124, 125

เชื้อราเมธาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) คือ เชื้อราชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ลักษณะโดยทั่วไปของเชื้อราเมธาไรเซียม คือ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีสีเขียวหม่น พบทั่วไปในดิน สามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน ทำให้มีระยะการควบคุมได้นาน เป็นเชื้อราที่ไม่มีอันตรายต่อไส้เดือน สัตว์ต่าง ๆ และมนุษย์ อีกทั้งเป็นเชื้อราที่เพาะเลี้ยงได้ง่าย จึงนิยมนำไปใช้ในรูปแบบของสารชีวอินทรีย์ฆ่าแมลง
หลักการสำคัญ คือ เชื้อหรือสปอร์ต้องสัมผัสถูกตัวแมลงจึงจะสามารถเข้าไปในตัวแมลงและทำลายแมลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนอนด้วงหนวดยาว ด้วงแรด และปลวก ซึ่งอาศัยอยู่ในดิน จึงต้องหาวิธีที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของแมลงและสภาพพื้นที่ปลูกอ้อย สำหรับวิธีการที่ใช้เพื่อป้องกันในปัจจุบัน ได้แก่

วิธีการใช้เชื้อราเมธาไรเซียม (เชื้อสด)

  1. โรยหรือหว่านเชื้อ ก่อนเตรียมดินปลูกพืช ในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วรีบไถกลบฝังทันทีเพื่อไม่ให้แสงแดดเผาทำลายเชื้อรา
  2. ละลายเชื้อราเมธาไรเซียมให้ได้แต่สปอร์ แล้วผสมน้ำราดหรือฉีดพ่นลงไปในดิน โดยใช้เชื้อราเมธาไรเซียม 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ผสมสารจับใบหรือน้ำยาล้างจานเล็กน้อย เพื่อลดแรงตึงผิวของเชื้อราให้เข้ากับน้ำได้ดี นำไปราดหรือใส่เครื่องพ่นยา ฉีดพ่นลงดินและตามต้นพืช
ภาพแสดงการเจริญเติบโตของเชื้อรา เมธาไรเซียมบนอาหารแข็ง

ขั้นตอนการผลิตหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรียและเมธาไรเซียม

  1. ใช้ปลายเสาไห้ 2 ส่วนต่อน้ำ 1 ส่วน หุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า
  2. ตักข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ ใส่ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8*12 นิ้ว ถุงละ 2 ทัพพี (ประมาณ 150-200 กรัม) รีดอากาศออกจากถุงแล้ว พับปากถุงไว้ รอให้ข้าวอุ่น จึงเทหัวเชื้อราใส่ลงในถุงพลาสติก
  3. หลังใส่หัวเชื้อราแล้ว มัดปากถุงด้วยหนังยางให้แน่น (มัดให้สุดปลายถุง) เขย่าหรือขยำเบาๆให้หัวเชื้อคลุกเค้ากับข้าวสุกทั่วทั้งถุง ใช้ปลายเข็มเจาะถุงพลาสติกใต้หนังยางที่มัดเล็กน้อย ประมาณ 20 รูต่อถุง (เพื่อให้มีอากาศถ่ายเท เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อรา) แล้วแผ่ข้าวสุกให้แบนราบ
  4. บ่มเชื้อไว้ในที่มีอากาศถ่ายเท มีแสงสว่างส่องถึง ไม่ตากแดด ปลอดภัยจากมด ไร และสัตว์อื่นๆ เมื่อครบ 2 วันขยำถุงเบาๆ เพื่อให้เส้นใยของเชื้อกระจายทั่วทั้งถุง บ่มถุงเชื้อต่ออีก 4-5 วันก่อนนำไปใช้ เมื่อบ่มเชื้อครบ 7 วันแล้ว ถ้ายังไม่ใช้ต้องเก็บถุงเชื้อไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 30 วัน
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ตะวัน ฉัตรสูงเนิน
    อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีชีวภาพทางอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
  • นายธวัชชัย ชัยธวัชวิถี
    นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ
  • นางสาวสุกัญญา ลางคุลานนท์
    นักวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ