ชันโรง (Stingless Bee)

ชันโรง (Stingless Bee) เป็นแมลงจำพวกผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน  Subfamily Meliponinae, family Apidae, Order Hymenoptera  ชันโรงจะมีความสัมพันธ์และวิวัฒนาการที่ใกล้ชิดกับผึ้งพันธุ์ (honey bee), ผึ้งหึ่ง (bumble bee), และผึ้งกล้วยไม้ (orchid bee)  ชันโรงมีวิวัฒนาการมายาวนานถึง 80 ล้านปีแล้ว  ปัจจุบันทั่วโลกพบชันโรงประมาณ 500 ชนิด  โดยพบมากในเขตร้อนตลอดจนบริเวณใกล้เคียงที่ติดกับเขตร้อน  จำนวนชนิดของชันโรงที่จำแนกชนิดแล้ว  จะพบในทวีปแอฟริกา 50 ชนิด, ทวีปอเมริกา 300 ชนิด, ทวีปเอเชีย 60 ชนิด, ทวีปออสเตรเลีย 10 ชนิด และที่มาดากัสก้า 4 ชนิด (Bradbear, 2009)  ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 5 สกุล คือ MeliponaTrigonaMeliponinaDetylurina, และ Lestrimelitta  โดยสกุล Trigona จะพบบ่อยในพื้นที่เขตร้อน (Heard, 1999; Michener, 2000; Klakasikorn et al., 2005)


ในประเทศไทย  มีรายงานผลการสำรวจชันโรงสกุล Tetragonula  ว่าพบและจำแนกชนิดแล้วประมาณ 30 ชนิด โดยมีการแพร่กระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จำนวนชนิดที่อาศัยในแต่ละภาคจะต่างกัน ภาคใต้เป็นภาคที่มีความหลากชนิดของชันโรงสูงสุด ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความหลากชนิดของชันโรงน้อยที่สุด  สำหรับชนิดชันโรงที่พบทั่วทุกภาคได้แก่  ผึ้งจิ๋วขนเงิน (Tetragonula pagdeni Schwarz),ผึ้งจิ๋วหลังลาย (T. fuscobalteataCameron),  ผึ้งจิ๋วรุ่งอรุณ (T. laeviceps Smith), ชันโรงใต้ดิน (T. collina Smith),และชันโรงปากแตร (T. terminata  Smith)  (Schwarz, 1939; Sakagami et al., 1985; Micheener and Boongird, 2004; สมนึก, 2552) ชันโรงจะมีขนาดที่แตกต่างกันมาก เช่น Melipona fulginnosa  มีลำตัวยาวกว่า 13  มิลลิเมตร  ส่วน Trigona  duckei  ลำตัวยาวเพียง 2 มิลลิเมตรเท่านั้น  ขนาดของโคโลนีก็แตกต่างกัน  ตั้งแต่หลักร้อยในสกุล Melipona  ไปจนถึงหลักหมื่นในสกุล Trigona   (Sommeijer, 1999)

ชันโรงจัดเป็นแมลงสังคมชั้นสูง (eusocial insects) ที่ภายในรังประกอบด้วยวรรณะ 3 วรรณะด้วยกัน คือ นางพญา (queen), เพศผู้ (drone), และชันโรงงาน (worker) (Velthuis, 1997)   โดยในแต่ละวรรณะจะทำหน้าที่ภายในรังแตกต่างกันไป โดยนางพญาจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้และชันโรงงาน ใน 1 รวงรัง จะมีนางพญา 2 ตัวหรือมากกว่า ทำหน้าในการวางไข่และดูแลชันโรงทุกตัวในรังให้อยู่ในความเรียบร้อย   ส่วนชันโรงเพศผู้จะทำหน้าที่ในการผสมพันธุ์เพียงอย่างเดียว สำหรับชันโรงงานจะทำหน้าที่ในการซ่อมแซมรัง คอยทำความสะอาดและเป็นพี่เลี้ยงช่วยนางพญาดูแลตัวอ่อน  ตลอดจนหาอาหารเลี้ยงสมาชิกภายในรัง โดยการออกเก็บละอองเกสรและน้ำหวานของดอกไม้  ละอองเกสรที่ได้จากดอกไม้จะเป็นแหล่งโปรตีน ส่วนแหล่งของพลังงานจะได้จากคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลที่มีในน้ำหวานของดอกไม้  (Bradbear N., 2009)

รังของชันโรงส่วนใหญ่จะสร้างรังอยู่ภายในช่องว่างที่ปลอดภัย เช่น รอยแตกของต้นไม้, โพรงไม้, ใต้ดิน เป็นต้น สารที่นำมาใช้สร้างรังหลัก คือ ซีรูเมน (cerumen) ซึ่งเกิดจากส่วนผสมของไขผึ้งและยางไม้  ทางเข้ารัง ( entrance tube )จะมีลักษณะเป็นช่องแคบ  (Sommeijer, 1999) ซึ่งจะช่วยป้องกันการเข้ารุกรานของศัตรู ได้แก่ ผึ้งชนิดอื่นๆ, แมลงวันหลังค่อม (phorid fly: Pseudohypocera sp.), แมลงวันหัวบุบ (robber flies), มวนเพชฌฆาต (assassin bug),มด, นก, กิ่งก่า เป็นต้น   (Macharia et al., 2007; Wattanachaiyingcharoen and Jongjitvimol, 2007; Bradbear, 2009)

ลักษณะโครงสร้างภายในรังของชันโรงจะประกอบไปด้วยห้องของตัวอ่อน (brood chamber)แยกเป็นสัดส่วนออกจากพื้นที่สะสมอาหาร  บริเวณห้องของตัวอ่อนจะมีการสร้างเซลล์ตัวอ่อน (brood cells)  เป็นชั้นๆ ตามแนวนอน โดยเซลล์ตัวอ่อนของนางพญาใหม่ (Queen cell) จะมีขนาดใหญ่กว่าเซลล์ของชันโรงงาน และจะอยู่ส่วนบนสุดของเซลล์ตัวอ่อน  ห้องของตัวอ่อนจะถูกห่อหุ้มด้วยผนังที่ทำจากไขและโพรโพลิส  เรียกว่า involucrum   ส่วนบริเวณพื้นที่สะสมอาหารจะประกอบไปด้วย ถ้วยน้ำผึ้ง (honey pots) และ ถ้วยเกสร (pollen pots)  ชันโรงแต่ละชนิดจะมีขนาดของเซลล์ตัวอ่อน ถ้วยเกสร และถ้วยน้ำผึ้งที่แตกต่างกัน  ขึ้นอยู่กับขนาดของลำตัวชันโรง  ถ้าชันโรงมีลำตัวขนาดใหญ่ ก็จะสร้างเซลล์ตัวอ่อน ถ้วยเกสรและถ้วยน้ำผึ้งใหญ่ตามไปด้วย

ชนิดของชันโรง

ชันโรง (Stingless bee : Trigona sp. หรือ Melipona sp.) คือ ผึ้งชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นของไทยมานานแล้ว โดยมีชื่อเรียกแตกต่าง กันไปตามท้องถิ่น เช่น ขี้ตังนี (ภาคเหนือ) ขึ้สูด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) อุง (ภาคใต้) และติ้ง (นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) ชันโรงจัด อยู่ในอันดับ Hymenoptera วงศ์ Apidaeและวงศ์ย่อย Meliponinae มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศแอฟริกา แล้วกระจายตัวไปยังประเทศอื่นๆ ในเขต ร้อน มีจำนวนมากกว่า 400 ชนิด พบในประเทศไทย 24 ชนิด

วงจรชีวิตชันโรง

 ผึ้งจิ๋วจะมีพฤติกรรมคาบเกี่ยวระหว่างผึ้งรวงสังคมชั้นสูงแท้จริง (highly eusocial insect)กับผึ้งป่ากึ่งสังคม (semisocial insect) อย่างไรก็ตามพฤติกรรมที่ผึ้งจิ๋วแสดงออกมาก็มีเอกลักษณ์จำเพาะ  เช่น อาหารของตัวหนอนผึ้งป่า คือเกสรอย่างเดียว 100%แต่อาหารของชันโรงหรือผึ้งจิ๋วคือ เกสร 80% กับน้ำผึ้ง 20% ส่วนอาหารของผึ้งรวงที่ป้อนหนอนอายุไม่เกิน 3 วันนั้นเป็นนมผึ้ง ส่วนหนอนที่อายุเกิน 3วันไปแล้วเป็นเกสรผสมน้ำผึ้งเช่นกัน สำหรับป้อนหนอนที่จะเจริญเติบโตไปเป็นผึ้งงานและผึ้งตัวผู้ ส่วนหนอนที่จะเจริญไปเป็นนางพญาต้องได้อาหารดีคือนมผึ้ง
ผึ้งป่าวางไข่บนก้อนเกสรที่เตรียมเอาไว้ให้ตัวหนอนแต่ละตัวกินเอง ผึ้งจิ๋วก็เตรียมอาหารทั้งหมดเอาไว้ในเซลล์หรืถ้วยก่อนที่นางพญาแม่รังจะขึ้นไปวางไข่ปักไปบนผิวอาหารแล้วเซลนั้นถูกปิดทันที แต่ผึ้งรวงป้อนอาหารตัวอ่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป มีละนิดทีละหน่อย เรียกว่า progressive feeding มีความเป็นอิสระมากกว่าชันโรง แต่ความเป็นอิสระอยู่บนพื้นฐานของสังคม มิใช่อิสระแบบสันโดษเหมือนผึ้งป่า  โดยผึ้งงานพี่เลี้ยง แต่ละวรรณะต้องทำงานร่วมกับนางพญาแม่รัง นางพญาจึงเป็นศูนย์รวมอำนาจในรังผึ้ง แต่ก็มีผึ้งงานสามารถคานอำนาจนางพญาแม่รังได้ระดับหนึ่ง

การเจริญเติบโตของผึ้งจิ๋วหรือชันโรง เริ่มจากไข่ ฟักเป็นตัวหนอน จากนั้นลอกคราบอีก 5 ครั้ง การลอกคราบทำให้ตัวหนอนโตขึ้น จนถึงระยะจะเข้าดักแด้ เริ่มชักใยหุ้มตัว จากนั้นก็จะหยุดนิ่งไม่กินอาหารประมาณ 1 วัน เริ่มพัฒนาเป็นดักแด้โดยการเปลี่ยนรูปร่างจากดักแด้เป็นตัวผึ้ง มีสีขาวใสทั้งตัว จากนั้นตารวมเริ่มเปลี่ยนสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสีดำ ส่วนปีกพัฒนาทีหลัง ก่อนที่จะออกมาเป็นตัวเต็มวัย 2 วันปีกจะยืดยาวจนสมบูรณ์ จากนั้นเริ่มเคลื่อนไหวให้ผึ้งงานภายนอกรู้ ก็จะช่วยกัดผนังดักแด้ออก มาจากดักแด้นั้นยังมีสีอ่อนอยู่ เม็ดสียังไม่เจริญเต็มที่ต้องกินอาหาร ประมาณ 2 -4 วัน ก็จะเป็นตัวเต็มวัยที่สมบูรณ์  เริ่มทำความสะอาดรัง ด้วยการขนซาก และสิ่งปฏิกูลที่ตัวหนอนถ่ายมูลไว้ รวบรวมไปไว้แถวด้านหน้ารังเพราะบินยังไม่ได้ ใช้วิธีเดินขนไปมาอย่างเดียว การขนสิ่งปฏิกูลไปทิ้งนอกรังเป็นหน้าที่ของผึ้งงาน การทำงานในรัง รอการพัฒนา ระบบต่อมต่างๆ ในตัวให้สมบูรณ์ เช่น ต่อมไขผึ้ง ต่อมผลิตอาหาร ต่อมสารเตือนภัยหรือต่อมใต้ฟันกราม จนสมบูรณ์แล้ว เป็นการทำหน้าที่ตามอายุของผึ้งงาน หน้าที่สุดท้ายคือการออกหาอาหารไปจนถึงวันหมดอายุในที่สุด

ระยะการเจริญเติบโตพัฒนาของผึ้งงาน
ตั้งแต่ระยะไข่  หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย เป็นดังนี้

 ระยะ                                เวลาที่ใช้ในการเจริญเติบโตเฉลี่ย(วัน)
ไข่                                                           6.5
ตัวหนอน ระยะที่ 1                                   1
ตัวหนอน ระยะที่ 2                                   1
ตัวหนอน ระยะที่ 3                                   1
ตัวหนอน ระยะที่ 4                                   1.5 – 2
ตัวหนอน ระยะที่ 5                                   1.5 –  2
ระยะ ก่อนเข้าดักแด้
(แทะซีรูเมนออกไป)                                   2.5
จากระยะไข่ จนดักแด้สีขาว                      (15 – 16)
ระยะดักแด้ ตาสีขาว                                  7.5
ระยะดักแด้ ตาสีน้ำตาล                             7.5
ระยะดักแด้ ตาสีดำ                                    9
ตัวเต็มวัย                                                  39-40

ประโยชน์ของชันโรง

การใช้ชันโรงเป็นแมลงผสมเกสร
                      เนื่องจากชันโรงมีวิวัฒนาการร่วมกับพืชท้องถิ่นมาเป็นเวลานาน ชันโรงจึงเป็นแมลงผสมเกสรที่มีศักยภาพมากชนิดหนึ่ง เพราะชันโรงลงตอมดอกไม้ได้หลากหลายชนิด และมีรังที่จัดการได้ง่ายเพราะไม่ต่อย ขนาดรังไม่ใหญ่ สะดวกต่อการขนย้าย ในระหว่างฤดูกาลที่ไม่ใช่ฤดูกาลที่ใช้งานชันโรง เพียงดูแลรังไม่ให้อยู่ในสภาพอากาศที่รุนแรง เช่น ความชื้นสูง หรือถูกแดดจัด ไม่มีศัตรูรบกวน มีพืชอาหารในธรรมชาติพอประมาณ รังชันโรงก็สามารถนำไปใช้ในฤดูกาลต่อไปได้เป็นอย่างดี
ชันโรง สามารถเป็นแมลงผสมเกสรที่ดีแก่พืชหลายชนิด เช่น เงาะ ลิ้นจี่ สตอเบอรี่ แต่ชันโรงไม่สามารถผสมพันธุ์ให้แก่ทานตะวันกินเมล็ดพันธุ์เชียงรายได้ (อัญชลี, 2552) และมีผลการทดลองที่แสดงให้เห็นว่าเปอร์เซ็นต์การติดผลของแตงกวา มีน้อยมาก เมื่อใช้ชันโรงผสมเกสร (นพพล และคณะ, 2552)
ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมของชนิดพืช ลักษณะของดอกไม้ที่เหมาะสมกับการใช้ชันโรงในการเป็นแมลงผสมเกสร ดังนั้น การเลือกใช้ชันโรงผสมเกสรจึงควรมีการตรวจสอบทดลองประสิทธิภาพการเป็นแมลงผสมเกสรของชนิดชันโรงกับชนิดพืชนั้น ๆ ก่อน
การขายรังหรือให้เช่ารังชันโรง
ผลสืบเนื่องจากการที่ชันโรงเป็นแมลงผสมเกสรไม้ผลหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ความต้องการรังชันโรงของเกษตรกรมีปริมาณสูง ทำให้มีธุรกิจการขายรังชันโรง หรือให้เช่ารังชันโรง เพื่อวางในสวนผลไม้ในช่วงดอกไม้บานเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งราคาขายรังกันตั้งแต่รังละ 700 บาท ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของชันโรง (ความยากง่ายในการขยายพันธุ์ของชันโรงชนิดนั้นๆ) ส่วนการให้เช่ารังชันโรงนั้นในระยะแรก มักจะให้เช่าในราคาประมาณรังละ 300 บาทต่อช่วงระยะเวลาที่ดอกเงาะบาน แต่ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไม่นิยมให้เช่ารัง เนื่องจากประสบปัญหารังล่มสลายจากการใช้สารเคมีของสวนที่เช่ารัง หรือความไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าของสวนที่เช่ารังชันโรงแล้วแอบแยกขยายรังชันโรงที่เช่าไป เป็นต้น
การใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งชันโรง
คนทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีชันโรงเป็นแมลงในท้องถิ่น เชื่อกันว่าน้ำผึ้งจากชันโรงมีสรรพคุณทางยามากกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งในสกุล  เอพิส (Apis)เช่น ผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) Sawatthum, et al. (2008) ได้แสดงผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำผึ้งจากชันโรง 3 ชนิด คือชันโรงขนเงิน Tetragonulapegdeni Schwarz,ชันโรงถ้วยดำ Tetragonulalaeviceps Smith และ ชันโรงปากแตร Lepidotrigonaterminata Smith เปรียบเทียบกับน้ำผึ้งจากผึ้งพันธุ์จากดอกไม้ 2 ชนิดคือ ลำไย และเงาะ

การเพาะเลี้ยงชันโรงเชิงการค้า

การแยกขยายรังชันโรง

ในปัจจุบัน เรายังไม่สามารถแยกขยายรังชันโรงโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกับการแยกขยายรังของผึ้งพันธุ์ เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างนางพญาของชันโรงโดยวิธีย้ายตัวอ่อนได้แต่สามารถขยายพันธุ์โดยอาศัยวิธีการแบบธรรมชาติซึ่งยังขาดประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ชันโรง อนึ่งในการขยายพันธุ์ชันโรงต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ คือ ต้องอยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมกล่าวคือ ชันโรงรังนั้น ๆ มีความต้องการที่จะขยายรังอยู่แล้วทำได้ดังนี้

  1. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการขยายรังชันโรง – รังที่จะทำการแยกขยาย – เหล็กงัดรังชนิดเดียวที่ใช้ในการเลี้ยงผึ้ง – หมวกตาข่าย – เครื่องพ่นควัน – กระบอกพ่นน้ำชนิดพ่นฝอย
  2. คัดเลือกรังชันโรงที่สมบูรณ์แข็งแรงมีประชากรชันโรงหนาแน่นมีการสะสมอาหารและน้ำหวานไว้ภายในรังจำนวนมากมีการสร้างเซลล์นางพญาและเซลล์ตัวอ่อน
  3. ตัดแบ่งกระเปาะเกสร กระเปาะน้ำหวาน กระเปาะตัวอ่อน ประมาณ 1 ใน 3 ของรังเดิมถ้าพบเซลล์นางพญาให้ตัดมาด้วย และให้มีตัวเต็มวัยของชันโรงติดมาด้วยเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ในรังที่แยกใหม่
  4. ควรตรวจเช็คส่วนที่แยกใส่รังใหม่ให้แน่ใจว่าไม่มีนางพญาชันโรงตัวเดิมติดมาด้วย
  5. หลังจากนั้นจากเกิดขบวนการสร้างนางพญาชันโรงตัวใหม่ขึ้นตามธรรมชาติโดยจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการแยกขยายรังชันโรงประมาณ 30 – 40 %
  6. ช่วงเวลาที่แยกขยายรังชันโรงคือ ช่วงฤดูดอกไม้บานมีการสะสมอาหารไว้ภายในรังเป็นจำนวนมากและภายในรังได้มีการสร้างชันโรงตัวผู้จำนวนมากสำหรับการผสมพันธุ์กับนางพญาชันโรงตัวใหม่

การทำการแยกขยายพันธุ์ชันโรง ยังไม่มีวิธีการที่ให้ผลแน่นอนขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง ดังนั้นการแยกขยายพันธุ์ชันโรงยังต้องอาศัยประสบการณ์ช่วงเวลาและโอกาสที่เอื้ออำนวยของธรรมชาติเป็นสำคัญ

ศัตรูและการป้องกันกำจัด

ชันโรงมีลำตัวขนาดเล็กและลักษณะการบินไม่เป็นแนวตรงหรือโค้ง การบินของชันโรงจะเป็นแบบหักมุมซ้ายบ้างขวาบ้าง ทำให้หลบศตรูได้ง่าย ยากแก่การจับกินของแมลงและนกต่างๆ ภายในรังของชันโรงจะเก็บยางไม้สำหรับป้องกันศัตรู และศัตรูที่สำคัญของชันโรงมีดังต่อไปนี้
  1. นกที่กินแมลง จะไปจับเกาะบริเวณดอกไม้ที่มีชันโรงตอมอยู่ ทำให้ง่ายต่อการจับกิน
  2. มดเป็นแมลงที่ชอบกินน้ำหวาน จะรบกวนก็ต่อเมื่อย้ายรังใหม่ๆ โดยที่จะเข้าไปกินน้ำหวานภายในรังทำให้ชันโรงหนีไป
  3. มวนเป็นศัตรูใช้ปากเจาะดูดน้ำเลี้ยงของชันโรง โดยจะจับชันโรงที่ใกล้ๆรัง ถ้าหากมีชันโรงจำนวนมากชันโรงก็จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด
  4. หนอนแมลงวันจะเข้าทำลายในระยะที่เป็นหนอนไปกัดถ้วยน้ำหวานและกินน้ำหวานของชันโรง หากมีมากอาจทำให้ชันโรงทิ้งรังก็เป็นได้

ผลิตภัณฑ์และการแปรรูป

การเลี้ยงผึ้งจิ๋วนอกจากจะเลี้ยงเอาไว้ผสมเกสรพืชเป้าหมายแล้ว ยังให้ผลิตภัณฑ์ คือชันผึ้งเหลวในรัง ที่สามารถเก็บรวบรวมมาใช้เป็นสมุนไพรได้ด้วย เพราะตัวผึ้งจิ๋วจัดเป็นตัวสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้ดี โดยมีน้ำย่อยและสัญชาตญาณรู้ว่าพืชชนิดใด ส่วนใดมีสารที่นำมาฆ่าเชื้อโรคในรังของผึ้งจิ๋วได้ ผึ้งจิ๋วมีพฤติกรรมออกเก็บรวบรวมชันผึ้งเหลวทุกวัน สามารถบังคับผึ้งจิ๋วให้หากินในรัศมีไม่เกิน 300 เมตร โดยรอบ ๆ ปลูกพืชสมุนไพรที่คัดเลือกว่ามีสารออกฤทธิ์ทางยาจะเป็นการดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อนำน้ำผึ้งชนิดนี้มาผสมกับพืชสมุนไพรเป็นตัวยา สมุนไพรไทยก็จะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังทำน้ำผึ้งได้อีกด้วย

ที่มา


Comments

Leave a Reply