ผึ้งโก๋น (ผึ้งโพรง) แมลงตัวจิ๋ว ผู้รังสรรค์ธรรมชาติให้สมบูรณ์


      ผึ้ง… แมลงตัวจิ๋ว แต่มีความมหัศจรรย์และสร้างสรรค์โลกให้อุดมสมบูรณ์ แบ่งปันความสุขให้โลกมาหลายสหัสวรรษ มนุษย์รู้จักผึ้งมานานกว่า 7,000 ปีแล้ว โดยใช้ประโยชน์จากผึ้งในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร อันเป็นผลงานของผึ้ง ที่ช่วยผสมเกสรให้พืชนานาชนิดมีลูกผลดก และขยายพืชพันธุ์ออกไปได้มากมาย อีกทั้งใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งในการถนอมอาหาร ด้วยวิธีดองอาหารหรือทานสด ๆ ก็ได้คุณประโยชน์มหาศาล นอกจากนี้ยังใช้น้ำผึ้งช่วยดูแลในเรื่องความงามอีกด้วย

          ตามธรรมชาติผึ้งอาศัยอยู่ตามโพรงไม้หรือกิ่งไม้  ส่วนผึ้งเลี้ยง (ผึ้งโก๋น) ก็อยู่ในรังในหีบเลี้ยง (โก๋น) ที่คนสร้างให้เพื่อความสะดวกในการเก็บน้ำผึ้ง ในรังผึ้งใหญ่ ๆ อาจมีผึ้งถึง 30,000 ตัว ผึ้งจัดเป็นแมลงสังคมที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยมีจ่าฝูงคือผึ้งนางพญาที่คอยดูแลควบคุมประชากรผึ้งภายในรัง ในหนึ่งรังจะมีประชากรผึ้งอยู่ราว ๆ 5,000-30,000 ตัว/รัง ผึ้งทั้งหมดในหนึ่งรังมาจากผึ้งนางพญาตัวเดียวกันทั้งหมด  ดังนั้นในรังผึ้งก็เปรียบได้เป็นครอบครัวขนาดมหึมาทีเดียว และสามารถแบ่งวรรณะตามหน้าที่ได้ 3 หน้าที่ ดังนี้

1. ผึ้งนางพญาเป็นผู้ปกครองอาณาจักรรังผึ้ง ทำหน้าที่สร้างประชากรโดยสามารถวางไข่ได้ทีละเป็นพันฟอง ผึ้งนางพญามีขนาดตัวใหญ่กว่าผึ้งงาน มีอายุประมาณ 1 – 2 ปี

2. ผึ้งงานจะเป็นหมัน ผึ้งงานทำหน้าที่ทุกอย่างในรังผึ้งเช่น ดูแลทำความสะอาด ซ่อมแซมรังป้องกันศัตรู หาอาหาร และป้อนอาหารให้ตัวอ่อน ผึ้งนางพญา รวมทั้งผึ้งตัวผู้ด้วย ผึ้งงานทุกตัวทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นักวิทยาศาสตร์พบว่าผึ้งงานมีสารพันธุกรรมที่ควบคุมพฤติกรรมการทำงาน ทำให้ผึ้งงานทำหน้าที่เฉพาะด้านต่าง ๆ ภายในรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผึ้งงานมีขนาดเล็กกว่าผึ้งนางพญา มีอายุประมาณ 2 เดือน

3. ผึ้งตัวผู้มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน หาอาหารเองไม่ได้  มีหน้าที่ผสมพันธุ์เท่านั้น  เมื่อผสมพันธุ์แล้วก็ตกลงมาตาย ส่วนผึ้งตัวผู้ที่ไม่ได้ผสมพันธุ์จะถูกปล่อยให้อดอาหารตาย ดังนั้น จึงพบผึ้งตัวผู้เฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น

       ผึ้งทั้งสามประเภท คือ ผึ้งงาน ผึ้งนางพญา และผึ้งตัวผู้ต่างก็ทำตามหน้าที่ได้อย่างมีระเบียบ ทำให้ผึ้งสามารถสร้างรังและสะสมอาหารได้มากอย่างน่าพิศวง ทั้งที่ผึ้งเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ แต่สามารถสร้างน้ำผึ้งให้มวลมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

(ภาพโก๋นผึ้งตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ในภาพจะเป็นโก๋นไม้ที่ทำมาจากลำต้นตาล มีอายุราว ๆ 10 ปี)

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับโก๋นผึ้ง

         จากบทสัมภาษณ์ของผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น (คุณลุงสุข สมบูรณ์ชัย อายุ 79 ปี บ้านศรีดอนชัย หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน) ได้ให้ข้อมูลว่า สมัยที่คุณลุงยังเด็ก ราว ๆ ปี พ.ศ. 2494 เห็นพวกผู้ใหญ่นำจักสานทรงกระบอกลักษณะยาว ๆ สานด้วยไม้ไผ่ ทาด้วยมูลวัวจนทั่วตัวจักสาน คุณลุงแปลกใจ เลยเข้าไปถามผู้ใหญ่ว่า “ลุง ๆ ยะหยังกั๋นน่ะ แป๋งหยังอยู่ครับ” ลุงผู้ใหญ่เลยบอกไปว่า “แป๋งโก๋นผึ้ง ล่ะอ่อนจะไปไปใกล้ ไปเล่นไกล๋ ๆ” คุณลุงสุขเล่าว่าในสมัยนั้น ไม่ค่อยมีใครนิยมเลี้ยงผึ้ง เนื่องจากกลัว เพราะผึ้งเป็นแมลงที่มีพิษ เมื่อถูกต่อย จะมีความรู้สึกคล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกปวด ร้อน หรือคันบริเวณที่เกิดเป็นตุ่มบวมขึ้นมา มีเพียง 2-3 คนที่เลี้ยงผึ้งจริง ๆ และจะเลี้ยงไว้บนห้างหรือเลี้ยงไว้ที่สูง ๆ เพื่อป้องเด็กซุกซนละแวกใกล้เคียงมาเข้าใกล้ได้ เพราะกลัวจะเกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นแก่เด็กหากเพราะเพียงแค่สงสัยด้วยความไร้เดียงสาของเด็ก ชาวบ้านสมัยนั้นทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก เช่น ทำสวนลำไย ทำไร่ ทำนา เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย รับจ้างต่าง ๆ งานอะไรก็ตามที่สามารถหยิบจับเป็นเงินได้ เพราะช่วงนั้นคือว่ายากจนข้นแค้นกันมาก ในวัยที่คุณลุงสุขเป็นเด็ก ๆ ไม่ได้อยู่สุขสบายเฉกเช่นปัจจุบัน ต้องคอยหุงหาอาหารช่วยพ่อแม่ในทุก ๆ ยามไม่ให้ต้องเสียเวลาหรือว่างมือ การเลี้ยงผึ้งสมัยก่อน ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องผึ้งเลยสักนิด แต่อาศัยการลองผิดลองถูก อาศัยการสังเกตพฤติกรรมของผึ้งเสียมากกว่า ว่าผึ้งชอบรังรูปแบบไหน สภาพแวดล้อมแบบใด ชาวบ้านถือว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนกับผึ้ง

(คุณลุงสุข  สมบูรณ์ชัย อายุ 79 ปี)

 

การนำผึ้งออกหรือตีรังเพื่อเก็บน้ำผึ้ง ในอดีตชาวบ้านตามชนบท ไม่มีความรู้จริง ๆ ในเรื่องการเข้าหาผึ้ง หรือการเก็บน้ำหวาน อาศัยการลองผิดลองถูกเสียส่วนใหญ่ และมักจะเก็บน้ำผึ้งตอนพลบค่ำ บางบ้านใช้กาบมะพร้าวจุดไฟให้เกิดควันเพื่อรมรังผึ้ง ให้บรรดาเหล่าผึ้งมึนเมาก่อนที่จะเก็บน้ำหวาน บางบ้านใช้วิธีอมน้ำแล้วพ่นใส่ฝูงผึ้งในรังให้ปีกของพวกมันเปียก แล้วค่อย ๆ ใช้มือ ปัดตัวผึ้งออก จึงจะสามารถจัดการเก็บน้ำหวานได้ และแน่นอนการเก็บน้ำผึ้งด้วยวิธีนี้ นักรบย่อมมีบาดแผล หลังสงครามจบเหล่าบรรดาผึ้งได้มอบของฝากไว้ให้เพื่อเตือนใจคือ อาการบวมคัน นั่นเอง!!! (ปัจจุบันจะนิยมเก็บน้ำผึ้งตอนกลางวันและสวมชุดป้องกันผึ้งต่อย เพราะง่ายต่อการมองเห็นและความสะดวก) ผู้ที่กำลังเก็บน้ำผึ้งสมัยก่อน จะเก็บน้ำผึ้งเวลาพลบค่ำแทบจะส่วนใหญ่ เนื่องจากกลัวผึ้งไปต่อยเด็ก ๆ หรือชาวบ้านบริเวณใกล้ ๆ กลัวจะสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง และอีกประเด็นคือไม่อยากให้ชาวบ้านที่สัญจรไปมากล่าวทักด้วยถ้อยคำที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับผู้กำลังเก็บน้ำผึ้งคือ “ระวังผึ้งต่อยเน่อ” (ระวังผึ้งต่อยนะ) ซึ่งเป็นคำที่ผู้เลี้ยงผึ้งสมัยนั้นค่อนข้างถือเรื่องคำพูดหรือวาจาของคนรอบข้าง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาพูดเตือนด้วยความเป็นห่วง แต่ก็อดกลัวไม่ได้ว่าจะเป็นจริงดังคำที่คนผู้นั้นกล่าวทักไป และหากผึ้งรังใดต่อยพวกชาวบ้าน หรือเด็ก ๆ เจ้าของรังผึ้งนั้นจะต้องทำลายทิ้งเสียทันทีหลังจากที่ได้น้ำผึ้งเรียบร้อยแล้ว โดยการทิ้งลงน้ำหรือเผาทำลาย

 

(ภาพการเก็บน้ำผึ้งสมัยปัจจุบัน ที่มีการสวมใส่ชุดประดิษฐ์เพื่อป้องกันผึ้ง)

 

(ภาพรวงผึ้งก่อนที่จะนำไปคั้นเอาน้ำผึ้ง)

 

(ภาพน้ำผึ้งที่คั้นแล้วและบรรจุใส่ภาชนะ)

 

การจับผึ้งเพื่อเลี้ยง จะไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือเหมือนกับยุคนี้ สมัยก่อนนั้น ผู้ชื่นชอบการเลี้ยงผึ้งจะรอเวลาที่ผึ้งสำรวจหารัง ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถสังเกตได้ว่าผึ้งแบบไหนคือกำลังหารัง โดยดูจากพฤติกรรมของผึ้งที่มักจะบินวนไปวนมาบริเวณกองไม้ ฝาบ้าน และโก๋นผึ้งที่ตั้งไว้ ลักษณะการบินของผึ้งที่กำลังหารังใหม่จะบินอย่างเชื่องช้า ขาหย่อน หัวตั้ง ราวกับว่ากำลังสนใจกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าอย่างใจจดใจจ่อ บินไปทางโน้นที บินมาทางนี้ที อย่างไม่สนใจสิ่งอันตรายใด ๆ มีผึ้งบางตัวมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดมากกว่านั้น คือ บินตอมใบหน้า จมูก และหูของคน บางคนนึกรำคาญขึ้นมาก็พากันโบกมือปัดไล่ไป ๆ มา ๆ จนลืมตัวไปว่านั้นคือผึ้ง มิใช่แมลงวันเลย ผู้เลี้ยงผึ้งเชื่อว่า ผึ้งที่มีพฤติกรรมบินตอมวกวนอยู่กับคนใดคนหนึ่งก็ตาม แสดงให้เห็นว่าผึ้งตัวนั้นมีความต้องการถิ่นที่สร้างรังใหม่มากที่สุด โอกาส 90-100% เลยทีเดียว ผู้เลี้ยงผึ้งจะใช้ผ้าขาวบาง หรือถุงผ้าเพื่อจับผึ้งที่กำลังหารัง และนำไปใส่ในโก๋นที่ชาวบ้านเตรียมไว้ พอใส่ผึ้งเข้าในโก๋นแล้ว ใช้ผ้าปิดรูทางเข้าออกโก๋นให้ผึ้งสำรวจอยู่ข้างในประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงปล่อยผึ้งออกไปให้หาพรรคพวกของมัน 10 – 30 นาทีต่อมา ผึ้งตัวที่จับจะพาพรรคพวกประมาณ 10 – 20 ตัวเพื่อช่วยกันตรวจตราว่าเป็นที่พอใจไหม และเหล่าผึ้งตรวจตราจะใช้เวลาอีกราว ๆ 2 – 5 ชั่วโมง เพื่อพากันไปบอกพรรคพวกทั้งหมดมาสร้างถิ่นใหม่ แต่หากผึ้งบางกลุ่มพากันโหวตไม่ชอบใจ ก็พากันหนีไปซะดื้อ ๆ ยุคสมัยเปลี่ยนแต่พฤติกรรมของผึ้งไม่เคยเปลี่ยน เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ประชากรของผึ้งมีจำนวนลดลงอย่างเท่าตัว เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมีมาก และมีการถางป่าเพื่อปลูกเป็นที่อยู่อาศัยบ้าง ทำไร่ไถนาบ้าง ทำสวนลำไย และอื่น ๆ เยอะขึ้น ผึ้งจึงขาดที่อยู่อาศัย และตายเพราะสารเคมีที่ชาวบ้านใช้กัน จึงทำให้ผู้เลี้ยงผึ้งบางกลุ่ม คิดหาวิธีเลี้ยงผึ้งโก๋น (ผึ้งโพรง) ให้ได้ผลดีที่สุด โอกาสการหนีน้อยที่สุด คือการบังคับผึ้งให้อยู่ในรังที่ผู้เลี้ยงสร้างขึ้นมาเอง และเพาะนางพญาผึ้งขึ้นมาเอง เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มประชากรผึ้งให้ได้ผลดีที่สุด

(ภาพฝูงผึ้งที่กำลังจะเข้าโก๋นใหม่ ที่ผู้เลี้ยงผึ้งเตรียมไว้)

(ภาพฝูงผึ้งที่กำลังจะเข้าโก๋นใหม่ ที่ผู้เลี้ยงผึ้งเตรียมไว้)

 

สรรพคุณทางยาและการรักษา

         ชาวบ้านในละแวกบ้านของคุณลุงสุข สมบูรณ์ชัย เชื่อกันว่า เวลามีอาการปวดท้องหรือท้องเสีย ให้นำน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับยาแก้ปวดหัวยาว มาทาน อาการก็จะดีขึ้นอย่างราวกับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ซึ่งคุณลุงสุขก็ยืนยันว่าหายจริง และอีกความเชื่อหนึ่งในเรื่องทางยา คือ การนำน้ำผึ้งมาใช้ในการดองศพเพื่อไม่ให้เน่าเสีย โดยมีขั้นตอนการดองคือ นำน้ำผึ้งประมาณ 2 ขวด (ขวดขนาด 700 มิลลิลิตร) บรรจุเข้าในปากของศพ ให้ไหลลงไปในร่างศพอย่างช้า ๆ จะบรรจุเฉพาะศพที่ร่างยังไม่แข็งตัวเท่านั้น หากศพที่ร่างแข็งตัวแล้วนั้น น้ำผึ้งจะไม่ไหลลงไปในอวัยวะภายใน คุณลุงสุขยังให้ข้อมูลว่าชาวบ้านในสมัยก่อนนั้นไม่รู้สรรพยาคุณทางยามากนัก จึงไม่ค่อยมีใครนำมาทำยา หรือรักษาเหมือนเช่นปัจจุบันนี้

 

ทางความเชื่อ

         ชาวบ้านมีความเชื่อที่ถือต่อ ๆ มาว่า ผึ้งเปรียบเสมือนเจ้าที่เจ้าทางที่คอยปกปักรักษาชาวบ้าน บ้านใดมีผึ้งมาทำรังอยู่อาศัยก็จะนำพาความสงบร่มเย็นมาให้บ้านนั้น ๆ กล่าวคือ เป็นกุศโลบายของผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยก่อน เพื่อไม่ให้เด็กๆ ละแวกนั้นเข้ามาใกล้บริเวณที่เลี้ยงผึ้งเนื่องจากผึ้งอาจทำอันตรายแก่เด็ก ๆ ได้ ส่วนในเรื่องที่ว่าผึ้งทำรังบ้านผู้ใด ก็จะนำพาความสงบร่มเย็นมาให้ เปรียบคือ ผึ้งคือผู้สร้างผลผลิตทางการเกษตร จึงส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรของผู้ที่มีผึ้งมาสร้างรังที่บ้าน ได้ผลพลอยได้ไปด้วย เกิดรายได้ทางการเกษตรที่มากขึ้น จึงเกิดความสงบร่มเย็น และความสุขก็ตามมา

 

ผู้ให้ข้อมูล : คุณลุงสุข  สมบูรณ์ชัย
เรียบเรียงโดย : อริสมันต์  แสนอุโมงค์
ภาพถ่าย : อริสมันต์  แสนอุโมงค์