พิธีกรรมเดปอทู่


เดปอทู่เป็นความเชื่อและเป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าปกาเกอะญอ บ้านห้วยผักกูด ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เชื่อมความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คนกับธรรมชาติ หรือระหว่างคนกับคน ผสมผสานกันอย่างลงตัวเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

ความเชื่อเกี่ยวกับการเกิด เรียกว่า “ดึต่าเบล” เมื่อทารกเกิดมา สายรกที่ถูกตัดออกจากผู้เป็นมารดา จะนำมาบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้แล้ว ทำการปิดฝากระบอกด้วยเศษผ้าของผู้เป็นมารดาให้แน่น แล้วนำกระบอกสายรกไปผูกไว้กับต้นไม้ที่ถูกเลือกในพื้นที่บริเวณในป่ารอบหมู่บ้าน พร้อมกับอธิษฐานให้ทารกเติบโตแข็งแรงมีสุขภาพที่ดี เหมือนต้นไม้ที่ถูกเลือกนี้ และต้นไม้นี้จะถูกเรียกว่า “เดปอทู่” แปลว่า ต้นสายรก ต้นไม้ดังกล่าวนี้จะถูกห้ามตัดโดยทันทีและเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าขวัญทารกอาศัยอยู่ที่ต้นไม้นี้ ถ้าตัดทิ้งจะทำให้ทารกเจ็บป่วยได้ง่าย ขวัญหนีไปจากต้นไม้ ส่วนคนที่ตัดต้นไม้เดปอทู่โดยเจตนาหรือไม่เจตนาจะต้องถูกปรับด้วยไก่หนึ่งตัว เพื่อให้ผู้เป็นบิดามารดาของทารกนำไก่ตัวนี้ไปทำพิธีเรียกขวัญทารกกลับคืนมา คนตัดต้นไม้เดปอทู่จะถูกประณามจากชุมชน

วันที่ไปผูกสายรกหรือสายสะดือ ชาวบ้านในชุมชนจะหยุดไปงาน เพราะถือเป็นวันต้องห้าม เรียกว่า “ดึต่าเบล”เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต เมื่อถึงเวลาที่กระบอกบรรจุสายรกหลุดออกจากต้นเดปอทู่ ผู้เป็นบิดาต้องไปทำพิธีผูกมือเรียกขวัญทารกเรียกว่า “กี่เบลจื๊อ” เป็นพิธีผูกมือเรียกขวัญครั้งแรกของบุคคลผู้นี้ หากทารกเจ็บไข้ได้ป่วย ผู้เป็นบิดาจะต้องไปทำพิธีเรียกขวัญที่ต้นเดปอทู่นี้เสมอ โดยนำไม้ไผ่ยาวประมาณหนึ่งวา ไปเคาะที่ต้นเดปอทู่ของทารกพร้อมบอกกล่าวเรียกขวัญทารกให้กลับคืนมา ใช้มีดบากลงบนไม้เคาะรอบที่หนึ่ง ระหว่างทางเดินกลับถึงกลางทาง ใช้ไม้เคาะลงบนพื้นดินพร้อมเรียกขวัญทารกและใช้มีดบากลงบนไม้เคาะเป็นรอบที่สองพอเดินทางกลับถึงบ้าน ใช้ไม้เคาะที่บันไดพร้อมเรียกขวัญทารกใช้มีดบากลงบนไม้เคาะเป็นรอบที่สาม แล้วนำไม้เคาะไปเก็บไว้บนเตาไฟท้องถิ่นที่เรียกว่า “เมโม่คี” ซึ่งพิธีกรรมนี้จะทำให้ทารกจนถึงอายุประมาณ 15 ปีเท่านั้น

ผู้ให้ข้อมูล : จอแนะ นันทวิเชียรฤทธิ์ (ปราชญ์พื้นบ้าน)
ผู้เขียน : เด่นพันธุ์ สำเนียง
รวบรวมและเรียบเรียงโดย : ณรงณ์ ณรงค์ชัยปัญญา
Illustration: rawpixel