ประเพณีขึ้นดอยปุย


ประเพณีขึ้นดอยปุย เป็นประเพณีที่รุ่นพี่แม่โจ้ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต เพราะก่อนที่จะจากอ้อมอกของ “แม่โจ้” พวกเราต้องจากไปอย่าง “ลูกชายของแม่โจ้” ที่แท้จริง

สัมผัสประสบการณ์ขึ้นดอยปุยที่มีมาอย่างยาวนาน บางส่วนบางตอนจากหนังสือ “อนุสรณ์แม่โจ้ รุ่น 21″ เขียนโดย คุณอุทัย สอนหลักทรัพย์ แม่โจ้รุ่น 21 ความว่า…

        การศึกษาปีสุดท้ายทุกสมัยที่ผ่านมา ก่อนที่ทุกคนจะต้องจากแม่โจ้ไปดำเนินชีวิต ที่พวกเรา จะต้องไปเพื่อการต่อสู้กับเหตุการณ์ของโลกอันไพศาล ข่าวที่นำความซาบซึ้งมาถึง พวกเราที่ได้รับทราบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2500 นั้นคือ ท่านผู้อำนวยการของเรา ได้อนุมัติให้พวกเราขึ้นไปศึกษาวิชาพฤกษศาสตร์ และฝึกความอดทน อันเป็นประเพณีที่รุ่นพี่ได้ปฏิบัติมาตั้งแต่ อดีต เพราะก่อนที่จะจากอ้อมอกของ “แม่โจ้” ไปพวกเราต้องจากไปอย่าง “ลูกชายของแม่โจ้” ที่แท้จริง ดังนั้นความกระหายที่พวกเราจะได้ฝึกความอดทนดั่งรุ่นพี่ ๆ จึงสมความปรารถนาแล้วในอันที่จะขึ้นสู่ดอยปุย ซึ่งเป็นยอดเขาลูกหนึ่งในบรรดายอดเขาสูงทั้งหลาย

        ทั้งนี้ลูกแม่โจ้ที่จะจากไปทุกรุ่น ทุกสมัยจะต้องเดินทางไป และไปจนถึงจุดหมาย คือยอดดอยปุย อันอุดมด้วยพฤกษชาตินานาชนิด โดยสัญลักษณ์อันสง่างามก็คือ ทิศที่ตั้งแห่งดอยปุยกับวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่นั้น อยู่ในสภาพที่ตั้งอยู่ในจุดที่จะมองเห็นภาพอันสวยงาม ของกันและกัน ด้วยสายตาอย่างแจ่มชัด

        ดังนั้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2500 พวกเรายังคง ปฏิบัติงานตอนเช้า และเข้าห้องเรียน กันตามปกติ ในเวลา 13.00 น. ถึง 15.30 น. ได้รับอนุญาตจากทางวิทยาลัยให้งดการปฏิบัติงานได้ เพื่อให้มีโอกาสเตรียมตัวเตรียมเครื่องใช้ ที่จะขึ้นดอยปุย

เชิงบันไดนาคดอยสุเทพ                                                   

       ความขลุกขลัก  โกลาหลใดๆ ไม่มีเลย เพราะพวกเราลูกแม่โจ้ ความสามัคคี พร้อมเพรียงและอดทนเสมอ พอเวลา 15.30 น. ทางแผนกการครัวก็บริการอาหารให้แก่พวกเราก่อนเวลา ซึ่งตามปกติต้องเข้ารับประทานอาหารเมื่อเวลา 17.00 น. เป็นพิเศษ เวลา 16.30 น. รถยนต์ของวิทยาลัยมารับพวกเราที่หอพัก บัดเดี๋ยวนั้นเราก็เข้าสู่เวียงพิงค์ โดยระยะทาง 18 กิโลเมตร ต่างก็หาซื้ออาหารและของใช้บางอย่างที่จำเป็น เสียเวลาไม่นาน รถยนต์ก็พาเรา มุ่งหน้าไปส่งยังจุดหมาย ทางประตูสวนดอก อันเป็นเส้นทางอีกทางหนึ่งไปสู่เชิงดอยสุเทพ ในปัจจุบันนี้ที่ดินแห่งหนึ่งใกล้บริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของสวนสัตว์

ที่สวนวนกรรม

                                                            

        เราถึงเชิงดอยนี้ เมื่อเวลา 18.05 น. พวกเราต่างก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพโดยทางเท้า มีการแบกหามสัมภาระติดตัวกันตามสมควร เพราะพวกเราต้องไปนอนค้างแรมที่ยอดดอยสุเทพ สถานที่ ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุอันเป็นยอดของความสักการะแห่งชาวพุทธมามกะ 1 คืน

        ระหว่างทางพวกศิลปินที่ไม่มีศิลปะก็ร้องเพลง ท่านพวกนี้บอกว่า“คนที่ไม่ชอบเพลงเป็นคนป่า เข้าป่าต้องชอบฟังเพลงซิน่า” ใครคนหนึ่งร้องดังๆว่า “ลูกแม่โจ้เดิน!  เดิน! ”พวกเรายิ่งเดิน บรรยากาศก็ยิ่งมืด และมืดจนมองแทบไม่เห็นหนทางเดินแต่คณะเราก็พยายามปีนป่ายด้วยกำลังของความมานะ ในที่สุดเวลา 19.50 น. เราก็ถึงดอยสุเทพ อันมีเจดีย์ทองประดับดอยและเป็นที่ตั้งแห่งพระบรมธาตุ ทุกคนในคณะของเราได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากพระสงฆ์ในอารามนี้ทุกรูป พระคุณเจ้าทุกองค์ได้อุปการะอนุญาติให้พักในสถานที่ซึ่งจัดไว้ อันควรแก่พวกพุทธมามกะจะขึ้นไปสักการะในโอกาสนี้ คณะเราขอกราบมาด้วยดวงใจอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธในพระคุณนี้ด้วย สำหรับคืนนี้คณะของเรานอนในสถานที่อันมิดชิดด้วยความอบอุ่น

         วันที่ 3 กมภาพันธ์ 2500 คณะเราตื่นแต่เช้า ต่างก็เดินชมปูชนียสถานรอบๆดอยสุเทพ เช้านี้เป็นเช้าที่มีอากาศบริสุทธิ์ ผ่องใสโดยแท้จริง ใครคนหนึ่งอุทานว่า “ผมต้องพาใครอีกคนหนึ่ง มานมัสการพระธาตุดอยสุเทพให้จงได้” พวกเราหลายคนปรมมือให้

       

       

        เวลา 08.30 น. รถยนต์ของวิทยาลัย โดยการนำของท่านผู้อำนวยการ ก็ได้นำอาหารมาส่งคณะเรา ทราบว่าอาจารย์เนตร แก้ววรรณรัตน์ ต้องตื่นแต่ 2.00 น. ควบคุมการห่อเสบียงของเรา ซึ่งกรุณามอบให้เอาไปรับประทานเป็นมื้อกลางวันบนยอดดอยอีกมื้อหนึ่ง เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จ คณะเราและอาจารย์เสาวรัจ นิตยวรรธนะ อาจารย์เกื้อ ศุขรักษ์ ซึ่งจะได้เป็นผู้นำไปสู่ยอด ดอยปุย ต่อจากยอดดอยสุเทพขึ้นไปอีก

        เราปีนป่ายขึ้นตามไหล่เขาต่อไป บางสถานที่ต้องเดินเรียบไปข้างเหวลึก มองลงไปข้างล่างของหุบเขาจะเห็น ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่ง มุ่งแต่จะทำลายล้างป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติให้เตียนโล่ง เพื่อต้องการอาศัยพื้นดินปลูกเพียงแต่ฝิ่นในระยะเพียง 2-3 ปี เท่านั้นก็ทอดทิ้งไป แล้วก็หักล้างสถานที่ใหม่ เดินเถิดเดิน ไม่รีบไปสมรภูมิ แต่รีบไปให้ถึงยอดดอยปุย ในที่สุดแห่งความมานะ อดทนเราก็ชนะ เราก็พิชิตดอยปุยได้ ด้วยการเข้าไปนั่งแอบร่มต้นสนมองดูวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ ตั้งอยู่อย่างชัดเจนด้วยความตื้นตันใจ เมื่อเวลา 11.32 น. แต่มีคณะเราเดินมาหลายหมู่ หลายตอน บางหมู่หลงทางไปเข้าหมู่บ้านแม้วก่อมี กว่าจะตะกายภูเขาขึ้นมาหาทางถูกได้ก็แย่ไปตามๆกัน บางคณะจึงมาถึงยอดดอยเมื่อ 12.00 น.ผ่านไป พร้อมกับบอกว่าหลงทางไป เห็นบ้านแม้ว ไก่แม้ว หมูแม้ว คนแม้วไม่เห็นสักคนเลย

        ความเหน็ดเหนื่อยของเราหายไปแล้ว ทุกคนต่างภูมิใจว่า ตนเองสามารถปฏิบัติตาม รุ่นพี่ได้ “ถ้าจะเปรียบดอยปุยเสมือนหลังคาเวียงพิงค์ก็คงได้นะ คุณนะ” เพื่อนนักศึกษาคนหนึ่ง ถามเพื่อนนักศึกษาอีกคนหนึ่ง ในเมื่อมองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของเวียงพิงค์ทั้ง 36 ทิศ “เรามาอยู่บนที่สูงอย่างที่อยู่นี้ทําให้เห็นโลกกว้างขวางอย่างนี้สิคุณ จึงทําให้พวกเรามีใจกว้าง”

แหลมสนบนยอดดอยปุย

 

         พวกเราต่างรู้สึกหิวข้าวมื้อกลางวัน แต่ไม่มีน้ำ ปรึกษาอาจารย์จะทำกันอย่างไร? ตกลงว่าไปแสวงหาเอาข้างหน้าต่อไป จึงโฉมหน้าไปทาง “แหลมสน” ซึ่งมีต้นสนอยู่เรียงราย เป็นต้นสนอีกพันธ์ุ หนึ่งพบในตลาด มีผู้นำเอาเนื้อไม้มาขายทำเชื้อเพลิงและมีน้ำมันมาก ที่แหลมสนนี้เป็นยอดดอย ซึ่งมีอาณาเขตยื่นออกไปสู่ท้องทะเลจริงๆผิดกันว่าแหลมสนนี้มีความสูงยื่นออกไป มีหุบเขาสองข้างมองดู ระริบริ่ว ที่หุบเขาเบื้องล่างทั้งสองข้าง จะเห็นป่าที่ถูกตัดโค่น ต้นไม้ใหญ่ๆออกจนเตียน มีบ้านหลังเล็กๆปลูกอยู่เรียงราย นั่นแหละคือหมู่บ้านชาวแม้ว

         คณะเราพยายามไต่เขาอัน สูงชันลงไปสู่เบื้องล่าง มีแนวทางเล็กๆ ที่เป็นทางเดินของชนเผ่าชาวเขา พวกนี้แยกออกเป็นหลายเส้นหลายทาง ขณะนี้พวกเราเหมือนอะไรบอกไม่ถูกตํารวจชายแดนหรือ ? ไม่ใช่ เพราะ พวกเราไปอย่างเปิดเผย ไปอย่าง เป็นมิตรดีของทุกคน ทุกเผ่า มีความร่าเริงตลอดทาง คณะเราบางคน พูดแล้วเป็นได้ส่งสําเนียงทูตไปไต่ถาม แต่เจ้าของถิ่นกลับหายหน้าไปหมดทั้งคนแก่  หญิง ชาย เด็ก ชีวิตที่เราเห็นในกะท่อมไม้ ซึ่งผ่าเอามาจากท่อนซุงใหญ่ๆ หลังคามุงด้วยใบตอง ถึง ปลูกติดอยู่กับพื้นดิน มีแคร่สําหรับปูนอนเหนือพื้นดินราว 1 ศอก มีกองไฟในห้องเครื่องหุงต้มไม่กี่ชิ้น ไก่  หมู ปล่อยจากเล้าหมด นอกจากนี้ก็มีแต่ความเงียบเชียบ

อาหารกลางวันในไร่ฝิ่น

        เมื่อหมดหนทางจะพบเจ้าของถิ่นได้ จึงได้แต่มองนัยน์ตากันในระหว่างพวกของเราต่างโทษกันว่าอยากพากันมามากนักนี่ พวกเขาจึงหนีไปหมด ตกลงในที่สุดต้องยึดเอาเขตบ้านของใครไม่รู้ แต่เป็นแม้วแน่นอน มีลำธารไหลผ่าน มีแอ่งหินเล็กๆขังน้ำ น้ำช่างใสไหลรินๆน้อยๆ เห็นใบไม้ก้นบ่อชัดเจน จึงยึดเป็นสถานที่รับประทานอาหารกลางวัน ความเหน็ดเหนื่อย แปลกสถานที่อากาศเย็นสบาย อาการสําคัญยิ่งคือหิว จึงรับประทานอาหารได้ มากเป็นพิเศษ เมื่อเสร็จเรื่องอาหารก็พากันเดินชม “ไร่ฝิ่น, ไร่ใบชา, ไร่ข้าวโพด” ของแม้วต่อไป เฉพาะไร่ฝิ่นแม้วปลูกมากจริงๆ ยังมีลําต้นและผลของฝิ่น ซึ่งกําลังกรีดเอายางออก ไปใหม่ ๆ อยู่บางต้นมีดอก ดอกฝิ่นเป็นพันธุ์ไม้ที่สวย มีทั้งขาว แดง ชมพู แดง-ขาว ชมพู-ม่วง ฯลฯ

                          

ในไร่ฝิ่นบนดอยปุย

พวกแม้วที่ไร่ฝิ่น

         ขณะนั้นใครคนหนึ่งมองไปเห็นแม้ว 3 คน ยืนอยู่บนหุบเขา สูงของภูเขาอีกลูกหนึ่ง เขาเพิ่งโผล่ หน้าออกมาจากหมู่ไม้ แสดงว่าเขามองดูคณะเราอยู่นานแล้ว บางคนในคณะเราจึงโบกมือ แสดงวาทะศิลป์โอภาปราศรัยไป เป็นคำเมืองและคำแม้ว เป็นเครื่องแสดงว่าพวก เราเดินทางมาอย่างไมตรีจิตมิตรภาพเมื่อได้รับการมองตอบโดยที่พวกเขาไม่มีปืนหรือหน้าไม้  ใครใจกล้าก็เดินทางปีนป่ายขึ้นไปหาพร้อมกับร้องว่า “เสี่ยว  เสี่ยว  เสี่ยว  ”  เมื่อไปประจันหน้ากัน จึงรายงานตัวเขาว่า

        คณะเราเป็นนักเรียน ขึ้นมาในที่นี้เพื่อหาความรู้ ซึ่งไม่เคยรู้เพราะต้นไม้หลายชนิดบนยอดดอยนี้ ไม่มีให้พวกเราได้เห็นได้ศึกษา ตามพื้นที่ข้างล่างในบรรยากาศอันอบอวดด้วยกลิ่นไทยกับแม้วขณะนี้ คณะเราบางคนก็ยื่นของขวัญบางอย่างที่มีติดตัวมาให้แม้ว บางคนก็ยื่นบุหรี่เกล็ดทองให้แม้วสูบ พวกเขารับ ด้วยความเต็มใจ พร้อมกับแสดงความใจกว้างขวาง เอาตลับยาฝิ่น ซึ่งคาดติดอยู่กับเอวออกมาเปิดให้พวกเราลองชิมดู แต่ไม่มีใครที่จะกล้าหาญชาญกรรจ์ เข้าไปได้เพราะเป็น ห่วง ระยะ ทาง ที่ จะต้องเดินกลับ อันมีหุบเหวลึก ๆ รออยู่                            

ผักผ่อนก่อนเดินทางกลับ

       เมื่อได้ปฏิสัณฐานกับเจ้าของถิ่น ผู้มีอันจะมีเงินด้วยการทํา ( ฟาร์ม) ฝิ่นขาย จนล่วงเวลา 14.30 น. อาจารย์จึงนําคณะของเราเดินทางกลับ พวกเราเดินทางกลับด้วยอาการสบายกว่าตอนขึ้น เพราะเป็นที่ลาดต่ำตลอด แม้พวกเราจะจากมาด้วยบางคนครวญเพลงสากล อาลัย-แม้ว อาลัยยอดดอยปุย อาลัยพฤกษานานาชนิด แต่ความหวังอันรุ่งโรจน์ของคณะเรา รุ่นนี้ ก็ยังหวังว่ารุ่นน้องของเราในปีต่อ ๆ ไป คงต้องมายอดดอยปุยนี้ให้จงได้ เพราะดอยปุยจะเหมือนสัญญลักษณ์ที่ประกาศให้ตัวเองทราบอยู่ทุกขณะจิตว่า “ข้าพเจ้าอยู่แม่โจ้ ข้าพเจ้าผ่านยอดดอยปุยแล้ว” มีความสําเร็จในการศึกษาแล้ว เป็นที่ยอมรับการยกย่องจากบรรดาอาจารย์ และสถาบันของข้าพเจ้าแล้วว่า ได้ผ่านชีวิตอันแข็งแกร่งมาสมกับเป็นลูกผู้ชาย เป็นลูกชายของแม่โจ้คนหนึ่ง

        เรารีบรุด เดินทางอย่างมิหยุดหย่อน จากยอดดอยปุยผ่านยอดดอยอีกหลายยอด จนกระทั่งบรรลุถึงดอยสุเทพจึงยกมือขึ้นนมัสการองค์พระบรมธาตุ อธิษฐานจิตอันบริสุทธิ์ให้ทุกคนสอบไล่และจงเป็นคนดีของชาติชั่วอายุขัย แล้วอำลายอดดอยทั้งหลาย ที่ผ่านมาจวบจนถึงห้วยแก้วพร้อมกัน เมื่อเวลา 18.45 น. ที่ห้วยแก้วนี้มีรถยนต์ของวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่มารอรับเรากลับที่พัก แน่นอนละ ! คณะเราทุกคนนอนหลับสบาย และไม่ยอมฝันถึง เรื่องอะไรตลอดคืนนี้

                                          ถึงยอดดอยแล้วก็กลับ

แหล่งที่มา : หนังสือ “อนุสรณ์แม่โจ้ รุ่น 21″
ผู้เขียน : อุทัย สอนหลักทรัพย์ แม่โจ้รุ่น21