วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล


วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ตั้งอยู่ที่ 467 หมู่ 5 ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีประวัติอันยาวนาน โดยเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ และเคยเป็นที่ที่ตั้งทัพของพญามังรายมมหาราช อายุมากกว่า 735 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นวัดแรกของอําเภอพร้าว โดยวัดพระธาตุดอยเวียงชัยก่อนที่จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์จนเป็นวัดพระธาตุดอยเวียงชัยในปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 5 ยุคด้วยกัน คือ

ยุคที่ 1 อ้างในตำนานพระเจ้าเลียบโลก เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเดินทางมายังดินแดนสุวรรณภูมิเขตล้านนาไทย พระพุทธองค์ทรงเสด็จมายังม่อนดอยเวียง (ปัจจุบันคือวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล) พร้อมพระอานนท์เถระ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวจึงได้พากันมาทำบุญใส่บาตรฟังธรรมอุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอานนท์ทุกวัน ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จเดินทางออกจากเขตแดนเมืองพร้าว พระพุทธเจ้าทรงมอบเส้นเกศาให้กับชาวบ้านไว้ เพื่อกราบไหว้ การ สักการะบูชา พร้อมกับได้พุทธทำนายไว้ว่าต่อไปสถานที่แห่งนี้จะเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนาในอนาคตกาลข้างหน้าจากนั้นชาวบ้าน คน จึงสร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุเพื่อรักษาพระเกศาของพระพุทธเจ้าไว้ ณ ที่แห่งนี้สืบมา

ยุคที่ 2 สมัยราชวงศ์มังรายมหาราช พญามังรายมหาราชได้สร้างเมืองพร้าวขึ้นในปี พ.ศ.1824 จากนั้นพระองค์ได้เดินทางมุ่งสู่หิริกุญชัยนคร ระหว่างทางได้พักทัพบริเวณม่อนพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ทรงสร้างพระธาตุขนาดใหญ่ครอบพระธาตุที่บรรจุเส้นพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าไว้ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และสร้างแนวคูค่ายและขุดแนวกำแพงรอบวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลไว้ถึงห้าชั้น เพื่อเป็นที่ตั้งทัพและพักทัพเมื่อเข้าสู่เมืองพร้าวหรืออำเภอพร้าวในปัจจุบัน

อนุสาวรีย์พระญามังราย

ยุคที่ 3 เมื่อครั้งพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) แม่ทัพผู้ปกครองแขวงหนองจ๊อม ที่ทนต่อการเก็บภาษีส่วนกลางที่กดดันชาวบ้านอย่างหนัก ไม่ได้รวมกลุ่มสร้างวีรกรรมมุ่งสังหารเจ้านายภาษีและผู้บริหารจากส่วนกลางจังหวัดเพื่อปลดแอกให้แก่ประชาราษฎรผู้ยากไร้ในปี พ.ศ.2432 แต่ไม่สำเร็จจึงหนีมาตั้งทัพบนพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ก่อนที่จะเดินทางไปยังเมืองเชียงตุง ปัจจุบันได้ขุดพบเงินตรา สมัยรัชกาลที่ 5 บนวัดพระธาตุดอยเวียงจำนวนหนึ่ง และจากคำบอกเล่าของคนในชุมชน

ยุคที่ 4 เมื่อครั้ง ครูบาเจ้าศรีวิชัย เดินทางมาตำบลโหล่งขอด เมื่อพ.ศ.2473-2474 พร้อมด้วยผู้ติดตามประมาณหลายร้อยคนใกล้พลบค่ำครูบาได้ชี้นิ้วมายังวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลแล้วได้กล่าวคำพูดปริศนาไว้ว่าในตำบลโหล่งขอดยังมีพระธาตุสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อีก คือพระธาตุดอยเวียง เวียงเก่าที่มีคูเวียงล้อมรอบ เมื่อใดก็ตามที่พระธาตุนั้นได้รับการบูรณะเสร็จสมบูรณ์ ชาวโหล่งขอดจะทำนาเป็นข้าวสาร ผู้ร่วมสร้างจะร่ำรวยด้วยโภคะทรัพย์ อยู่เย็นเป็นสุข หลังจากนั้นครูบาได้เดินทาง มาพักที่วัดบ้านหลวงอีกสามวัน แล้วได้เดินทางออกจากตำบลโหล่งขอดมุ่งหน้าเข้าสู่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ยุคที่ 5 ยุคปัจจุบันโดยพระครูวรวรรณวิวัฒน์ และชาวบ้านค้นพบเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2546 และเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์สร้างวัดตั้งแต่นั้นมา โดยได้สร้างถาวรวัตถุที่สำคัญต่างๆ ให้ใกล้เคียงตามแบบฉบับล้านนาเดิมมากที่สุด เพื่อให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ถูกต้องเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นที่สักการบูชา ตลอดจนเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาประจำตำบลโหล่งขอดและถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบต่อไป

วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล มีพื้นที่ 34 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา และได้รับการยกเป็ดวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 และวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ยังช่วยงานด้านป่าไม้ ท้องที่หมู่ 6 ต.โหล่งขอด  อำเภอพร้าว เนื้อที่ประมาณ 70 ไร่  อีกด้วย โดยมีท่านท่านพระครูวรรณวิวัฒน์ ดร เป็นเจ้าอาวาส ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่สร้างโดยคงแบบฉบับแบบล้านนาเดิม ในพระวิหาร มีหลวงพ่อเศรษฐี เป็นพระประธาน เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ศิลปะล้านนา เชียงแสน สิงห์สาม ปางโปรดพญาชมพูบดี พุทธศิลป์ในสมัยพระเจ้าติโลกราช อายุ 600 ปี ด้านนอกประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์มหาจักรพรรดิมุนีศรีดอยเวียง ทรงเครื่องกษัตริย์ศิลปะล้านนาโบราณ ขนาดความกว้าง 3 เมตร ความยาว 23 เมตร ความสูง 10 เมตร หรือเรียกอีกอย่างว่า ปางโปรดอสุรินทราหู มีลักษณะอิริยาบถนอนตะแคง พระบาททั้ง 2 วางทอดยาวซ้อนเสมอกัน พระบาทซ้ายวางทับพระบาทขวา พระหัตถ์ขวายกขึ้นตั้งประคองพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายวางแนบไปกับพระวรกาย พระเขนยจะอยู่ใต้พระกัจฉะ (หมอน) ในบริเวณเดียวกัน เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ของเก่าโบราณล้านนา ซึ่งด้านในได้มีการเก็บของที่ขุดพบบริเวณวัดเมื่อครั้งมาค้นพบและบูรณปฏิสังขรณ์วัด ในบริเวณนี้ ยังมีองค์พระธาตุสีทองซึ่งเป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระบรมสารีริกธาตุพระมหาธาตุดอยเวียงชัยมงคล ด้านหน้าเจดีย์องค์ใหญ่ มีเจดีย์ทันใจที่สร้างจากอิฐเก่าที่เคยใช้สร้างพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลองค์เดิมเมื่อ 700 ปี  ทั้งนี้ยังมีจุดชมวิว ซึ่งได้ประดิษฐ์ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระญามังรายมหาราช พระมหากษัตราธิราชแห่งล้านนาประเทศ  มีเรื่องเล่าว่าขณะที่พระองค์ทรงปกครองเมืองฝางอยู่ (อำเภอฝาง) ได้ทรงทราบว่าเมืองหริภุญชัย (จังหวัดลำพูน) มีความเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร จึงยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัย ระหว่างทางเดินทัพได้ผ่านมาทางเมืองแจ้สัก ทรงแวะพักกองทัพและทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดี จึงทรงสร้างเมืองหนึ่งขี้นเมื่อปี พ.ศ 1824 จ.ศ. 643 ให้ชื่อว่า “เมืองพร้าววังหิน” ซึ่งเป็นเมืองที่สงบร่มเย็นและเป็นเมืองเก่าที่ทรงสร้างก่อนเมืองเชียงใหม่ถึง 15 ปี หลังจากนั้นพระญามังรายได้สร้างวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลแห่งนี้ เป็นเพื่อพระธาตุหลักบ้านแดงเมือง เพราะวัดตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีมองเห็นภูมิทัศน์ได้โดยรอบ ตลอดจนได้สร้างเป็นประตูเมืองและเมืองหน้าด้านของเมืองพร้าว  ปัจจุบันนี้ยังปรากฎหลักฐาน คือ องค์พระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ซึ่งเป็นพระธาตุโบราณที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอพร้าว วิหารล้านนา 1 หลัง แนวกำแพงโบราณที่ขุดรอบวัด 4 ชั้น  ณ จุดชมวิว สามารถมองเห็นตัวอำเภอพร้าวได้อย่างชัดเจน นอกจากพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลแล้ว และในบริเวณใกล้เคียง ยังมีพระธาตุม่วงเนิ้ง และพระธาตุสามเหลี่ยม เรียกพระธาตุทั้งสามว่า พระธาตุสามดวง  จากคำบอกเล่า ของพระอินชัย สุวรรณจาโร  ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเป็นเด็ก ได้ไปทำนากับพ่อ แล้วต้องไปนอนเฝ้าที่ทุ่งนา พอตกดึกพ่อเรียกให้ลุกขึ้นมาดูดวงไฟที่ท่านเรียกให้ลุกขึ้นมาดูพระธาตุจากพระธาตุม่วงเนิ้ง ไปเยี่ยมพระธาตุดอยเวียง  โดยปรากฏเป็นดวงไฟสีเขียวชอุ่ม ดูชุ่มเย็น ลอยจากพระธาตุม่วงเนิ้งไปลงที่พระธาตุดอยเวียง ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า พระธาตุทั้งสามองค์ จะมีการไปมาหาสู่กัน เหมือนเป็นพี่น้องกัน

อ้างอิง : หนังสือเรื่อง “วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล พระมหาธาตุเจดีย์บารมี 19 ยอด” จัดทำโดย วัดพระธาตุดิยเวียงชัยมงคล