ในอ้อมอกแม่ (โจ้)

by

|

in

อ้อมอกแม่ (โจ้) แม้จะนานนับสิบปีเหมือนกับเพิ่งจากอกแม่เมื่อวานนี้เอง

 

พันธ์ บางกอก (สมพันธ์ ปานะถึก)
แม่โจ้รุ่น 11

ฝนมืดมัว ของเดือนพฤษภาคมพร้อมกับความเงียบเหงาคอยเราอยู่ที่ชนบทอัน เปล่าเปลี่ยวแวดล้อมไปด้วยทุ่งนา ป่าแดง ป่าตึง และภูเขาสีครามที่ล้อมรอบอยู่ไกล ๆ ของอำเภอสันทราย เชียงใหม่ วันนั้น ก้าวแรกของเราที่แม่โจ้ จึงมีทั้งความประหวั่นพรั่นพรึงและความแปลกใหม่ในการที่มาอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่บ้าน ตลอดจนมีความว้าเหว่ใจ

เมื่ออยู่ไป งานหนักเหน็ดเหนื่อย อาหารรสชาติไม่เป็นท่า แต่หมดรวดเร็วในชั่วพริบตา การเรียนเต็มเหยียด มีวิชาใหม่ ๆ ที่เริ่มต้นเรียนเป็นส่วนมาก การจัดระบบความเป็นอยู่ให้รู้จักความเป็นพี่น้อง รู้จักใจกว้าง เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว รู้จักกาละเทศะ รู้จักที่ต่ำที่สูงรู้จักมีไหวพริบ รู้จักสู้คน ทําให้เรากลายเป็นลูกแม่โจ้เข้าไปทุกที่

จุดมุ่งหมาย ประการสําคัญที่เราเข้ามาอยู่ในแม่โจ้ ก็เพื่อเรียน เพื่อต้องการวิชาสําหรับไปประกอบอาชีพ ในเบื้องหน้า และก็ไม่ว่า การศึกษา ในอาชีพใด ที่จะสบายเป็น ไม่มีสําหรับแม่โจ้เรายังยิ่งกว่านั้น เราต้องทำงานใช้แรงกายอย่างหนักคู่ไปกับการเรียนวิชาในชั้น ทำให้สมองของเราต้องเพิ่มภาระยิ่งขึ้น สมองตื้อกว่าธรรมดา ง่วงหลังอาหารมากขึ้น พยายามฝืนไม่ให้หลับในชั้นเรียนหรือเวลาทํางานหนังสือตอนกลางคืนมากขึ้น ดังนั้น การเรียนของเราจึงต้องอาศัยใจสู้มากกว่าธรรมดา เวลาที่ผ่านไปแต่ละวัน แต่ละเดือน ตลอดจนปี ช่างนานเหลือเกิน

บางครั้ง เราก็อดแอบภูมิใจเงียบ ๆ ของเราเองไม่ได้ ที่ร่างกายของเรากำยำล่ำสันขึ้น สูงขึ้น แข็งแรงขึ้น ความทรหดอดทนปรากฏอยู่ทั่วร่างและวิญญาณของเรา ทั้งนี้ก็เนื่องจาก การฝึกงานอย่างหนัก ที่พวกเราได้รับ อาจารย์ต้องการให้เราทํางานเป็นก่อนที่จะสอน ให้คนอื่นทำ อาจารย์ต้องการให้เราอดทนก่อนที่จะสอนให้คนอื่นอดทน และตัวเราเองนั้นหรือก็ต้องการอู้งานหรือเกงานเป็นก่อนที่จะป้องกันคนอื่น เกงาน เพราะในขณะนั้น อยากจะเลี่ยงงาน อู้งานให้มากที่สุด เพราะจะได้ไม่เหนื่อยและเราก็รู้ว่าวิธีอู้งานหรือเลี่ยงงานทำได้ อย่างไร เวลาเราต้องออกไปทำงานคุมงานนั่นแหละ ที่นี้เราจะรู้ละว่าคนที่ทำงานกับเรา คนไหนเป็นอย่างไรบ้าง (อาจารย์ก็คงรู้นิสัยว่าพวกเราคนไหนเป็นอย่างไร เพราะอาจารย์ท่านก็คงเคยอย่างเรามาแล้วเหมือนกัน) และก็ตอนนี้เรามีเพื่อนรักมากมาย ซึ่งจะลืมกันไม่ได้เลย

เราเบื่อเหลือเกิน เหงาเหลือเกิน เหน็ดเหนื่อย ขมขื่นเหลือเกิน ในขณะที่ใช้ชีวิตศึกษาอยู่ในแม่โจ้ แต่เวลาที่กําลังจะจากแม่โจ้นี้ซิ ให้สะท้อนสท้านใจ อาลัยอาวรณ์

เหมือนลูกจากแม่ที่ดุเข้มงวดกวดขัน แต่มีน้ำใจอันปรานี
เหมือนลูกจากแม่ที่แม้เป็นคนบ้านนอก แต่ก็งดงามเฉลียวฉลาด
เหมือนลูกจากแม่ที่แม้เป็นคนจน แต่ก็เลี้ยงลูกให้ได้ดี

น้ำตาของเราซึมในยามนั้น และไหลลงไปที่หัวใจ เราบอกกับตัวเองว่าเราจะ กลับมาหา มาเยี่ยม มาทำนุบำรุงแม่ เชิดชูชื่อเสียงของแม่ เราจะไม่ลืมแม่ (โจ้) ของเรา ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน และ นานแสนนานสักเพียงไรก็ตาม

 

แหล่งที่มา : หนังสือ “อนุสรณ์แม่โจ้ รุ่น 33″ 
ผู้เขียน : พันธุ์ บางกอก 24 กันยายน 2513