วัดศรีดอนชัยป่าตึงงาม (แม่แก้ดน้อย)


ที่ตั้งวัด

วัดแม่แก้ดน้อย ชาวบ้านมักเรียกกันว่า วัดป่าตึง หรือวัดหนองแห้งนามเดิม วัดศรีดอนชัยป่าตึงงาม ตั้งที่เลขที่ 287 หมู่ 5 ถนนสันทราย-พร้าว บ้านแม่แก้ด ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายมหายาน เป็นอุทยานการศึกษาแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศ นรก สวรรค์ สถานที่ปลงสังเวช ของศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดแม่แก้ดน้อย  มีเนื้อที่ทั้งหมด 58 ไร่

วัดอยู่ในการปกครองคณะสงฆ์ภาค 7 สังกัด มหานิกาย เป็นวัดราษฎร์ มีสถานภาพที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 เขตวิสุงคามศรีมา กว้าง 1 เส้น ยาว 2 เส้น 16 วา โรงอุโบสถกว้าง 10  ยาว 12 ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2463

ประวัติความเป็นมา

ของวัดวัดแม่แก้ดน้อยสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2227 โดยท่านพระครูบานันทเสน สร้างเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2227 ตรงกับวันเสาร์เดือน 5 (เหนือ) ขึ้น 12 ค่ำจุลศักราช 1088 ตัวปีเต่าเส็ด (ปีจอ) ซึ่งได้ย้ายมาจากวัดแม่แก้ดหลวง ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อนามเดิมว่า วัดศรีดอนชัยป่าตึงงาม เพราะมีไม้เหียง ไม้ตึง ไม้ต่าง ๆ นานาชนิด บริเวณรอบวัด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ วัดใหม่ว่า วัดป่าตึงและได้เปลี่ยนชื่ออีกว่า วัดหนองแห้ง เพราะไกลจากหนองน้ำเมื่อใช้ชื่อวัดหนองแห้งมาสักระยะหนึ่งจึงเปลี่ยนชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับหมู่บ้านที่ตั้งวัดโดยเปลี่ยนมาใช้เป็นชื่อ วัดแม่แก้ดน้อย เพราะว่าได้พระสงฆ์มาจำพรรษามาจากวัดแม่แก้ดหลวง

วัดแม่แก้ดน้อยมีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 11 แปลง ประกอบด้วยเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส มีเนื้อที่ 58 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา ตามโฉนด น.ส.3 ส.ค.1 เลขที่ 364 และใบสำเนาบันทึกการตรวจราชการของสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2475 ตั้งอยู่ ท้องที่ ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบเรียบและมีต้นไม้นานาชนิดอายุ 100 ปี มีศรัทธาชาวบ้านอาศัยอยู่ด้วยรอบบริเวณวัดและที่ธรณีสงฆ์ สภาพแวดล้อมโดยรอบหมู่บ้านมีถนนตัดผ่าน บริเวณเขตธรณีสงฆ์วัดจริงตั้งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้าน

เสนาสนะสถานภายในวัด

วัดแม่แก้ดน้อย มีเสนาสนะสถาน ประกอบด้วย

  1. อุโบสถ กว้าง 5.5 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2463 โครงสร้างเป็นอิฐ ใช้ไม้ ต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่แทนหลังเดิม โดยใช้ก่ออิฐถือปูนเสริมเหล็ก
  2. วิหารหลวง สถาปัตยกรรมล้านนา กว้าง 8 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 ต่อมาบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
  3. ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526
  4. ศาลาโรงครัว สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2528
  5. ศาลาบำเพ็ญกุศล สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 5 เมตร ยาว 20 เมตร

ปูชนียวัตถุภายในวัด

พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะ สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน
พระประธานในวิหาร และพระพุทธรูปต่าง ๆ

พระพุทธรูปประจำอยู่ในวิหาร              3 องค์
พระพุทธรูปประจำศาลาการเปรียญ      3 องค์
พระพุทธรูปประจำอยู่ที่กฏิสงฆ์            3 องค์
ล้วนเป็นพระพุทธรูปโบราณ

เจดีย์ 1 องค์ สร้างเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474

ศูนย์การศึกษาภายในวัด

    • ศูนย์การศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม
    • ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
    • โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
    • อุทยาการศึกษา เฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา
    • อุทยานเรียนรู้ฟื้นฟูระบบนิเวศ เมืองนรก สวรรค์
    • สถานที่ปลงสังเวช ของศูนย์พระพุทธสาสนาวันอาทิตย์ วัดแม่แก้ดน้อย

ลำดับเจ้าอาวาส 

วัดแม่แก้ดน้อย ตั้งแต่ก่อตั้งมาถึงปัจจุบันมีเจ้าอาวาส 11 รูป

  1. พระอธิการนันตะเสน ปี พ.ศ. 2227-2444
  2. ครูบากันธา
  3. ครูบาญาณวิชัย
  4. พระบุญมา
  5. พระอธิการเตชะคำ
  6. พระอินสม
  7. พระจันทร์แก้ว
  8. พระบุญมา
  9. พระดวงจันทร์
  10. พระอธิการดวงดี ฐิตสาโร
  11. พระอธิการสะอาด กนฺตจาโร ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครู สัญญาบัตร ในราชทินนามที่ พระครูวิสาลจริยคุณ

วัดแม่แก้ดน้อยกับความสัมพันธ์ในชุมชน

วัดแม่แก้ดน้อย เป็นวัดเก่าแก่ เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ภายในบริเวณวัดมีสิ่งปลูกสร้างที่ชาวบ้านร่วมใจกับวัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านและคนในชุมชนโดยรอบ มีกิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมวันสำคัญของชาติ และกิจกรรมทำบุญประเพณี ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ประชาชนเกิดความร่วมมือร่วมใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พื้นที่ภายในบริเวณวัดมีการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  การออกแบบ การปรับปรุงภูมิทัศน์ การวางแนวถนน การตกแต่งสถานที่ การจัดทำป้ายสื่อความหมาย เพื่อให้ชุมชนมีความผูกพันกับศาสนามากยิ่งขึ้น จึงเป็นการง่ายที่จะทำให้ชาวบ้านมีจิตศรัทธkเลื่อมใสในศาสนา เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงให้แก่วัดและพระพุทธศาสนา ที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อุทยานการศึกษา เฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา อุทยานเรียนรู้ฟื้นฟูระบบนิเวศ เมืองนรก สวรรค์ สถานที่ปลงสังเวช ของศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดแม่แก้ดน้อย

ที่นี่มีสถานที่สำหรับเรียนรู้เรื่อง เมืองนรก สวรรค์ และสถานที่ปลงสังเวช แบ่งเป็น 2 โซน โซนแรกจะเป็นส่วนดินแดนสวรรค์ เดินผ่านประตูเข้าไปจะเห็นพระเจ้าทันใจ ซึ่งชาวบ้านที่นี่เล่าว่าหากไปไหว้ขอพรจะสมปรารถนา ทั้งนี้ยังแสดงพุทธประวัติตั้งแต่ ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมปัจวคีย์ทั้งห้า แล้วก็ปรินิพพาน ภายในบริเวณมีการแสดง ดินแดนสวรรค์ ทั้งนี้สามารถหยอดเหรียญที่ตู้เพื่อฟังเสียงและคำบรรยาย โดยใช้เหรียญ 10 และยังถือเป็นการทำบุญอีกด้วย โซนที่ 2 เป็นประตูทางเข้าดินแดนนรกซึ่งเป็นสถานที่จำลองเมืองนรก และแฝงข้อคิดเตือนใจในการประพฤติดีประพฤติชั่วของมนุษย์

วัดแม่แก้ดน้อยจัดงานวันปล่อยผี

วัดแม่แก้ดน้อยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรม “วันปล่อยผี ประเพณีสิบสองเป็ง” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ที่วัดศรีดอนชัยป่าตึงงาม (แม่แก้ดน้อย) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟู และอนุรักษ์ศิลปะล้านนาไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวล้านนาปฏิบัติกันมา มีความเชื่อว่าในโลกของนรกภูมิได้มีการปลดปล่อยเหล่าวิญญาณ ผีเปรตต่างๆ เพื่อมาขอรับส่วนบุญส่วนกุศล จากญาติพี่น้องที่จะอุทิศส่วนกุศลไปให้ ภายในงานมีการแสดง แสง สี เสียง ในชุด “บุพเปรตพลี” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา

เรียบเรียงโดย ฝ่ายจดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ