคคลทั่วไป จึงนับว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติ และคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
ที่มา : สูจิบัตรพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ครั้งที่ 46 ประจำปีการศึกษา 2565 – 2566 วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
ภาพ : ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้