ลาแล้วแม่โจ้


        สัมผัสประสบการณ์ เรื่องเล่าการเริ่มต้นเดินทางมาเรียนที่เชียงใหม่ บรรยากาศในการเดินทางมาเรียนและการดำเนินชีวิตในแม่โจ้ จนเรียนจบถึงเวลาที่ต้องลาจากแม่โจ้อันเป็นที่รักยิ่ง ที่มีมาอย่างยาวนาน บางส่วนบางตอนจากหนังสือ “อนุสรณ์แม่โจ้ รุ่น 21″ เขียนโดย คุณปรีชา ถาวร  แม่โจ้รุ่น 21 ความว่า…

        เสียงระฆังกังวาลขึ้นบอกเวลาเที่ยงคืน ลมหนาวพัดผ่านเข้ามาทางช่องหน้าต่างทำให้อากาศในห้องเริ่มหนาวขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างบนอาณาจักรแม่โจ้เงียบสงัดดูคล้ายกับว่ากำลังหลับสนิท เสียงสุนัขหอนมาจากหมู่บ้าน ดังแว่วๆอย่างโหยหวนเยือกเย็น แต่ข้าพเจ้ายังคงนอนไม่หลับพลิกตัวไปมาบนที่นอนอันแสนจะอบอุ่น เสียงนาฬิกาปลุกบนโต๊ะเดินอยู่เป็นจังหวะๆ ข้าพเจ้าอดที่จะคิดถึงอดีตที่ผ่านมามิได้ มันยังคงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำอย่างไม่มีวันลืม อา!  อีกไม่ถึงเดือน สหายรัก เราทุกคนจำต้องจากกันไปคนละแห่ง จากกันไปเพื่อช่วยก่อสร้างรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญขึ้น

        ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า เมื่อเสียงหวูดรถไฟดังขึ้น ก่อนถึงสถานีเชียงใหม่ ผู้โดยสาร ต่างกุลีกุจอเตรียมข้าวของเมื่อรถไฟจะถึงปลายทาง แต่ข้าพเจ้ารู้สึกหัวใจเต้นแรงกว่าปกติด้วยความตื่นเต้น เมื่อรถไฟเทียบสถานี คนโดยสารต่างทะยอยลงสู่ชานชลา ต่างยิ้มแย้มให้กับผู้ที่มาคอยตอนรับ แต่ข้าพเจ้าเล่าหิ้วกระเป๋าเดินทางลงจากรถไฟอย่างคนใจลอย ก้าวแรกที่ข้าพเจ้าเหยียบย่างลงสู่ผืนดินของเชียงใหม่ นัยตาของข้าพเจ้าฝ้าฟางคล้ายกับว่ายืมอยู่ในที่มืดซึ่งปราศจากแสงสว่าง โอ! นี่หรือพิงค์นครดินแดนแห่งพุทธศาสนาและเอื้องงาม ดินแดนที่ใครๆ เขาใฝ่ฝัน

แม่โจ้

   

    จากเวียงสู่ “แม่โจ้” จุดหมายปลายทางของข้าพเจ้า บนรถโดยสารที่ยัดเยียดด้วยผู้โดยสาร ซึ่งกำลังวิ่งไปบนทางที่ไม่ค่อยจะเรียบเท่าใดนัก รถวิ่งสูงๆ ต่ำๆ ไปบนถนนที่กำลังซ่อม คนโดยสารต่างสนทนากันอย่างหน้าตายิ้มแย้ม แต่ข้าพเจ้าฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลย “เราอยู่ที่ไหน” ข้าพเจ้านึกอยู่ในใจ เสียงเครื่องยนต์ค่อยๆ เบาลงแล้วคนขับก็ดับเครื่องรถหยุดอยู่กับที่ “ถึงแล้วครับแม่โจ้” กระเป๋ารถร้องบอก ข้าพเจ้ารีบลงจากรถทันที นี่หรือแม่โจ้ ดินแดนที่ข้าพเจ้าเคยใฝ่ฝันมาเป็นเวลานาน “แม่โจ้วิทยาลัยแห่งชีวิต” ของข้าพเจ้า วันแรกที่ข้าพเจ้าก้าวเข้าสู่อ้อมอกของแม่โจ้ทำให้จิตใจไม่ค่อยสบาย เพราะคิดถึงบ้าน แต่วันและเวลาผ่านไปทุกๆ คนที่เปลี่ยนไปด้วย แม่โจ้สอนให้เราทำดีดุจแม่โจ้ที่ดีทั้งหลายถึงแม้แม่โจ้จะมิใช่แม่บังเกิดเกล้า แต่ “แม่โจ้” สอนให้เราเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว สอนให้รู้จักรักพวก รักหมู่ และมีความสามัคคี ทำให้เรารู้จักอดทนต่อการงานทุกๆ อย่าง ทุกๆ คนคงจะยังจำได้ดีว่า อาทิตย์แรกที่จับจอบฟันดิน มือที่เคยอ่อนนุ่มดุจมือของสตรีเพศก็ค่อยๆ ฟกช้ำ พอง แตกและแข็งกระด้างขึ้นตามลำดับ ร่างกายที่เคยสะโอดสะองก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นล่ำสัน แข็งแกร่ง และใบหน้าเหี้ยมเกรียมขึ้น ถึงแม้ว่าเหนื่อยแสนเหนื่อยแต่ทุกๆ คนก็พยายามสู้ทน อดกลั้น ฝ่าฟันต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ย่อท้อ ให้สมกับเป็นเกษตรกรของชาติต่อไป แต่นี่ละหรือสหายเอ๋ย “เกษตรกร” ที่ใครๆเขายกย่อว่าเป็น “กระดูกสันหลังของประเทศ” ฟังแล้วมันช่างเพราะพริ้งเสียจริงๆ แต่กระดูกที่อยู่ข้างหลังน้อยคนนักที่จะมองเห็นความสำคัญของมัน อย่างไรก็ตาม เราทุกคนยังคงสู้ทนทำต่อไปทำไปเพื่อหลักชัยข้างหน้าเพื่อช่วยผดุงรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญขึ้น

ตัวโรงเรียน

 วันและเวลาค่อย ๆ ผ่านไปอย่างเชื่องช้า จากนั้นเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากหนึ่งที่เป็นสองปี และสามปีค่อย ๆ ใกล้เข้ามา พวกเราต่างขะมักเขม้นเขม้น ดูตำรับตำรากันเป็นการใหญ่ “วันสอบไล่ใกล้เข้ามาแล้ว” แต่เมื่อวันสุดท้ายของการเรียนจะมาถึงข้าพเจ้ารู้สึกสลดใจทันที เพราะหลังจากวันนั้นมันคงจะเป็นวันที่พวกเราต้องพรากจากกัน วันคืนที่เราเคยเรียน เคยเล่น เคยนอน และเคยทำงานร่วมกันมาเมื่ออดีต ก็ค่อยๆ ห่างไกลออกไป ออกไปทุกๆ ขณะ มันคงจะเป็นวันสุดท้ายที่พวกเราต้องแยกกัน เดินทางกลับสู่มาตุภูมิของตนดุจผู้ที่กลับจากสมรภูมิรบอย่างผู้มีชัย

          โอ!  แม่ที่รัก ลูกจำต้องขอกราบลาไปก่อน ลูกจากอกแม่ไปครั้งนี้ ลูกไปเพื่อทดแทนบุญคุณของแม่ที่เคยพร่ำสอนลูกมา ทดแทนบุญคุณของประเทศอันเป็นที่รัก จากไปเพื่อความรุ่งโรจน์ในอนาคต แต่คงไม่นานหรอก หากชีวิตของลูกยังไม่สิ้น ลูกคงจะได้กลับเข้ามาสู่อ้อมอกที่อบอุ่นของแม่อีกครั้งหนึ่ง แต่การกลับมาของลูกครั้งนี้คงมีชัยชนะ มีความหวังความรุ่งโรจน์มาสู่แม่ด้วย ลูกขอฝากน้องๆ ของลูกที่รักทุกๆ คนไว้กับแม่ด้วย ลาก่อน “ แม่โจ้ ” แม่ที่รักยิ่งของข้า

แหล่งที่มา : หนังสือ “อนุสรณ์แม่โจ้ รุ่น 21 ″
ผู้เขียน : ปรีชา ถาวร แม่โจ้รุ่น 21