เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) สามารถพบได้โดยทั่วไป โดยจะดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์ และแหล่งอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อ โดยจะสร้างเส้นใยสีขาวและผลิตโคนิเดียหรือสปอร์ รวมเป็นกลุ่มสีขาว เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราที่ปฏิปักษ์ต่อเชื้อราอื่นที่เป็นสาเหตุของโรคพืชหลายชนิด โดยวิธีแทงรากเข้าสู่ภายในเส้นใยของเชื้อราชนิดอื่นแล้วแย่งกินอาหารของเชื้อราอื่น ๆ รวมถึงการปล่อยเอนไซม์หรือสารปฏิชีวนะเพื่อทำลาย และกินเชื้อราอื่นเป็นอาหาร นอกจากนี้พบว่าเชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถชักนำให้ต้นพืชสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคและโรคพืชต่าง ๆ ได้ดี
วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด)
- การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดคลุกเมล็ดพืช จะใส่เชื้อสดลงในถุงพลาสติกที่จะใช้คลุกเมล็ดในอัตราส่วน 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี บีบเชื้อสดให้แตกตัว เทเมล็ด 1 กิโลกรัมลงในถุงแล้วเขย่าให้เชื้อสดคลุกเคล้าจนติดผิวเมล็ด นำเมล็ดออกผึ่งลมให้แห้งหรือใช้ปลูกได้ทันที
- การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับน้ำ ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ 250 กรัม (เชื้อสด 1 ถุง) ต่อน้ำ 50 ลิตร ใช้น้ำเชื้อที่เตรียมได้ฉีดพ่นลงดินด้วยอัตรา 10-20 ลิตรต่อ 100 ตารางเมตรสำหรับขั้นตอน การใช้เชื้อสดผสมน้ำมีดังนี้
– นำเชื้อสดมา 1 ถุง (250 กรัม) เติมน้ำลงไปในถุง 300 มิลลิลิตร (ซีซี) หรือพอท่วมตัวเชื้อแล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกจนได้น้ำเชื้อสีเขียวเข้ม
– กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ ล้างกากที่เหลือบนกระชอนด้วยน้ำอีกจำนวนหนึ่งจนเชื้อหลุดจากเมล็ดข้าวหมด เติมน้ำให้ครบ 50 ลิตร ก่อนนำไปใช้
กรณีที่พืชกำลังเจริญเติบโตอยู่ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลง ในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร
ข้อดี
- สามารถลดกิจกรรมของเชื้อราสาเหตุของโรคพืช โดยสามารถพันรัดเส้นใยแล้วปลดปล่อยเอนไซม์ จากภายในของเส้นใย ส่งผลให้เกิดการเจริญของเส้นใยของเชื้อโรคลดลงอย่างมาก
- สามารถเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืชให้เร็วขึ้น ทำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อโรค
- ช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เร็วขึ้น
- ช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การงอกให้เมล็ดพันธุ์ และเป็นการป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกับเมล็ดพันธุ์ที่นำมาเพาะ
ข้อเสีย
- การใช้งานเชื้อราไตรโครเดอร์มาให้ได้ผล ควรใช้อย่างน้อยทุก 7-10 วัน สำหรับในพื้นที่ปลูกพืชเป็นประจำหรือพืชยืนต้น ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินให้มีอยู่ตลอดไป
- เชื้อราไตรโครเดอร์มาเป็นเชื้อราที่กินเชื้อราอื่นๆ เป็นอาหาร ดังนั้นควรงดใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มากับแปลงเพาะเห็ด (เนื่องจากเห็ดเป็นพืชอยู่ในกลุ่มราเช่นกัน)
- เชื้อราไตรโครเดอร์มา เป็นเชื้อราที่ไม่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะคน และสัตว์จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชปลอดสารพิษ
- ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อการป้องกันการเกิดโรคจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตะวัน ฉัตรสูงเนิน
อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ - นายธวัชชัย ชัยธวัชวิถี
นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ - นางสาวสุกัญญา ลางคุลานนท์
นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ