ประวิติความเป็นมา
ในปี 2548 องค์กรความร่วมมือทางวิชาการเยอรมัน (GTZ) ได้เข้ามาปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยโดยมี ผศ. พาวิน มะโนชัย เป็นผู้ประสานงาน จะช่วยจัดตั้ง หน่วยให้บริการที่ปรึกษาและจัดการสวนลำไย ( Farm Management Service, FMS) เพื่อให้บริการ เนื่องจากกับเกษตรกร เนื่องจากศึกษาข้อมูลแล้วพบว่านักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีองค์ความรู้ในด้านการผลิตลำไยเกือบครบวงจร และผลงานการวิจัยที่ได้ถ่ายทอดออกไปสู่ชุมชนมีผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการผลิตลำไยอย่างชัดเจน ทำให้ในเบื้องต้นมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงจัดตั้งหน่วยให้บริการที่ปรึกษาสวนและจัดการสวนลำไย หรือ FMS โดยทุนสนับสนุนจาก GTZ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 โดยมีสำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่ที่อาคารปฏิบัติงานสาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงาน 1 คน และนักวิชาการ 1 คนเป็นลูกจ้างชั่วคราวโดยได้รับทุนสนับสนุนจาก GTZ
การดำเนินงานของหน่วย FMS ในเบื้องต้นเน้นที่การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการให้บริการเชิงธุรกิจกับหน่วยงานหรือเกษตรกรที่สนใจเป็นหลัก ในขณะเดียวกันเมื่อปี 2548 กลุ่มคนทำงานวิจัยด้านลำไย โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยฯ คือ ผศ. พาวิน มะโนชัยเป็นผู้รับผิดชอบได้จัดงาน “แม่โจ้: ศาสตร์แห่งลำไย” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วมหาวิทยาลัย นับเป็นงานที่แสดงถึงศักยภาพและองค์ความรู้ในเรื่องลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้เป็นอย่างดี จึงได้มีการเสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในการจัดตั้งเป็นศูนย์ฯ ลำไย ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยได้มีมติให้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้” ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 8/2549 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2549 โดยมี ผศ. พาวิน มะโนชัย เป็นผู้อำนวยการคนแรก มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีโดยในเบื้องต้น ศูนย์ฯ ได้ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในหน่วยงานในกำกับที่มีการบริหารงานแบบวิสาหกิจ มีหน้าที่หลักในการดำเนินงานด้านประสานงานวิจัยด้านลำไย และการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและหารายได้เพื่อบริหารงานเอง เนื่องจากสำนักงานเก่าคับแคบและไม่สะดวกกับผู้มาติดต่องาน จึงได้ไปขอความอนุเคราะห์ใช้ห้องของฝ่ายส่งเสริมการเกษตร ในอาคารธรรมศักดิ์มนตรี จากสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร (ขณะนั้น ผอ. คือ รศ. นิพนธ์ ไชยมงคล) ตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน
ต่อมา รศ. นิพนธ์ เกษียณอายุราชการ และ ผศ. พาวิน ได้ขึ้นรับตำแหน่ง ผอ. แทนจึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้บริหาร 2 ตำแหน่งได้ มติที่ประชุมกรรมการศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551 จึงได้เสนอแต่งตั้งให้ ผศ. ดร. ธีรนุช เจริญกิจ เข้าดำรงตำแหน่ง ผอ. ศูนย์ฯ เป็นคนที่สอง ตั้งแต่ นั้นจนถึงปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ จึงมีความใกล้ชิดผูกพันกับสำนักวิจัยฯ เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะถือว่า ผศ. พาวิน ซึ่งเป็น ผอ. สำนักวิจัยฯ คนปัจจุบัน (2553) เป็นบุคคลสำคัญในการริเริ่มจัดตั้งศูนย์ฯแล้ว ลักษณะงานที่ศูนย์ฯ รับผิดชอบยังคล้ายคลึงและต้องประสานงานกันด้วย ไม่เพียงแต่เหตุผลด้านการงานเท่านั้นที่ใกล้ชิด แต่รวมถึงเรื่องสถานที่ตั้งที่ต้องไปขอความอนุเคราะห์อีกต่างหาก
หลังการบริหารงานที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินงานในลักษณะวิสาหกิจ เพื่อหารายได้ ไม่ใช้งานที่ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้จะสามารถทำงาน เพราะเนื้องานหลักๆ เป็นด้านวิชาการมากกว่า 80% ในการประชุมทบทวนนโยบายของสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมจึงมีมติเสนอให้ทางศูนย์ฯ จัดอยู่ในกลุ่มงานที่เรียกว่า “ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ” หรือ Excellence Centre ซึ่งเน้นงานทางด้านวิชาการเป็นหลัก และทางมหาวิทยาลัยจะต้องสนับสนุนในการดำเนินงานต่อไป
ข้อมูลการติดต่อ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไย ร่วมกับศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้-สกว
ชั้นที่ 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
63 หมู่ 4 ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290
โทรศัพท์ : 053-873425 และ 053- 499218 โทรสาร : 053-499218
เว็บไซต์ : www.longancenter.mju.ac.th
E-mail : mjulongan@gmail.com
facebook
Leave a Reply