ไม่มีชนเหนือชั้นในแม่โจ้
โดย กัสสปะ อัคนิทัต
ผู้เขียนหลายท่าน ได้บรรยายไว้ค่อนข้างละเอียดถึงบุคคลิกลักษณะ อุปนิสัย ความรู้ ความสามารถ ความเมตตาปราณี ความมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานทุกชนชั้น ตลอดจนการบําเพ็ญตนในฐานะอาจารย์ต่อศิษย์ได้ครบถ้วนของอาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการ โดยเขียนตามทรรศนะของแต่ละท่าน แต่ทั้งหลายทั้งสิ้นก็มารวมเป็นทรรศนะเดียวกันเป็นเอกฉันท์ คือท่านอาจารย์พระช่วงฯ เป็นบุคคลที่ควรแก่การเทิดทูน เคารพ บูชา และควรถือเป็นแบบอย่างของผู้ที่เป็นครูอาจารย์ ทั้งมวลที่รักและประสงค์จะเป็นครูอาจารย์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณงามความดี เพื่อตนเองและเพื่อการศึกษาของประเทศ
อีกทรรศนะหนึ่งที่ยังไม่มีผู้ใดกล่าวถึง ซึ่งได้มีความคิดคํานึงว่า การปฏิบัติตนอันเป็นอุปนิสัยของอาจารย์ในเรื่องนี้มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง และมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องที่บันดาลให้แม่โจ้เป็นดินแดนแห่งความสงบ ร่มเย็น ปราศจากการแตกแยกไม่ว่าจะเป็น ระหว่างนักเรียนต่อนักเรียน (จํานวน 300 – 500) ครูอาจารย์ต่อครูอาจารย์ หรือนักเรียนต่อครูอาจารย์ ซึ่งแตกต่างกันโดยกําเนิด ฐานะ พื้นฐานการศึกษา หรือ หลักสูตรการศึกษา (ฝึกหัดครู : วิสามัญเกษตรฯ) สิ่งสําคัญนั้นคือ อาจารย์พระช่วงฯ ได้ถือหลักแห่งความเสมอภาคอยู่ในใจเป็นนิจสิน และหลักการนี้เองสามารถทําให้ท่านได้บริหารการศึกษาเกษตร-แม่โจ้ ให้มีความสงบสุข ร่มเย็น และมีไมตรีจิตมิตรภาพต่อกัน สามารถรวมใจรวมพลังกลุ่มชนหลายร้อยหรือนับพันถ้ารวมข้าราชการ พนักงาน และคนงานของสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ รวมถึงครอบครัวซึ่งท่านดํารงตําแหน่งหัวหน้าสถานีฯ ด้วยอีกตําแหน่งหนึ่ง ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยต่างปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นผลดีแก่ข้าราชการอย่างยิ่ง มีผลงานปรากฏมากมายหลายประการ
โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2477 ต่อมาใน พ.ศ. 2478 ก็เปิดหลักสูตรโรงเรียนมัธยมเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอีก และปีต่อ ๆ มาก็มีนักเรียนเพิ่มขึ้นจนถึงประมาณ 500 คน ซึ่งเป็นนักเรียนประจํา กินนอนในโรงเรียนทั้งหมด ฉะนั้น เกษตร – แม่โจ้ จึงตั้งภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเพียง 2-3 ปี นับได้ว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปสําหรับประชาชนหรือแม้ข้าราชการก็ตามที่จะมีความเข้าใจดีถึงระบอบนี้ ซึ่งมีหลักการแห่งความเสมอภาคในบุคคลรวมอยู่ ด้วย แต่อาจารย์พระช่วง ฯ ไม่จําเป็นต้องมีความเข้าใจหรือไม่จําเป็นต้องปรับตัวเองให้เข้าถึงหลักการแห่งความเสมอภาคแต่อย่างใด เพราะท่านมีอุปนิสัยอันแท้จริงในตัวของท่านเองอยู่แล้วในเรื่องความเสมอภาคในตัวบุคคล พอจําได้ว่าในสมัยนั้นมีนักเรียนซึ่งเป็นบุตรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้เข้าเรียนเกษตร-แม่โจ้ อาทิ
ม.ร.ว. จิรเดช กฤดากร | บุตร พล.อ. พระองค์เจ้าบวรเดช |
แผ่พืชน์ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา | บุตร พล.ท. พระยาเทพหัสดินทร์ |
ม.ล. ฉาบชื่น กําภู | บุตร พล.ท. พระยาศรีสรราชภักดี |
สุวรรณ จารทัต | บุตร พล.ต. พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม |
ถมยา บุณยเกตุ | บุตร พล.ต. พระยารณชัยชาญยุทธ |
จรัสพงษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา | บุตร พล.ต. พระยาวิเศษฤาชัย |
อิโนทัย บุนนาค | บุตร พระยาสุรพันธ์เสนี |
ฉลอง รักติปกรณ์ | บุตร พระยารักตประจิตธรรมจํารัส |
กัลป์ กนิษฐานนท์ | บุตร พระยาราชสีมาจารย์ |
กัสสปะ อัคนิทัต | บุตร ผอ. พระยาเทพสงคราม |
ง้าว สุคนธวัต | บุตร พ.ท. พระอาจหาญณรงค์ |
ประเสริฐ ชลทรัพย์ | บุตร พระประสงค์เกษมราษฎร์ |
ประสิทธิ์ อุเทนสุต | บุตร พระพลราษฎร์บํารุง |
สมนึก เสมรสุต (ปัจจุบันพ.อ.สมฯ) | บุตร หลวงศักดิ์โยธาบาล |
วิวัฒน์และวิบูลย์ บุณยปรัตยุต | บุตร หลวงวรวุฒิปรีชาเวชช |
ส่วนในสมัยต่อมาเมื่อเกษตรแม่โจ้ ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยและเปลี่ยนเป็นหลักสูตรเตรียมเกษตรศาสตร์แม่โจ้ ก็ยังมีบุตรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าศึกษาอีกมาก อาทิ
ศาสตราจารย์ระพี สาคริก บุตร พระมหาเทพกษัตริย์สมุทร
ท่านอธิบดีอนันต์ โกเมศ บุตร พระยาวินิจวนันดร
รองศาสตราจารย์พร เรศานนท์ บุตร หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ
ต้องขอกราบประทานอภัยต่อ ท่านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้บังอาจนำชื่อของท่านมากล่าวอ้างและอาจผิดพลาดในการใช้ยศบรรดาศักดิ์ และต้องขออภัยต่อเพื่อนชาวแม่โจ้ ที่เป็นบุตรของท่านด้วย และขณะเดียวกันก็ต้องขออภัยต่อเพื่อนอีกหลายคนที่เป็นบุตรข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน แต่มิได้นํามากล่าวอ้างเพราะไม่ทราบเป็นการแน่นอนถูกต้อง คงยกตัวอย่างเท่าที่ทราบ โดยมีเจตจํานงเพียงเพื่อแสดงให้ท่านได้ตระหนักในความจริงที่ปรากฏตาม หัวเรื่องว่า ไม่มีชนเหนือชั้นในแม่โจ้ เพราะอาจารย์พระช่วง ฯ ท่านได้ให้ความเสมอภาค แก่นักเรียนทุกคนโดยเท่าเทียมกันไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมาจากแหล่งกําเนิดใด เมื่อเข้ามาอยู่ในอ้อมอกของแม่โจ้แล้วจะต้องมีสิทธิและมีศักดิ์เท่าเทียมกันทั้งสิ้น ทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบ วินัย กฎ ข้อบังคับ ตรงต่อเวลา และปฏิบัติงานทุก ๆ อย่างเหมือนกันหมด เช่น การลากเข็นเกวียนบรรทุกฟืนส่งโรงครัวโดยใช้แรงงานจากนักเรียนเอง (ไม่ใช้แรงสัตว์ โค-กระบือ) การเป็นเวรทําความสะอาดหอพักซึ่งต้องหาน้ำดื่มไว้ให้เต็มสองตุ่มใหญ่ ๆ (โดยการใช้ปีบ 2 ใบหาบ น้ำฝนจากสถานีทดลอง ฯ มายังหอพักระยะทางประมาณ 1 ก.ม.) การให้อาหารสุกร ซึ่งต้องผสมปนกับเศษอาหารจากโรงครัวในถัง 200 ลิตร การแย่งปุ๋ยคอกสด ๆ จากโค กระบือ เพื่อนําไปบํารุงแปลงปลูกผัก การขุดตอไม้ โค่นไม้ เลื่อยไม้ ให้เป็นพื้น การหลีกเลี่ยงงาน การเอาเปรียบกินแรงเพื่อน การใช้เพทุบายด้วยประการใด ๆ ของนักเรียน จะไม่สัมฤทธิผลเป็นอันขาด เพราะอาจารย์พระช่วงท่านรู้เท่าทันหมดและจะถูกตัดคะแนนการปฏิบัติงานหรือคะแนน ความประพฤติ โดยทั่วหน้ากันไม่มีการละเว้น หรือเลือกที่รักมักที่ชัง
มีเหตุการณ์ที่ยกเป็นอุทาหรณ์ได้เรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความเสมอภาคของอาจารย์พระช่วง ฯ คือ ขณะที่เป็นวันเข้าเรียนปกติระหว่างสัปดาห์ มีคณะละครแม่เลื่อนมาแสดงในเมืองในเวลาจํากัด อันว่าละครแม่เลื่อนนั้นกล่าวกันว่ามีนางเอกที่สวยมากชื่อคุณวาสนา ซึ่งบรรดาหนุ่มลูกแม่โจ้อยากจะไปชมนักหนา หลังจากเลิกฟังคําบรรยายแล้วจึงพากันไปลาเข้าเมืองด้วยเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งอาจารย์ฯ ก็รู้ทัน จึงไม่อนุญาตสักรายเดียว แต่หนุ่มลูกแม่โจ้จํานวนหนึ่ง ต้องการจะดูบทบาทของคุณวาสนาในเรื่อง “แก้วลืมคอน” ให้จงได้ จึงได้หนีโรงเรียนไป และ กลับมาถึงโรงเรียนวันรุ่งขึ้นเวลา 6.00 น. ทันเข้าแถวตรวจชื่อเพื่อออกไปปฏิบัติงาน โดยคิดว่า อาจารย์ไม่ทราบ ตอนบ่ายมีระฆังเรียกประชุม ชาวคณะที่ได้ไปยลโฉมคุณวาสนา ถูกเรียกมายืนหน้าที่ประชุมทีละคนด้วยดวงหน้าที่ไม่มีสี และแล้วก็ถูกลงโทษทุกคน โดยชี้แจงความผิดให้ทราบก่อน ชาวคณะนี้จําไม่ได้ว่ามีใครบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็คือลูกท่านหลานเธอที่ค่อนข้างจะมีสตางค์นั่นแหละ
ความเสมอภาคของอาจารย์พระช่วง ๆ มิใช่จะมีให้แก่นักเรียนเท่านั้น แม้ในระหว่าง อาจารย์ ครู ท่านก็ได้ให้เท่าเทียมกัน โดยมิได้คํานึงถึงวิทยฐานะแต่อย่างใด อาจารย์หลายท่านมีปริญญาต่างประเทศ หลายท่านมีปริญญาในประเทศ ครูหลายท่านมีประกาศนียบัตรครูมัธยม หลายท่านมีประกาศนียบัตรครูประถม และอีกหลายท่านเป็นครูจากประสบการณ์ และความชํานาญงานโดยไม่มีวุฒิใด ๆ แต่อาจารย์พระช่วง ฯ ก็ให้การยกย่อง และให้มีศักดิ์และสิทธิโดยเท่าเทียมกัน ไม่มีคนสนิท ไม่มีแขนขวา แขนซ้าย หน้า หลัง ไม่มีนายสนองรับบัญชา และไม่มีมือปืน (ผู้ติดตามใกล้ชิด)
ในเมื่อเกษตร-แม่โจ้ มีความเสมอภาคในหมู่นักเรียน ในหมู่อาจารย์ และครูตลอดจนเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีชนเหนือชั้น (หรืออภิสิทธิ์ชน) จึงไม่มีการแก่งแย่ง ไม่มีการปัดแข้งขา ไม่มีความริษยาอาฆาตจองเวร แม่โจ้จึงสมบูรณ์เพียบพร้อมไปด้วยความสงบสุขและร่มเย็น เกิดความสามัคคีและมีพลังในการสร้างสรร เพราะความร่วมมือร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เกษตร-แม่โจ้ จึงมีชื่อเสียงระบือไปไกล ในเชิงกีฬาแทบทุกประเภท การแสดงดนตรี ละครรีวิว ความรักในหมู่คณะ และความรักต่อสถาบัน
ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ปัญหาเรื่อง ชนเหนือชั้น ได้เข้ามีส่วนเล่นบทบาทอย่างสูงส่งทุกวงการ เช่น วงการบริหารทุกระดับทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กระทรวง ทบวง กรม กอง โรงเรียน มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันวิชาการต่าง ๆ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชนทุก ขนาด วงการศิลปินและบันเทิง สื่อมวลชน สังคมการเมือง ผู้ใช้แรงงาน และสุดท้ายก็วงการ ปวงชนเอง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยถึงกับสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้สอดส่อง และขจัดให้หมดสิ้นไป แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลออกมาแต่อย่างใด ปัญหาจึงมีอยู่ว่าเราจะช่วยกันขจัด “ชนเหนือชั้น” ให้เบาบางลง หรือหมดสิ้นไปได้อย่างไร ถ้าเราไม่ใช้หลักความเสมอภาค อันเป็นหลักการสําคัญของระบอบประชาธิปไตย เพื่อขจัดช่องว่างระหว่างชนชั้น ตามแบบอย่างที่อาจารย์อํามาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการบริหารเกษตร-แม่โจ้ เมื่อ 48 ปี มาแล้ว จนกระทั่งได้รับการสถาปนา เป็น สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ในปัจจุบัน
ที่มา : หนังสือเกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอาจารย์อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524 หน้า 68 – 72