พระราชวงศ์กับพระช่วงเกษตรศิลปการ

Archives-Logo-2021-black-3500x1000

Maejo University Oral History

เรื่องราวเหตุการณ์ ประสบการณ์ คำบอกเล่า จากศิษย์เก่าแม่โจ้ เพื่อการเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้่

         เวลาไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็อยู่ แล้วท่านก็จะรู้จักอาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการ รู้ถึงเรื่องราวการสร้างแม่โจ้ เมื่อเริ่มแปรพระราชฐานมาที่พระตำหนักภูพิงค์ ราชนิเวศน์ ศิษย์แม่โจ้คนแรกที่ไปทำงานอย่างไม่เป็นทางการคือ ประสงค์ คงพิชญานนท์ แม่โจ้รุ่น 20 ไปปลูกกุหลาบเขาชอบปลูกกุหลาบตั้งแต่สมัยเขาเรียนสองคนกับผมซึ่งเป็นเพื่อนกัน เป็นลูกศิษย์ชุดแรกของอาจารย์ระพี สาคริก ซึ่งมาสอนกล้วยไม้ที่แม่โจ้ เขาทำต่อเนื่องเขาไม่เหมือนอย่างผมที่ทำๆ ทิ้งๆ ไม่เอานั่นไม่เอานี จับนู่นพอรู้เรื่องก็ทิ้ง ไม่เอาเบื่อง่ายอะไรอย่างนี้ ประสงค์เขาก็เลยได้ไปเป็นคนดูแลกุหลาบบนตำหนักภูพิงค์ แล้วก็ทำได้ดีด้วย 
         ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงท่านเสด็จพระราชดําเนิน ไปเยี่ยมราษฎรตามภูเขาต่างๆ และแปรพระราชฐานมาประทับที่ภูพิงค์นั้น พระองค์ท่านก็จะเชิญหัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ ขึ้นไป คุยหารือ ปรึกษาหารือ หนึ่งในนั้นก็มีอาจารย์บุญศรีอยู่ด้วย อาจารย์บุญศรีได้นั่งร่วมโต๊ะเสวยได้เรียกว่าใกล้ชิดนะ เพราะรัชกาลที่ 8 พระองค์ก็มิได้ถือตัวเหมือนกัน บางทีนั่งกินข้าวแมลงวันตอมบินมาจะเกาะอาหารที่โต๊ะรัฐมนตรี รัชกาลที่ 8 ยังยื่นมือไปปัดแมลงวันให้เลย อันนี้คุณปู่เล่าให้ฟังคุณปู่เป็นรัฐมนตรีนั่งร่วมโต๊ะเสวยอยู่กับรัชกาลที่ 8 แต่ท่านไม่ถือพระองค์ ซึ่งก็ทำให้ทุกคนก็รักพระเจ้าแผ่นดินว่าพระเจ้าแผ่นดินเราไม่ถือพระองค์ รัชกาลที่ 9 ท่านก็แสดงอะไรอย่างนี้ โดยเฉพาะกับแม่โจ้เพราะว่ามันมีความผูกพันสืบเนื่องตั้งแต่สมเด็จย่าแล้วก็สืบเนื่องต่อมาไม่ใช่แต่สมเด็จย่าอย่างเดียวจากเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์ ตั้งแต่หม่อมเจ้าสิทธิพร ไล่มาจนถึงรัชกาลที่7 เพราะระหว่างที่จบจากฟิลิปปินส์จะไปเรียนต่อที่อเมริกา สมัยนั้นมีสงครามทางรถก็ไม่สะดวกก็นั่งเรือไป เรือสมัยนั้นต้องเดินทางใช้เวลานานเป็นเดือน นั่งเรือไปเจอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กับชายา (หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์) ในเรือ ก็ร่วมกันอยู่ในเรือเดือนหนึ่ง คอยถือกล้องก็คอยติดตามรับใช้อยู่ พระองค์เจ้าก็ถามว่าจบจากฟิลิปปินส์เหรอ ก็เลยตั้งชื่อเล่นว่า “ตามนิลา”กลับมาคนที่เรียกตามนิลาก็ขึ้นมาเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมาธิราช แล้วก็ขึ้นเป็นรัชกาลที่7 เป็นรัชกาลที่7 แล้ว ในที่ประชุมเสนาอำมาตย์ พวกพระยา เจ้าพระยา นั่งอยู่ที่นั่น ตอนนั้นพระช่วงฯ ยังเป็นขุนอยู่ ยังไม่ได้เป็นคุณพระเลยนั่งอยู่ไกล รัชกาลที่7 นี่ก็ อ้าว! ตามนิลามานี่หน่อยสิหลายคนไม่รู้ตามนิลา ปรากฏว่าเป็นอาจารย์พระช่วงฯ นี่ท่านใกล้ชิด ท่านมาจนกระทั่งถึงขนาด รัชกาลที่ 7 เพราะอยู่ในเรือด้วยกันทั้งเดือน มีท่านกับพระนางรำไพพรรณีอยู่ในเรือ คอยตามรับใช้อยู่จนมาถึงสมเด็จย่าขึ้นมา รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์ อาจารย์พระช่วงฯ ก็ยังสอนอยู่เกษตรนี่ มีไข่ก็เอาไข่ไปถวายสมเด็จย่า รัชกาลที่ 8 รัชกาลที่ 9 ท่านก็เห็น อาจารย์บุญศรีก็ขึ้นไป เพราะมหาวิทยาลัยเกิดมาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานปริญญารุ่นแรกๆ มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประทับนั่งอยู่ข้างหลัง ซึ่งในปีนั้นถ้าใครจำได้ในหลวงพระองค์ท่านเสด็จพระราชดําเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแม่โจ้ที่อาคารแผ่พืชน์เสร็จประมาณสัก 5 โมงเย็นพระองค์ท่านเสด็จพระราชดําเนิน โดยขับรถยนต์พระที่นั่งเองไปที่บ้านโปงที่อยู่หลังแม่โจ้ ไปดูพื้นที่ไปเยี่ยมราษฎรและศึกษาข้อมูล จนกลายมาเป็นโครงการพัฒนาบ้านโปง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

ผู้ให้ข้อมูล: วุฒิ ชพานนท์ แม่โจ้รุ่น 22
ที่มา: หนังสือบันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน

สมเด็จย่า ในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 รู้จักอาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการในการพัฒนาเกษตรกรรมที่แม่โจ้ พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไม่ถือพระองค์ ทำให้เกิดความรักและความเคารพจากประชาชนและผู้ใกล้ชิด และเกิดโครงการพัฒนาบ้านโปงจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

เชิญชวนศิษย์เก่าแม่โจ้ ร่วมเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการบอกเล่าประสบการณ์จากอดีตที่ผ่านมาของท่านในแม่โจ้

สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลได้ที่ ฝ่ายจดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาคารวิภาต บุญศรี วังซ้าย

โทร. 0 5387 3508

หรือสามารถติดต่อได้ที่ Facebook: จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้