17, 31, 32, 33

 

รายละเอียด

ความจำเป็นของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

สาเหตุประการหนึ่งของปัญหาหมอกควันพิษที่เกิดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยของทุกปี ก็คือการเผาทำลายเศษพืชที่เหลือจากการเกษตรกรรม เช่น เปลือกและซังข้าวโพด เศษใบไม้ และฟางข้าว เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรไม่มีทางเลือกที่เหมาะสมในการจัดการเศษพืชปริมาณมากที่เกิดขึ้น ในขณะที่การนำเศษพืชมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก็มีปัญหาการต้องพลิกกลับกองปุ๋ยที่สิ้นเปลืองเวลาและแรงงาน การเผาทำลายเศษพืชจึงยังเป็นวิธีการจัดการเศษพืชที่ง่ายที่สุดของเกษตรกรที่ผ่านมา

ในการเพาะปลูกของเกษตรกรสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญที่สุดคือความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินจะได้มาจากการที่มีอินทรีย์วัตถุสะสมอยู่ในดินอยู่มาก จุลินทรีย์ดินจะใช้อินทรีย์วัตถุเป็นสารอาหารแล้วปลดปล่อยแร่ธาตุที่จำเป็นให้แก่พืชในปริมาณที่พืชต้องการอย่างเพียงพอ ซึ่งได้แก่ ธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน-N ฟอสฟอรัส-P2O5 และโพแทสเซียม-K2O) ธาตุอาหารรอง (กำมะถัน แคลเซียม และแมกนีเซียม) และจุลธาตุ (แมงกานีส ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก และสังกะสี) ซึ่งโดยปกติแล้วดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดินก็คือไส้เดือน เราจึงมักจะพบว่าดินดำในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงที่สามารถปลูกพืชได้ทุกชนิดโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีใด ๆ จะมีไส้เดือนอยู่มาก

นอกจากนี้ ในอดีตก่อนที่จะมีการผลิตปุ๋ยเคมีขึ้นในโลก เกษตรกรในประเทศไทยก็ได้มีการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินในการเพาะปลูกโดยการใช้มูลสัตว์ต่าง ๆ เช่น มูลโค มูลกระบือ และมูลไก่ เป็นต้น ประเทศไทยในขณะนั้นสามารถส่งออกข้าวเป็นที่ 1 ของโลกมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่ไม่มีปุ๋ยเคมีใช้

แต่ปัจจุบัน ภายหลังจากการ “ปฏิวัติเขียว” หรือการนำปุ๋ยเคมีเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2503 การเกษตรกรรมของไทยก็ได้ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าหญ้าอย่างหนัก โดยลืมที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างแต่ก่อน การใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าหญ้าอย่างยาวนาน 40 – 50 ปี ได้ทำให้ดินเพาะปลูกเสื่อมสภาพลงอย่างมาก กลายเป็นดินที่แน่น แข็ง และเป็นกรด รากพืชไม่สามารถชอนไชหาอาหารได้ดี ความเป็นกรดของดินทำให้เกิดการละลายของธาตุอะลูมิเนียมออกมาแล้วดูดซึมเข้าทางรากพืช ทำให้พืชไม่แข็งแรงกลายเป็นโรคง่าย เกษตรกรจึงต้องใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเพิ่มมากขึ้นทุกปีทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และในขณะเดียวกัน การเผาทำลายเศษพืชในแต่ละครั้งก็ส่งผลให้อินทรีย์วัตถุและจุลินทรีย์ดินที่มีอยู่น้อยพลอยสลายตัวหายไปอีก

เพื่อให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับคืนมาเกษตรกรจึงควรงดการเผาเศษพืช และนำเศษพืชมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีแล้วนำไปปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุและความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ที่จะส่งผลให้การใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีลดลง ซึ่งหมายถึงต้นทุนการผลิตก็จะลดลง มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผลกำไรมากขึ้นตามไปด้วย ดินเพาะปลูกจะกลับมาเป็นดินดำที่ฟู นุ่ม โครงสร้างเม็ดดินจะร่วนซุยขึ้น มีไส้เดือนกลับคืนมาที่ช่วยการชอนไชของรากพืช พืชก็จะกลับมาแข็งแรง เกษตรกรและประชาชนจะมีสุขภาวะที่ดีจากการลดปัญหาหมอกควันพิษจากการเผาและลดการใช้สารเคมี

 

ผู้รับผิดชอบ

 

หัวหน้าทีมวิจัย

ผศ.ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร

สมาชิกทีมวิจัย

ผศ.ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร
อ.รชฎ เชื้อวิโรจน์
อ.แสนวสันต์ ยอดคำ

ข้อมูลการติดต่อ

คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
โทร 086 917 4846
E-mail: teerapongs@mju.ac.th

เข้าสู่เว็บไซต์