ประติมากรรมเขาควาย


 

เมื่อโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ ได้รับการยกฐานะเป็น วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก แม่โจ้เวลานั้น เข้าสู่ยุคการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นสถานศึกษาเกษตรแห่งเดียวที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษารวม 5 ปี (เพิ่มหลักสูตรใหม่ ประกาศนียบัตร ประโยคครูมัธยมเกษตรกรรม: ป.ม.ก. อีก 6 ปี) นักศึกษาที่จบ ป.ม.ก. จากแม่โจ้ออกไปนั้น ภายหลังได้ดำรงตำแหน่ง อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการสถานศึกษาเกษตรของกรมอาชีวศึกษาเกือบทั่วประเทศ ส่วนที่แม่โจ้ หลักสูตร ป.ม.ก. ดำเนินไปได้เพียง 5 รุ่นเท่านั้น (พ.ศ. 2500-2504) ก็ถูกย้ายไปจัดการเรียนที่วิทยาลัยเกษตรกรรมบางพระ ชลบุรี (ชื่อขณะนั้น) ส่วนที่แม่โจ้ได้เปิดเป็นหลักสูตรเทคนิคเกษตร เริ่มตั้งแต่รุ่น 25 พ.ศ. 2505 เป็นต้นไป ช่วงเวลาที่แม่โจ้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรเทคนิคเกษตรนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งการก่อสร้างอาคาร สถานที่ต่างๆ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลง คือ การสร้างรูปปั้นหัวควายไปตั้งไว้ที่ประตูทางเข้าวิทยาลัย งานนี้อาจารย์ชาญ เชี่ยวศิลป์ ควบคุมการสร้าง เมื่อราวปี พ.ศ. 2505 ช่วงเวลานั้นตนเองไปศึกษาต่อ (พ.ศ. 2506-2508) กลับมาก็เห็นแม่โจ้พัฒนาตัวเองคึกคักมาก ผู้เรียนจบมาใหม่ก็จะถูกมอบหมายงานสอนและงานพิเศษต่างๆ ตามแต่ผู้ใหญ่จะเห็นสมควร “ประตูหัวควาย” กับ รั้ววิทยาลัยดูสง่างาม เวลาใครเข้าออก ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของสัตว์ผู้ใช้แรงงาน แต่ระยะหลังผู้คนนิยมเรียกว่า “ประตูเขาควาย” คงตั้งใจให้นุ่มนวลและสุภาพขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เขาควายเป็นคำพูดที่ติดปากมากกว่าคำว่าหัวควาย

   

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 เมื่อมีพระราชบัญญัติยกฐานะขึ้นเป็น สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร ประตูทางเข้า หัวควายทั้งหมดนี้ได้ถูกรื้อทิ้งไปกองอยู่บริเวณหน้าโรงสีเก่า ซึ่งได้ดัดแปลงเป็นโรงรถในเวลานั้น ตนเองได้พูดคุยกับ อาจารย์สมพร ยกตรี ถึงการคงอยู่ของสัญลักษณ์ผู้ใช้แรงงานนี้ ซึ่งตรงกับใจของอาจารย์สมพร เมื่อได้รับอนุญาตจาก อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีขณะนั้น ประมาณปี พ.ศ. 2519 จึงได้ปรากฏประติมากรรมหัวควาย หรือเขาควาย สัญลักษณ์สัตว์ผู้ใช้แรงงานบริเวณสี่แยกหลังจากผ่านประตูทางเข้าหลักตราบจนทุกวันนี้

แหล่งที่มา : หนังสือ บันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (หน้า 197)