65

ความเป็นมา

การป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าบริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ โดยราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณตำบลป่าไผ่และบริเวณใกล้เคียงทำให้ป่าไม้อันเป็นต้นน้ำห้วยแม่โจ้ มีสภาพค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณลุ่มน้ำอื่นที่ใกล้เคียงในช่วงก่อนพ.ศ.๒๕๒๐อย่างไรก็ดีแม้ว่าราษฎรจะได้ช่วยพยายามรักษาป่าไม้อยู่แล้วก็ตามการลักลอบตัดไม้ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้นยังมีอยู่เสมอทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรมลงทุกที ๆและลำน้ำห้วยแม่โจ้ ซึ่งเคยมีน้ำไหลตลอดฤดูกาลเริ่มหยุดไหลในฤดูแล้ง

ความเอาใจใส่ดูแลป่าไม้บริเวณลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ของราษฎร ได้ทราบถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และในการเสด็จพระราชดำเนินมายังมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยฯ หาลู่ทางเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาต้นน้ำห้วยแม่โจ้ และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งแก่ราษฎรในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ดำเนินการสนองพระราชประสงค์ โดยขั้นแรกมหาวิทยาลัยฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานชลประทานที่ ๑ เชียงใหม่ สำรวจสภาพพื้นที่ทั่วไปและน้ำ ทราบว่าการพัฒนาป่าไม้และสิ่งแวดล้อมอื่นต้องใช้ทรัพยากรสูงโดยเฉพาะการสร้างอ่างหรือฝายไม่คุ้มกับการลงทุน และโดยที่มหาวิทยาลัยฯ มีงบประมาณจำกัด จึงได้ขอความสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน จัดกิจกรรมที่พอจะทำได้มาเป็นระยะ ๆ นอกจากนี้โดยที่หมู่บ้านโปงมีอาณาเขตบางส่วนเป็นป่า และส่วนใหญ่เป็นที่ซึ่งราษฎรอยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกการพัฒนาทรัพยากรต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำควรจะดำเนินไปพร้อมๆ กันกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของราษฎรด้วยมหาวิทยาลัยฯจึงได้ขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและวางแนวทางอย่างสอดคล้องกับความนึกคิดความต้องการและความร่วมมือร่วมใจของราษฎรอย่างแท้จริง โดยการสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐในจังหวัดเชียงใหม่ และการประสานงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ และได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นบริเวณต้นน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรของราษฎรและได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้อธิการบดีมหาวิยาลัยแม่โจ้จัดทำแปลงปลูกไม้ใช้สอยสำหรับหมู่บ้านโปงและหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนส่งเสริมบริการด้านการเพาะปลูก พร้อมทั้งพัฒนาอาชีพและแปรรูปผลผลิตเกษตร ให้มีการเก็บรักษาและจำหน่ายต่อไป

และในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริบ้านโปงในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้บริเวณบ่อน้ำแท่นพระยาหลวงโดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยคณาจารย์ นักศึกษา ช่วยกันดูแลรักษาและให้ปลูกไม้โตเร็วเพิ่มเติมเพราะเป็นต้นน้ำลำธาร เช่น ให้ปลูกแคไทย เพาโรเนีย และไม้โตเร็วพื้นเมือง นอกจากนี้ยังช่วยแนะนำอาชีพให้แก่ราษฎร และให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่ดีที่สุด

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ รศ.ดร.อานนท์ เที่ยงตรง อธิการบดีและอาจารย์ ๔ ท่าน ได้ออกสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีราษฎรบุกรุกแผ้วถาง และลักลอบตัดไม้มากยิ่งขึ้น พื้นที่ป่าสันทรายบางแห่งราษฎรจับจองเป็นที่ทำกิน นอกจากนี้หน่วยราชการและเอกชนได้ดำเนินการขอเช่ามากขึ้น มหาวิทยาลัยฯเกรงว่าจะไม่เหลือป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารอีกต่อไปจึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ ศึกษาและพัฒนาป่าบ้านโปงขึ้น เนื้อที่ ๓,๖๘๖ไร่ และเนื้อที่ ๙๐๗ ไร่ โดยได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวจากกรมป่าไม้ (เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและศึกษาวิจัย ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ) และได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรในบริเวณพื้นที่ป่าและใกล้เคียงนอกจากการพัฒนาพื้นที่ ตอนบนและตอนใต้ของลุ่มน้ำห้วยแม่โจ้ อันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๘ และเสด็จพระราชดำเนินไปอ่างเก็บน้ำทอดพระเนตรสภาพน้ำและสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าสันทรายพื้นที่โครงการพัฒนาบ้านโปงฯ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริ และพระกระแสรับสั่งให้มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับกรมชลประทาน และกรมป่าไม้ เพื่อรับสนองแนวพระราชดำริ โดยสรุปคือให้กรมชลประทานสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำพลังน้ำ ปรับระดับแรงดันของน้ำตามเหมาะสม เพื่อกระจายน้ำให้ต้นไม้บริเวณไหล่เขาอย่างทั่วถึงทำให้ป่าไม้ชุ่มชื้น จึงจะช่วยให้ป่าต้นน้ำลำธารสภาพดีขึ้น การสร้างฝายกั้นต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำสายต่างๆ เพื่อให้ป่ามีความชุ่มชื้น และดำเนินการทำโครงการทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน จัดพื้นที่ตอนท้ายอ่างห้วยโจ้ เพื่อให้ราษฎรมีแหล่งน้ำสำหรับใช้เพาะปลูก เลี้ยงปลา และเลี้ยงสัตว์ให้มีการปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ และพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ไม่ให้หน้าดินถูกกัดเซาะหรือถูกน้ำชะล้างเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ

เข้าสู่เว็บไซต์

Leave a Reply