ฐานข้อมูลสมุนไพรกัญชง มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Hemp Maejo University

เฮมพ์ (Hemp) หรือ กัญชง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียกลาง และได้แพร่กระจายไปทั่วโลก เฮมพ์เป็นพืชเส้นใยชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนานหลายพันปี มีการนำเอาส่วนต่างๆ ของเฮมพ์มาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น เส้นใยมาทำเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า กระดาษ เมล็ดบีบเอาน้ำมันที่มีคุณภาพดี ที่มีโอเมก้า 3 และ 6 มีการนำส่วนต่างๆ มาใช้ในทางการแพทย์ เป็นต้น ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เฮมพ์ได้ถูกลดบทบาทและความสำคัญลง เนื่องจากมีเส้นใยสังเคราะห์มาทดแทนเส้นใยธรรมชาติอย่างเฮมพ์ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเฮมพ์ทั่วโลกลดลง ประเทศที่มีการปลูกเฮมพ์ที่สำคัญได้แก่ เกาหลีเหนือ จีน รัสเซีย ฝรั่งเศส ชิลี และยูเครน ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปได้กำหนดให้เฮมพ์ต้องมีปริมาณสารเสพติด (THC) ต่ำกว่า 0.3% ดังนั้นในปัจจุบันยุโรปจึงมีการเพาะปลูกเฮมพ์เพื่อใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมกันอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เฮมพ์ในประเทศไทยนั้น ได้ปลูกโดยชาวเขาเผ่าม้งบนพื้นที่สูงมาอย่างยาวนาน ดังจะเห็นว่าชุดประจำเผ่าของชนเผ่าม้งดั้งเดิมทำมาจากเฮมพ์ แต่เนื่องจากตามกฏหมายของประเทศไทย เฮมพ์ถูกจัดให้เป็นพืชเสพติดเช่นเดียวกับกัญชา ดังนั้น การปลูกเฮมพ์ของชาวเขาช่วงนั้นจึงเป็นการลักลอบปลูก ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงสนพระทัยผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการศึกษาการเพาะปลูกเฮมพ์อย่างจริงจังในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ในปี 2549-2552 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สนับสนุนงบประมาณให้มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ศึกษาวิจัยในหัวข้อต่างๆ เช่น การปลูกและดูแลรักษาที่ดี การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเฮมพ์ การตลาดเฮมพ์ รวมถึงการพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับสนับสนุนการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงของประเทศไทย แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน จึงพบว่าสภาพแวดล้อมเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกเฮมพ์มาก โดยเฉพาะการปลูกให้ได้ THC ต่ำกว่า 0.3% อย่างไรก็ตามโครงการหลวงได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องพันธุ์เฮมพ์ในประเทศไทย ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์เฮมพ์จนสำเร็จโดยใช้วิธีการคัดเลือกรวม (mass selection method) ได้เฮมพ์พันธุ์ดีจำนวน 4 พันธุ์ คือ RPF 1, RPF 2, RPF 3 และ RPF 4 สำหรับนำไปใช้เป็นพันธุ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการหลวงจะเห็นได้ว่ามีความก้าวหน้าไปมาก มีองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัย จากการปฏิบัติงาน ที่เพียงพอสำหรับผลักดันให้มีการปลูกเฮมพ์ได้ในเมืองไทย และโครงการหลวงได้ให้ความสำคัญกับเฮมพ์ซึ่งเป็นพืชที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งสำหรับส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูงต่อไป

เข้าสู่ฐานข้อมูล

10, 15, 51

Leave a Reply