แหนแดง เป็นพรรณไม้น้ำชนิดลอยบนผิวน้ำ ลักษณะทั่วไปประกอบด้วยลำต้น ราก และ ใบแหนแดงมีลักษณะพิเศษ คือ ใบบน เป็นใบที่มีโพรงใบ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Anabaena azollae) ในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่อาศัยในโพรงใบของแหนแดงสามารถตรึงไนโตรเจนได้ แล้วทำการเปลี่ยนไนโตรเจนให้เป็นแอมโมเนียม ซึ่งแหนแดงสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเติบโตได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนแหนแดงได้ถึง 2 เท่า ภายใน 3-5 วัน
แหนแดงสำหรับปุ๋ยในนาข้าว ใบแหนแดงมีโพรงขนาดเล็กที่เป็นที่อาศัยของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน Anabana azollae ที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ด้วยภายในเซลล์จะมีเอนไซม์ Nitrogenase ซึ่งใช้เหล็ก และโมลิดินั่มสำหรับเป็นโคแฟคเตอร์ในปฏิกิริยา พร้อมกับรีดิวซ์ก๊าซไนโตรเจนให้เป็นแอมโมเนีย และเก็บไว้ในเซลล์ และไนโตรเจนที่ตรึงได้นี้กลายเป็นธาตุอาหารสำคัญในการเติบโตของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ยพืชสดได้เหมือนกับพืชตระกูลถั่วอื่นๆ แหนแดงที่อยู่ในสภาพที่เหมาะสม แหล่งอาศัยมีธาตุอาหารสูงจะสามารถเพิ่มจำนวนต้นได้รวดเร็ว โดยในเวลา 30 วัน แหนแดงสามารถเพิ่มจำนวน และเติบโตจนได้ต้นสดได้มากถึง 3 ตัน/ไร่ ซึ่งจะตรึงไนโตรเจนได้ประมาณ 5-10 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับนาดำ การใช้แหนแดงจะทำการหว่านแหนแดงก่อนการไถปักดำ ประมาณ 1 เดือน อัตราการหว่านที่ 50 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งระยะนี้จำเป็นต้องมีน้ำขังในแปลงนาตลอด หลังจากนั้น แหนแดงจะเติบโตและขยายจำนวนจนเต็มแปลงนา ก่อนทำการไถเพื่อปักดำต้นข้าว โดยสามารถให้ผลผลิตกว่า 1-3 ตัน/ไร่ หลังจากนั้น เมื่อต้นข้าวเติบโตจึงหว่านแหนแดงอีกรอบ ประมาณ 100 กก./ไร่
วิธีการเพาะเลี้ยงแหนแดง
1. เตรียมกะละมังหรือบ่อปูนซีเมนต์สำหรับเพาะเลี้ยงแหนแดง
2. นำขี้วัวมาแช่น้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เมื่อครบกำหนดแล้วตักน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำลงไปใหม่
3. ใส่ดินลงไปผสมกับขี้วัวอัตราส่วน 1 ต่อ 1
4. เติมน้ำสะอาดลงไปให้เหนือจากผิวดินประมาณ 10-15 เซนติเมตร ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 1-2 วัน จึงปล่อยแหนแดงลงไปในบ่อหรือกะละมังเพื่อทำการเพาะเลี้ยง
ข้อดี
- ใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวทดแทนปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยที่ในโพรงใบแหนแดง สามารถดึงเอาไนโตรเจนจาก อากาศมาใช้สำหรับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ แหนแดงมีอัตราส่วนระหว่างคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C : N) อยู่ระหว่าง 8–13 หลังถูกไถกลบ จะย่อยสลายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในระยะเวลาที่สั้นประมาณ 8 สัปดาห์ ทำให้พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น ลดปริมาณวัชพืชในนาข้าว แหนแดงจะคลุมผิวน้ำป้องกันไม่ให้แสงแดดส่องลงไปในน้ำ ทำให้วัชพืชในน้ำเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่
- หากมีปริมาณมาก ให้เก็บมากองรวมกันสำหรับทำปุ๋ยหมักใช้ในแปลงพืชผักหรือสวนผลไม้
- เป็นพรรณไม้น้ำประเภทลอยน้ำที่บางครั้งถูกนำมาปล่อยในระบบบำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดแบบบึงประดิษฐ์หรือบ่อบำบัดแบบเติมอากาศในบ่อสุดท้ายก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำสาธารณะทั้งนี้ แหนแดงที่ใช้บำบัดน้ำเสียจะช่วยลดความสกปรกของน้ำ และไนโตรเจนเป็นหลัก รวมถึงช่วยบำบัดโลหะหนักบางชนิดได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตะวัน ฉัตรสูงเนิน
อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
นายธวัชชัย ชัยธวัชวิถี
นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
นางสาวสุกัญญา ลางคุลานนท์
นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
Comments
One response to “การเพาะเลี้ยงแหนแดง”
[…] อ้างจากแหล่งที่มา: … […]