ที่มาและความสำคัญ

จุลินทรีย์มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน ประโยชน์ของจุลินทรีย์นอกเหนือจากการใช้ในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มแล้ว แต่ยังมีบทบาทสำคัญอย่างมากในด้านการเกษตร จึงเรียกว่า “จุลินทรีย์เกษตร (Agricultural microbial)” โดยอาจจะนิยามคำว่า “จุลินทรีย์เกษตร” อย่างง่ายๆว่าเป็น จุลินทรีย์ที่อยู่ในกลุ่ม แอคติโนมัยซีส (Actinomyces) แบคทีเรีย (Bacteria) ยีตส์ (Yeast) รา (Fungi) และจุลสาหร่าย (Microalgae และ Blue green algae) ที่เติมลงไปในดิน แล้วช่วยทำให้ดินเกิดสภาวะที่เหมาะสมในการเพาะปลูกพืช ทำให้พืชแข็งแรงเจริญเติบโตดี จุลินทรีย์บางสายพันธุ์สามารถใช้คลุกหรือแช่เมล็ดพันธุ์ (seed treatment) เพื่อป้องกันโรคพืชและทำให้เมล็ดพันธุ์มีอัตราการงอกที่สูงได้ และพบว่าจุลินทรีย์กลุ่มรา สามารถช่วยกำจัดแมลงและหนอนศัตรูพืชได้อีกด้วย ดังนั้นสามารถเรียกจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เหล่านี้ว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์ (Microbial Agricultural Inoculant) หรือเรียกว่า ปุ๋ยชีวภาพ (Biofertilizer) สำหรับ สารชีวภัณฑ์ (Bio-formulation) เป็นสารสำคัญ ที่เป็นผลได้จากกระบวนการหมัก สกัดหรือแยก จากวัตถุดิบธรรมชาติ (เช่น ผัก ผลไม้ สมุนไพร เศษปลา เป็นต้น) ตัวอย่างเช่น ฮอร์โมนพืช กรดอะมิโน สารสกัดจากพืช น้ำส้มควันไม้ ปุ๋ยไส้เดือน ซึ่งสารชีวภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของพืชให้มีความแข็งแรง เพิ่มผลผลิตให้กับพืช และยังสามารถป้องแมลงศัตรูพืช (เช่น น้ำส้มควันไม้ สารสกัดจากสมุนไพร เป็นต้น) ได้อีกด้วย

ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้ปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์เพิ่มสูงมากขึ้น สาเหตุเนื่องมาจากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช การใช้เคมีภัณฑ์เกษตรเหล่านี้ เกษตรกรใช้กันมากว่า 50 ปีแล้ว จึงมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่แสดงผลกระทบและความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นทั่วโลกจึงพยายามที่จะลด ละ และเลิก การใช้เคมีภัณฑ์เกษตรในการเพาะปลูกพืช โดยจะหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น เกษตรกรจึงควรที่จะปรับแนวทางการผลิต โดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพแทนการใช้เคมีภัณฑ์เกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ได้ดำเนินการพัฒนา“ศูนย์เรียนรู้และส่งเสริมการผลิต การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ ในการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการพึ่งพาเคมีภัณฑ์เกษตร” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัวเชื้อจุลินทรีย์และสารชีวภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง สำหรับเป็นปัจจัยการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์
  2. เพื่อพัฒนาพื้นที่ ที่จะเป็นพื้นที่วิจัยทดสอบประสิทธิภาพหัวเชื้อจุลินทรีย์และสารชีวภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นก่อนนำไปเผยแพร่สู่เกษตรกร
  3. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตและการใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์และสารชีวภัณฑ์เกษตรให้กับเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจ

กิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ ได้แก่

  1. หน่วยปุ๋ยไส้เดือนดิน (สูตรศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้)
  2. หน่วยปุ๋ยหมักไม่กลับกอง (สูตรวิศวกรรมแม่โจ้)
  3. หน่วยแหนแดง
  4. หน่วยหัวเชื้อจุลินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ
  5. แปลงทดลอง ทดสอบปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์
  6. ห้องปฏิบัติการปุ๋ยชีวภาพและสารชีวภัณฑ์

ผู้รับผิดชอบ

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตะวัน ฉัตรสูงเนิน  อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
2. นายธวัชชัย ชัยธวัชวิถี  นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
3. นางสาวสุกัญญา ลางคุลานนท์  นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ

แหล่งที่มา : http://www.phrae.mju.ac.th/ext/organic-agriculture/
VDO : https://youtu.be/n4imXcfNSp4