แม่โจ้ในความทรงจำของข้าพเจ้า


แม่โจ้ในความทรงจำของข้าพเจ้า

ประเทือง ประทีปะเสน

ข้าพเจ้าเผอิญได้มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ในแม่โจ้ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2482 เริ่มเข้าไปอยู่ในฐานะผู้ช่วยหัวหน้าสถานีทดลองภาค 5 แทนคุณยอด (George) คมสัน ก่อนที่จะเดินทางไป ก็ได้รับคําบอกเล่าที่สับลนทั้งทางดีและทางร้าย โดยที่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม คําบอกเล่าในทางดีก็มีในแง่ว่าได้ไปอยู่ในเมืองคนงาม มีแต่ความสงบเรียบร้อย สนุกสนาน ในแง่ร้ายก็คือ ไปอยู่แม่โจ้ก็เหมือนถูกเนรเทศ ในโรงเรียน (เตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) มีแต่เด็กนักเลงเกเร โรงเรียนก็อยู่ห่างจากตัวเมืองตั้ง 17 กิโลเมตร ถนนติดต่อจากตัวเมืองก็ขรุขระ มีแต่ฝุ่นในฤดูแล้ง และมีแต่โคลนในฤดูฝน บริเวณสถานีทดลองและโรงเรียนก็เป็นที่ๆ แห้งแล้งปลูกอะไรไม่ค่อยขึ้น

ทั้งที่ข้าพเจ้าผ่านวิทยาลัยเกษตรที่มีชื่อว่าเป็นที่ ๆ ลําบากมากก็ยังอดหวั่นไหวไม่ได้ จึงเตรียมตัวไปพอสมควรแก่ที่คิดว่าจะไปอยู่ในที่กันดาร มีมุ้ง ที่นอน ถ้วยโถโอชามและมีเด็ก (หนุ่ม) ไปด้วย 1 คน เพื่อจะได้ไปหุงหารับประทาน

ประเทือง ประทีปะเสน

ข้าพเจ้าเดินทางโดยรถด่วนเชียงใหม่ชั้น 2 นอน (ตามสิทธิข้าราชการชั้นโทอันดับ 1) และจําได้ว่าไปนั่งอยู่กับข้าราชการอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้พิพากษาถูกย้ายไปประจําแม่ฮ่องสอน (ภายหลังทราบว่าเป็นบิดาอาจารย์ประวัติ สายทองสุก และไปเสียชีวิตด้วยไข้มาเลเลียที่แม่ฮ่องสอน) ต่างก็สนทนากันไปถึงที่ ๆ จะไปประจําอยู่ เพราะแต่ละคนก็ไม่ทราบสภาพและอนาคตของตัว

ข้าพเจ้าลงรถไฟด้วยความโล่งใจเมื่อเห็นอาจารย์พนม (ดร. พนม สมิตานนท์) ยืนรอรับอยู่และพาข้าพเจ้าขึ้นรถเชฟเก๋ง (2 แถว) คันงาม สีทอง (เหลือง) ของวิทยาลัย แล้วก็นั่งตระเวนไปกับรถจนกระทั่งค่ำ เพราะในวันนั้นผู้ใหญ่ของแม่โจ้ต้องไปร่วมในงานถวายพระเพลิงพระศพพ่อเจ้า (เจ้าแก้ว เนาวรัตน์) เสร็จแล้วรถซึ่งมีใช้ได้อยู่คันเดียวในแม่โจ้ก็รับใช้ครอบครัวของพนักงานและครูบาอาจารย์โดยต้องขนสัมภาระต่าง ๆ รวมทั้ง พวกเข้าเวียงกลับ ถ้าจําไม่ผิดข้าพเจ้าได้รับการบรรจุเข้าไปในบ้านเก่าของครูหยุยเป็นการชั่วคราว จนกว่าบ้านผู้ช่วยหัวหน้าสถานี ซึ่งคุณยอดอยู่จะว่างลง

ข้าพเจ้านอนลงในคืนนั้นด้วยความหดหู่ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเข้ามาอยู่ในป่าในแวดล้อมที่ไม่รู้จักและบรรยากาศก็แปลกกว่าที่เคยไปอยู่มา

ข้าพเจ้ารับงานจากคุณยอดหลังจากรายงานตัวต่ออาจารย์จรัส สุนทรสิงห์ ซึ่งก็กําลังจะย้ายไปเป็นผู้ช่วยผู้อํานวยการวิทยาลัยที่บางเขน ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นห่วงงานใหม่ที่จะต้องมารับหน้าที่มาก เพราะมองเห็นพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต แต่มีพืชปลูกน้อยมาก เนื้อที่นอกนั้นก็มีแต่หญ้าคา ความรู้สึกนี้ทําให้ข้องใจไปว่า “ใครหนอมาเลือกพื้นที่ซึ่งมีดินไม่สมบูรณ์อย่างนี้มาทําสถานีทดลองและโรงเรียนเกษตรกรรม” ความคิดนี้ยังอยู่ในใจของข้าพเจ้าเป็นเวลาหลายเดือน และเป็นหัวข้อคิดที่เป็นอุทาหรณ์แก่นักเกษตรซึ่งจบจากสถาบันการศึกษาใหม่ ๆ และแม้บางท่าน ที่จบวุฒิสูงๆ มานานแล้วก็ยังมีความคิดเบื้องต้นเช่นนั้น และประสบการณ์ในชีวิตเท่านั้นที่จะทําให้นักเกษตรเหล่านั้นเข้าใจถ่องแท้ได้

ข้าพเจ้าเดินสํารวจสถานที่ของสถานีทดลองไปพลางก็บ่นไปพลางกับคุณมงคล งามวิสัย ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดพืชไร่ในขณะนั้นว่า ที่ดินอย่างนี้เราจะทําอะไรได้ แต่ก็เกิดความประหลาดใจที่คุณมงคล หาได้แสดงความท้อถอยแต่อย่างไรไม่ กลับอธิบายชี้แจงไปในทางที่ให้เกิดความหวัง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าจะลืมไม่ได้ เพราะเป็นเหตุให้เกิดกําลังใจในการที่จะต่อสู้งาน ต่อสู้ความยากลําบาก ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่แม่โจ้ จนทําให้เกิดความรักสถานที่ รักบุคคลที่อยู่ในแม่โจ้ถึงกับเกิดความไม่อยากจากแม่โจ้

ความรู้สึกหนักใจในขั้นแรกทําให้ข้าพเจ้านึกตําหนิท่านผู้ริเริ่มสร้างสถานที่นี้อยู่ในใจ ข้าพเจ้ามิได้คุ้นเคยกับคุณพระช่วงเกษตรศิลปการมาแต่แรก เพราะเมื่อข้าพเจ้าเข้าทํางานได้พบแต่คุณหลวงอิงคศรีกสิการ คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และคุณทวี บุณยเกตุ ท่านทั้งสามนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพักหนึ่ง จึงมีความเคารพรักในตัวท่านเสมือนญาติผู้ใหญ่ ขณะ นั้นข้าพเจ้าเป็นแต่เพียงรู้จักคุณพระช่วง ฯ ท่านชั่วครั้งคราว ในเมื่อท่านเข้าไปพระนคร และได้ไปเยี่ยมเยียนคุณหลวงอิงค์ฯ คุณหลวงสุวรรณ ฯ เท่านั้น

แต่ที่แม่โจ้ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องราวและความดี ความคล่องแคล่ว ความรอบคอบในการปฏิบัติงานของคุณพระช่วงฯ ได้อย่างละเอียด จนทําให้แปลกใจว่าเหตุไรท่านจึงสามารถครองใจคนแทบทุกคนในแม่โจ้ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน คนงาน นักเรียน และครูได้ นอกจากนี้ ท่านยังสามารถเข้าไปทําให้ข้าราชการในจังหวัดยกย่องเคารพนับถือด้วย

พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ)

โดยที่ในแม่โจ้มีเวลาว่างมากและข้าพเจ้าชอบสังสรรค์กับพนักงานครูและนักเรียน ข้าพเจ้าซึ่งได้ฟังเรื่องขำ ๆ เกี่ยวกับอาจารย์พระช่วง ฯ ยืนชมหอระฆัง และนักเรียนเอาก้อนหินไปปาระฆังของท่านเพราะไม่ทันเห็นท่าน เรื่องการบุกเบิกที่ดินให้เป็นนา เรื่องความตกอกตกใจของท่านเมื่อนักเรียนตกลงไปให้รถดอดจ์ทับ วิธีการสั่งสอนพนักงานและครูซึ่งเกิดความวิวาทกันเพราะเมา และเรื่องอะไรต่ออะไรในแม่โจ้ซึ่งทําให้รู้สึกว่าท่านเป็นบุคคลที่น่าสนใจมากผู้หนึ่ง ระยะเวลาต่อมาในแม่โจ้ทําให้ข้าพเจ้าได้คุ้นกับผลงานของท่านและบุคคลที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของ ท่านมาก่อน ทําให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้งานเกษตรของสถานีทดลองภาค 5 มากขึ้น ข้าพเจ้าได้เห็น พันธุ์สุกรใหม่ ๆ นอกเหนือจากหมูเมืองไทยที่เคยเห็นมาแต่เด็ก ได้เห็นโคพันธุ์ดีที่มีอยู่ในสถานี ได้เคยเห็นความขยันหมั่นเพียรของนักเรียนเกษตร ซึ่งสามารถทําแปลงเพาะปลูกผักได้ดีกว่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นเพื่อนซึ่งฝีมือดี ๆ ของข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยทําได้ ทั้งที่สภาพดินของแม่โจ้ห่างไกลจากดินเถ้าภูเขาไฟโลสบานโยสมากมาย และที่ประทับใจที่สุดแก่ข้าพเจ้าก็คือ พนักงานในสถานีทดลองสามารถปลูกยาสูบในดินที่เห็นว่าแทบจะปลูกอะไรไม่ได้เลยทุกปี และนําเข้าทดลองบ่มยา ได้ยาชั้นดีปีที่หนึ่งเป็นจํานวนไม่น้อย เรื่องนี้ทําให้ข้าพเจ้าสนใจมากและก็ได้รับความรู้จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้คือ การใช้พืชปุ๋ยสด (Green Manure) บํารุงดินให้มีคุณสมบัติดีขึ้น และพืชวัตถุมากขึ้น ความรู้จากประสบการณ์นี้นั่นเองทําให้ข้าพเจ้าเข้าใจซาบซึ้งในเจตนาของท่านผู้สร้างแม่โจ้ และกิจการที่แม่โจ้นี้เอง ทําให้ฝังใจข้าพเจ้าให้เกิดความเคารพในปูชนียบุคคลในการเกษตร เช่น ม.จ. สิทธิพร กฤดากร คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และคุณหลวงองคศรีกสิการ ซึ่งแต่ละท่านได้ฝากอนุสรณ์โดยกิจกรรมของท่านไว้ในวงการเกษตรของประเทศไทย โดยจะหานักเกษตรรุ่นหลังได้น้อยคนนักที่จะเปรียบเทียบกับท่านได้

พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ)

นอกจากการใช้พืชปุ๋ยสดบํารุงดินเลวแล้ว ข้าพเจ้ายังได้ประสบการณ์อีกหลายประการ เช่น การรักษาแปลงให้สะอาดเกินไป (Clean Culture) บางครั้งเป็นผลร้ายแก่พืชที่กําลังให้ผล เช่น แตงโม เป็นต้น ตลอดจนพืชปุ๋ยสดชนิดใดเหมาะแก่การไถกลบและให้ผลสูง น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ชาวเกษตรรุ่นหลังไม่ค่อยได้ระลึกถึงคุณค่าของการบํารุงดินโดยปุ๋ยพืชสดเพื่อให้เกิดพืชวัตถุเท่าไร จะเห็นได้จากความกระตือรือร้นของกระทรวงเกษตรแต่ละปีมักจะอยู่ที่การจัดหาปุ๋ยพิเศษ (ปุ๋ยเคมี) ให้แก่ชาวไร่ชาวนาเท่านั้น เพราะแม้แต่เมล็ดพืช ปุ๋ยสดหรือเมล็ดถั่วคลุมดิน (Cover Crop) ตามสถานีทดลองก็ยังแทบไม่มีจําหน่ายให้แก่ชาวไร่ชาวนาเลย และแม้แต่พระราชดํารัสขององค์พระประมุขซึ่งทรงแนะนําให้ทางราชการสนใจในการบํารุงดินด้วยพืชวัตถุก็ยังไม่ค่อยมีหน่วยราชการสนใจเท่าไรนัก ในด้านนักเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตร ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้คลุกคลีกับชาวแม่โจ้ในระยะต่อมา เพราะได้มีโอกาสเข้าไปสอนในบางวิชา ตลอดจนได้ใช้ชีวิตในด้านสังคม เช่น เล่นกีฬา และได้มีโอกาสเป็นผู้ฝึกหัดควบคุมนักเรียนในโอกาสที่เข้าไปเดินสวนสนามในจังหวัดในวันงานฉลองรัฐธรรมนูญ โอกาสเหล่านี้ทําให้ข้าพเจ้ารู้จักจิตใจและนิสัยใจคอของนักเรียนแม่โจ้มากขึ้น และเกิดความเลื่อมใสในสถาบันนี้ทําให้ทัศนคติเดิมที่มองผู้ก่อตั้งสถาบันในแง่ร้ายและความคิดที่ว่านักเรียนแม่โจ้เป็นพวกเหลือขอหมดสิ้นไป ข้าพเจ้าได้พบเห็นสปิริตของนักเรียนแม่โจ้ซึ่งรักหมู่คณะและสถาบันอย่างแรงกล้า ได้พบการเล่นสนุกสนานที่บางคนอาจจะเรียกว่าพิเรน แต่ไม่มีความหยาบคาย ได้พบความรักของเพื่อนที่ศึกษาด้วยกันที่ยืนนานไป จนเมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังแน่นแฟ้น ตลอดจนความกตัญญ ความเคารพต่อครูบาอาจารย์ตั้งแต่เป็นเด็กจนทํางานถึงเกษียณอายุ และความรักชาติอย่างรุนแรงถึงกับรวมกันวิ่งออกจากโรงเรียน ไปสมัครรับใช้ชาติในเวียงเมื่อเกิดสงครามขึ้น

คณะฟุตบอลสโมสรแม่โจ้
พ.ศ. 2481

ข้าพเจ้าถือว่าในชีวิตนี้มีเกียรติมากอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อได้เล่นฟุลบอลในทีมแม่โจ้กับทีมเชียงใหม่ เพราะในทีมนั้นมีนักฟุตบอลเก่าๆ ที่มีชื่อเสียงของแม่โจ้ เช่น คุณไสว บุณยปรัตยุต คุณตุ้ม ทับทิมทอง อาจารย์พนม สมิตานนท์ มาลงเล่นทั้งนี้ก็เพราะแม่โจ้ในสมัยนั้นเสมือนหนึ่งเป็นขวัญใจของชาวเชียงใหม่

เรื่องของแม่โจ้เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าสามารถเล่าได้เป็นวัน ๆ เพราะมีแต่เรื่องที่ขำขัน และ ชวนให้ระลึกถึง เช่น เรื่องอาจารย์สังข์ทศ ในฐานะอาจารย์ผู้ปกครองปล่อยให้ธนาณัติของนักเรียนปลิวอยู่ในห้องโดยนักเรียนบางคนสรวมรอยไปเอาเงินได้ทั้งที่ไม่มีเงินส่งมาให้ เรื่องแตงโมสถานีทดลองไม่มีเนื้อ ในเรื่องของนายถา คนตีระฆัง เรื่องของเด็กรับใช้ของข้าพเจ้าแต่งตัวปลอมเป็นนักเรียนเข้าเวียง เรื่องของคุณขันโธ พานักเรียนที่หายป่วยจากมาลาเรียกลับบ้าน เรื่องของไก่ งวงกลายเป็นแร้ง และอื่น ๆ อีกมากมาย

ข้าพเจ้าย้ายกลับจากแม่โจ้ เข้ากรมเกษตรในปี 2486 ก็ได้มีโอกาสรับใช้คุณพระช่วงฯ ในฐานะท่านเป็นอธิบดีกรมเกษตร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในระดับกรมฯ ตอนนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักท่านมากขึ้น ประกอบกับท่านให้ความเป็นกันเองแก่ข้าพเจ้าพอสมควร คงจะเป็นเพราะข้าพเจ้าได้ผ่านสถาบันแม่โจ้มาแล้ว และพอจะรู้และเข้าใจจิตใจของท่านได้ ต่อ มาข้าพเจ้าก็ได้รับมอบหมายให้ไปเป็นหัวหน้าหน่วยปลูกผักเพื่อเสบียงทหารที่หล่มสัก จนกระทั่งถูกขอตัวไปทํางานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำตาลที่บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงต้องลาออกจากราชการนับเป็นเวลา 7 ปีที่ข้าพเจ้าได้อยู่ในบังคับบัญชาของปูชนียบุคคลในวงการเกษตรทั้งสามของข้าพเจ้า โดยที่คุณพระช่วงฯ เป็นอธิบดีกรมเกษตรอยู่เกือบตลอดเวลาที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ ข้าพเจ้าสามารถรู้จักจิตใจของท่านได้มากขึ้นว่าท่านเป็นผู้บริหารงานที่รอบคอบ และรอบรู้และยังเป็นผู้ที่ห่วงในสวัสดิภาพของผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกศิษย์ลูกหาอย่างเยี่ยมยอด ในระหว่างหัวหน้าหน่วยงานด้วยกันจะมีเรื่องเล่าว่า ถ้าข้าราชการคนใดมีความต้องการที่จะไปขออนุมัติท่านอธิบดี เมื่อก่อนจะเข้าไปพบท่านมีอยู่ 2 ประเภท คือประเภทแรกหน้าตายิ้มแย้ม แจ่มใส เพราะมีความหวังเต็มที่ ประเภท 2 หน้าตาบึ้งตึง แสดงว่าวิตกกังวลว่าจะไม่ได้รับอนุมัติ 2 ประเภทนี้เมื่อเดินออกจากห้องท่านอธิบดีจะมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ผลลัพธ์ก็จะเป็นไปตามที่ควรแก่ลักษณะความเหมาะสมคือได้ก็ไม่ได้เต็มที่หรือบางรายก็ไม่ได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะคุณพระช่วง ฯ ท่านเป็นผู้มีจิตวิทยาสูง มีคําพูดนิ่มนวลประกอบด้วยเหตุผลมีความเที่ยงตรงและเป็นผู้รักษาประโยชน์ของราชการอย่างแท้จริง ในเวลาเดียวกันก็ยังมีความเป็นกันเองกับผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่ด้วย เป็นที่รู้กันอยู่ในหมู่ชาวเขียวขาวเหลืองทั่วไปสมกับที่เรียกท่านสั้น ๆ ว่า “อาจารย์ พระช่วงฯ” ข้าพเจ้าภูมิใจแทนท่านก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนในปัจจุบันกลายเป็นสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ สถาบันที่ตั้งขึ้นมานี้ได้ผลิตบุคคลในวงการเกษตร (บางท่านเข้าไปอยู่ในวงการปกครองและตํารวจ) มามีส่วนในการพัฒนาประเทศไทยมากมายไม่แพ้สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ ในประเทศ เห็นได้ จากลูกแม่โจ้ได้เป็นรัฐมนตรี อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าหน่วยราชการที่มีความสําคัญ ๆ

 

บางท่านก็เป็นนักธุรกิจที่มีความสําเร็จเป็นอย่างดีเหล่านี้ จึงใคร่ขอกราบสดุดีท่านผู้ก่อตั้งสถาบัน คือคุณพระช่วงเกษตรศิลปกร ท่านปรมาจารย์มีส่วนอนุเคราะห์ให้เกิดผลสําเร็จในการอบรมกุลบุตร กุลธิดา เช่น มจ. สิทธิพร กฤดากร     คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ คุณหลวงอิงคศรีกสิการ อาจารย์จรัส สุนทรสิงห์ อาจารย์พนม สมิตานนท์ ตลอดจนอาจารย์ที่มีส่วนในการอบรมรุ่นหลังๆ เช่น อาจารย์สังข์ทศ พุกกะเวส อาจารย์ประเสริฐ ณ นคร อาจารย์อรุณ ทรงมณี อาจารย์บุญศรี  วังซ้าย และคณาจารย์ทั้งหลายของแม่โจ้ เช่น อาจารย์กวี อาจารย์ใช้ บุญชัก อาจารย์เชิด รวมทั้งอาจารย์แผ่พืช อาจารย์ประวัติ อาจารย์เยือน อาจารย์ขิน อาจารย์ดี อาจารย์อํานวย ตาคํา เลื่อน เริ่ม สุรัตน์ สีมุ และพนักงานของสถานีทดลองภาค 5 ในขณะนั้น เช่น คุณมงคล คุณสายหยุด คุณสอน คุณอินทร์ศรี คุณเลิศ คุณขันโธ และพี่พ่วม ท่านเหล่านี้เท่าที่อยู่ในความทรงจําของข้าพเจ้า

ที่มา : หนังสือเกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอาจารย์ อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524  หน้า 54 – 59