ฐานเรียนรู้พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตรไทยและศูนย์เรียนรู้อัตลักษณ์วิถีเกษตรวิถีแม่โจ้

ฐานเรียนรู้พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตรไทย

อาคารหลังนี้ เมื่อ พ.ศ.2510 เคยเป็นสถานที่ถวายการต้อนรับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในหลายวาระโอกาส ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จที่บ้านพักหลังนี้ด้วย ในหลายวาระโอกาส รวมทั้งส่วนพระองค์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เคยตรัสกับอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย ว่า “บ้านหลังนี้ดีนะ อยากให้เก็บรักษาไว้ อย่ารื้อทิ้งนะ”

อาคารพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตรไทย แต่เดิมเป็นบ้านพักอาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2488 ในสมัยอาจารย์พนม สมิตานนท์ เป็นผู้อำนวยการ ภายหลังที่ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีคนแรกได้เกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2526 อธิการบดีคนต่อมาไม่ได้เข้าพักอาศัยเนื่องจากมีที่พักอยู่แล้ว บ้านหลังนี้จึงว่างเปล่าไร้ผู้อาศัย จวบจนปี พ.ศ.2542 สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดหาเงินทุนเข้าดำเนินการปรับปรุง โดยสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีความเห็นร่วมกันในการอนุรักษ์บ้านหลังนี้ไว้ตามที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ตรัสไว้กับอาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย โดยจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตรไทย และเมื่อปรับปรุงเสร็จแล้วมีพิธีเปิดในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2543

ปัจจุบัน

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม โดยงานพิพิธภัณฑ์การเกษตรและวัฒนธรรมไทย ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการบริหารและจัดการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมการเกษตรไทย สืบต่อจากสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ และกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารกลางแจ้ง ได้แก่ อาคารเรือนพักแม่โจ้ จำลอง พ.ศ.2480 อาคารเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร อาคารบ้านล้านนา อาคารเก็บวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร ปรับปรุงระบบไฟฟ้า ทางเดินคอนกรีตเชื่อมทุกอาคาร รวมทั้งปรับปรุงสนามหญ้าและภูมิทัศน์ ในพื้นที่ 5.17 ไร่ (8,725 ตารางเมตร)

นิทรรศการภายในอาคารหลัก

ส่วนแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และพระราชวงศ์กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ส่วนที่ 2 เรื่องราวประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และอาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ อธิการบดี

ส่วนที่ 3 สิ่งของ สัญลักษณ์ ความเป็นอัตลักษณ์ของแม่โจ้

ส่วนที่ 4 ห้องแสดงสิ่งของส่วนตัวพระช่วงเกษตรศิลปะการ

ส่วนที่ 5 ห้องแสดงสิ่งของส่วนตัวศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย

ข้อมูลการติดต่อ

facebook


Comments

Leave a Reply