Maejo University Oral History
เรื่องราวเหตุการณ์ ประสบการณ์ คำบอกเล่า จากศิษย์เก่าแม่โจ้ เพื่อการเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้่
September 24, 2024
Share this:
วุฒิ ชพานนท์ ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 22 ได้เล่าว่า “เรื่องเล่าในแม่โจ้มันเยอะมาก รุ่น 22 เป็นรุ่นแรกที่สอบเข้า เขาเปลี่ยนเป็นนักเรียนทุนแต่ละจังหวัด แต่ละจังหวัดเขาจะคัดเลือกกันจังหวัดไหนเล็กก็คัดมาคนเดียว ผมอยู่กรุงเทพคัดได้มา 8 คน เป็นนักเรียนบำรุงทั้งสิ้น อยู่ฟรีกินฟรี ก็ครบทุกจังหวัด ผมเป็นคนชอบทำกิจกรรม และเป็นคนสอดรู้สอดเห็น เข้ามาปีแรกก็ได้เป็นหัวหน้าหอติดต่อกันมา 3 ปี หอแรกเป็นหอเทพนิรมิต ปัจจุบันก็อยู่ที่โรงอาหารเทิดกสิกรแล้วก็มาหอสหศิลป์สุดท้ายก็หอศรีเกษตรอยู่หน้ามุขตลอดเพราะเป็นหัวหน้าหอได้นอนเตียง เป็น อนม วารสาร หัวหน้าหอ เรื่องเรียนไม่ขาด จะขาดก็ลงงานช่วงบ่ายตลอดปี 1 ต้องมาชดเชยงาน ขุดสระข้างศาลเจ้าแม่แม่โจ้จำนวน 12 คิว ต้องขุดช่วงเย็นค่ำใช้ตะเกียงรั้ว พอออกจากแม่โจ้พบพี่สุนทร (บุญมี) ภักดี รุ่น 6 แกมาชักชวนไปทำงานกับพระช่วงเกษตรศิลปการก็ดีใจตกลงไป กิตติศัพท์ของท่านใครๆ เขาก็กลัวปรากฎว่าขึ้นบันไดที่พักขึ้นไปรุ่นพี่คลานเข้าไปไม่ได้เดิน เราก็ต้องคลานตามไปเหมือนในช่วงรับน้องใหม่นั่นแหละรุ่นผมเขาให้คลานรอบสระนะ ไม่ได้เดิน
สิ่งหนึ่งที่พระช่วงเกษตรศิลปการ ท่านสัมภาษณ์ ท่านถามคำแรกว่า
พระช่วงฯ : หอระฆังฉันยังอยู่ไหม
พี่วุฒิ : อยู่ครับ
พระช่วง : แล้วสระของฉันล่ะยังอยู่ไหม
พี่วุฒิ : อยู่ครับ
พระช่วง : แล้วเธอเคยลงหรือไหม
พี่วุฒิ : เคยลงหลายครั้งครั
พระช่วง : ถ้ายังงั้นก็เป็นลูกแม่โจ้ รับทำงานเลย
ท่านก็ให้ไปเป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกปศุสัตว์ไปอยู่กับรุ่นพี่รุ่น 10 ก่อนทำงานท่านก็บอกว่า “เธอเป็นนักเรียนแม่โจ้มา เราไม่ได้เป็นพนักงานออฟฟิศ เราทำงานภาคปฏิบัติ เพราะฉะนั้นอย่าใส่เสื้อขาวให้ฉันเห็นและทำงานกับฉันเธอต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ถ้าลูกน้องทำผิดต้องบอกให้ลูกน้องรู้ทันทีว่าเขาผิด แต่ว่าอย่าทำโทษถึงขั้นที่เรียกว่าไม่เปิดทางให้เขา ต้องเปิดทางให้เขาลอดช่องได้ต้องให้โอกาสเขา ตลอดเวลาที่ฉันไปอยู่ที่แม่โจ้ ฉันตั้งใจเข้ามาสร้างคนหน้าที่ของฉันคือสร้างคน ฉะนั้นฉันอยากให้เธอคิดเหมือนฉันคือไปสร้างคน” ไอ้เราก็ฟังจากท่านทุกสิ้นปีท่านก็จะพูดอย่างนี้ตอนปีใหม่อยู่กับท่านก็เลยมีโอกาสพิเศษ ท่านถามว่า “พื้นที่ที่เราอยู่ประมาณสองหมื่นไร่เนื้อที่มันใหญ่ คนทำงานเยอะนับพันเราควรจะมีอะไรบ้าง” ท่านก็ถามใครต่อใครแต่ทุกคนกลัวท่านก็ตอบไปแบบสุภาพเรียบร้อย ควรจะมีไอ้นู้นไอ้นี่ พอท่านหันมาที่ผม “แล้วเธอล่ะ” เลยเสนอว่า “อยากให้มีโต๊ะบิลเลียด” ปรากฎว่าเป็นที่ถูกใจท่านก็เลยได้โต๊ะบิลเลียด ท่านกำชับว่า “ต่อไปเธอต้องทำหน้าที่ดูแลฉันด้วยเวลาฉันลงมาในสโมสรมาเล่นบิลเลียดเธอต้องมานั่งในนี้ และมีหน้าที่ต้องไปส่งฉันด้วยจนถึงที่พัก” ผมเลยต้องเป็นคนสนิทประจำตัวท่านซึ่งท่านได้อบรมสั่งสอนไว้มากมาย ในที่นั้นมีรุ่นพี่ทำงาน มีรุ่น 6 รุ่น 8 รุ่น 9 รุ่น 10 อยู่ในนั้นหลายคน หลังจากดูแลท่านก็ต้องมาอยู่กับพี่ๆ เป็นเพื่อนกินเหล้าด้วยทุกเย็น และได้รับความรู้จากพี่ๆ มากมาย จนนึกว่าเรากลับมาอยู่ในแม่โจ้ เพราะพี่ๆ จะคุยแต่เรื่องเก่าๆ ในแม่โจ้ ผูกพันกับแม่โจ้มากมาย จนชีวิตผันผวนไปหลายที่
พระช่วงเกษตรศิลปการท่านว่า “เธออดทนสู้งานฉันจะไปขอเด็กแม่โจ้จากอาจารย์บุญศรีมาอีกสัก 20 คน”แล้วมาขอจริงๆ ท่านอาจารย์บุญศรี ส่งไป 22 คนที่มีรายชื่อส่งไป แต่มันก็มีผีตามไปอีก 10 คน นอกเหนือจาก 22 คน อาจารย์พระช่วงก็บอกฉันขอไป 20 คน เขาส่งมา 22 คน แต่พอนับแล้วมัน 30 กว่าคน ฉันจะทำยังไงเนี่ย ท่านเลยหันมาถามผมว่า “ฉันควรจะทำยังไงดี” ด้วยความที่เรายังหนุ่มอายุยังน้อย ก็เลยตอบท่านว่า “ท่านกรุณารับไว้เถอะครับ” อาจารย์พระช่วงถามว่า “จะให้เขาทำงานอะไรจะให้เขาอยู่ยังไง” เลยตอบว่า “ให้มาพักกับผมทั้งหมดก็ได้ครับ” พระช่วงก็เลยตอบ “ถ้างั้นทั้ง 30 กว่าคน ฉันยกให้ไปอยู่กับเธอหมดเลย เธอดูแลเขาให้ได้นะ” แล้วท่านก็กรุณารับไว้ทั้ง 30 กว่าคน ตอนหลังกลับมาเรียนต่อจนจบ ดร. ไปก็หลายคน ส่วนผมท่านว่า “เธอทำงานกับฉันมาตั้ง 2 ปีแล้ว ไปเมืองนอกสักทีเถอะ ฉันจะขอทุนให้ จากหม่อมเจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ เป็นทุนรัฐบาลต่างประเทศ” ก็เลยได้มีโอกาสไปเรียนอินเดียจากทุนรัฐบาลอินเดียกับเดนมาร์ก ที่อินเดียนี่สาหัสถ้าไม่ผ่านแม่โจ้มาก่อนคงย่ำแย่เพราะเป็นประเทศใหญ่ประชากรเยอะความลำบากมีมาก ด้านเทคโนโลยีเขาเจริญกว่าเราแต่สังคม เศรษฐกิจเขาลำบากกว่าเรา ชีวิตที่อยู่ที่นั่นลำบากมากอาศัยเป็นนักเรียนทุนเขาจ่ายเงินให้ทุก 15 วันก็สบายกว่าคนอื่น กินนอนในหอพักกินฟรีที่พักฟรีแต่ความลำบากก็เยอะ ถ้าไปเผลอเข้าเมืองกรุงบอมเบย์ถ้าไปตกรถละนอนข้างถนนกับคนในอินเดีย เขาก็นอนกันบนฟุตบาทนะคนจนๆ การที่ผมได้ไปเรียนเมืองนอกก็จากพระคุณของท่าน ผมก็เลยมาขอทรานสคริปท์ที่แม่โจ้ 2 ชุด อาจารย์บุญศรี บอกเอาไป 10 ชุดเลย ความผูกพันของแม่โจ้กับครูบาอาจารย์ รวมทั้งที่เรียนมันมีมากมาย จนช่วงหลังปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมาก็เลยกลับมาแม่โจ้ มาร่วมประชุม มาร่วมสังสรรค์ จนบัดนี้ ราวๆ 40 ปีที่อยู่ในแม่โจ้ ช่วยกิจการทุกอย่าง แม้กระทั่งช่วยเป็นกรรมการต่างๆ ช่วยสอนหนังสือ ทุกอย่างที่จะช่วยแม่โจ้ได้ก็คงจะมาอุทิศตัวช่วยแม่โจ้ ทุกอย่างที่เราเจริญก้าวหน้าได้มาจากในแม่โจ้ทั้งนั้น “ชีวิตจิตใจมอบให้แม่โจ้ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
ผู้ให้ข้อมูล: วุฒิ ชพานนท์ แม่โจ้รุ่น 22
ผู้สัมภาษณ์: อนุสรณ์ วิจารณ์ปรีชา แม่โจ้รุ่น 53
ความผูกพันของแม่โจ้กับครูบาอาจารย์ รวมทั้งที่เรียนมันมีมากมาย จนช่วงหลังปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมาก็เลยกลับมาแม่โจ้ มาร่วมประชุม มาร่วมสังสรรค์ จนบัดนี้ ราวๆ 40 ปีที่อยู่ในแม่โจ้ ช่วยกิจการทุกอย่าง แม้กระทั่งช่วยเป็นกรรมการต่างๆ ช่วยสอนหนังสือ ทุกอย่างที่จะช่วยแม่โจ้ได้ก็คงจะมาอุทิศตัวช่วยแม่โจ้ ทุกอย่างที่เราเจริญก้าวหน้าได้มาจากในแม่โจ้ทั้งนั้น “ชีวิตจิตใจมอบให้แม่โจ้ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
เชิญชวนศิษย์เก่าแม่โจ้ ร่วมเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการบอกเล่าประสบการณ์จากอดีตที่ผ่านมาของท่านในแม่โจ้
สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลได้ที่ ฝ่ายจดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาคารวิภาต บุญศรี วังซ้าย
โทร. 0 5387 3508
หรือสามารถติดต่อได้ที่ Facebook: จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้