ผู้คุมกฎประเพณี ผู้คุมกฎหอพัก คำเรียกนายร้อย

Archives-Logo-2021-black-3500x1000

Maejo University Oral History

เรื่องราวเหตุการณ์ ประสบการณ์ คำบอกเล่า จากศิษย์เก่าแม่โจ้ เพื่อการเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้่

            ปี พ.ศ. 2500 สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาต้องเรียกว่าเป็น “ประเพณี” คือ ใครเข้ามาปีหนึ่ง ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว ต้องอยู่ในแปลงผัก ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก แต่หลังจาก 7 วันเขาก็ปล่อยกฎ ได้สนุกสนาน ไม่ต้องมาจูงรถเดินอย่างทุกวันนี้ จะใส่เสื้อผ้าหรือนุ่งกางเกงยีนส์นุ่งอะไรก็ได้จะกอดคอกับรุ่นพี่ไปเที่ยวก็ได้ แต่น้องอย่าทำผิดตามมาตราบทบัญญัติในธรรมนูญก็แล้วกัน อยากจะใส่เสื้อสีสัน ลวดลาย ใส่รองเท้าสีแดง เชือกรองเท้าเขียว หากรุ่นพี่เห็นเข้าก็แค่ทัก

            “เฮ้ย! …ใส่อย่างนี้เหรอเดี่ยวกูเอามั้ง!” พี่เขาไม่เห็นทำอะไรเลย

            ใส่เสื้อตัวไหนเท่ ๆ สวย ๆ รุ่นพี่เห็นเข้า

            “เสื้อแม่งเท่เอามาจากไหนวะ อาทิตย์หน้ายืมใส่มั่งนะ”

            “เฮ้ย!..น้องมาให้พี่ยืมใส่หน่อย”

            ก็อยู่ด้วยกันอย่างนี้ แต่ถ้าทำผิดบทบัญญัติในธรรมนูญรุ่นพี่เขาก็จะเอาลงน้ำลงสระ เขาไม่ได้มาคุมกฎ คือ ตามบทบัญญัติในประเพณีเท่านั้น สมัยก่อนเขาทำอย่างนั้น หลังวันที่ 7 จบกันแค่นั้นจะลงน้ำลงสระ ต้องทำผิดตามบัญญัติในธรรมนูญเท่านั้น นอกนั้นแล้วมีอิสระเสรีไม่ได้มาบังคับน้องอะไร นอกจากทำผิดเท่านั้น ถ้าทำผิดร้ายแรงบางเรื่องก็เอาลงน้ำทันทีโดยเฉพาะ ถ้าลงน้ำแล้วไม่มีการตัดคะแนนความประพฤติเหมือนปัจจุบันนะ ยิ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ต้องไปพูดกับรุ่นพี่เก่าเขาเลย ส่วนเรื่องระเบียบวินัยนั้นเพื่อให้รุ่นน้องรู้จักการรักษาระเบียบวินัยตลอดปีมันจะได้ฝังลึก รุ่นพี่บางคนทำตัวไม่ถูกไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ปล่อยเสื้อออกนอกกางเกง ผมยาว หนวดเครา รุงรัง นั่งกินเหล้าเบียร์ในชุดเครื่องแบบชุดนักศึกษาอย่างนี้

            สมัยก่อนเราเคารพอาจารย์เจอท่านที่ไหนต้องเคารพ จะใช้วิธีหยุดคำนับอาจารย์ อาจารย์ผ่านมาคำนับอาจารย์ อาจารย์ขี่จักรยานเราเดิน อาจารย์ขี่ผ่านมาก็ให้เกียรติอาจารย์ ถ้าอยู่บนตึกเรียนก็ไม่ต้องคำนับแค่ยืนตรงให้อาจารย์เดินผ่านไป ก็ถือว่าแสดงความเคารพ สมัยนั้นเขาทำกันอย่างนั้น แต่ว่าพอนั่งเสร็จแล้วก็คุยกันได้ อาจารย์ครับบุหรี่ผมหมด ยกมือไหว้ขอบุหรี่มวนครับ อาจารย์ก็อุทานว่า “หาอะไร เงินไม่มีแล้วเหรอ” “หมดแล้วครับ” พอได้มวนนึงแล้วก็วิ่ง ๆ ไป ยกมือไหว้ โอ้โฮ ผี ๆ ตามกันเป็นขบวน ขอมีส่วนร่วมสูบบุหรี่ทีตามเป็นแถว กว่าจะกลับมาคนที่หนึ่งอีก อ้าว..เรียบหมด สมัยก่อนเราอยู่กันอย่างนี้แม่โจ้ถึงรักกันทั้งลูกศิษย์และอาจารย์อีกคนที่ได้รับความเคารพนับถือ ก็คือ หอ ในหอ ถ้าเป็นนอกหอก็เป็นตามกฎระเบียบตามประเพณี แต่ในหอนั้นอำนาจทั้งหมดอยู่ที่หัวหน้าหอ แล้วก็ทำโทษได้เลย หัวหน้าหอจัดเวรวันนี้สองคน ทำความสะอาดหอ ไม่สะอาดเหรอ พรุ่งนี้ก็อยู่เวรซ้ำ ถึงจะรุ่นเดียวกันก็เถอะ พรุ่งนี้ก็ทำซ้ำอีก แต่ถ้าสะอาดโอเค เพื่อนไม่มีใครด่าก็โอเค พรุ่งนี้เวรคู่ใหม่ก็อยู่ต่อไปเรื่อยอย่างนี้ ทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ จับโยนน้ำหน้าหอได้ โยนบกหน้าหอมั่ง อะไรตามหอเขาทำกันแล้วก็ไม่ต้องไปถึงประเพณีหรอก ทำกันในหอได้ หัวหน้าหอนี่สั่งงานได้ทุกอย่าง แต่ถ้าจะทำโทษนี่หัวหน้าหอต้องเป็นปีสอง หัวหน้าหอปีหนึ่งสั่งตรงนี้ไม่ได้ แต่หัวหน้าปีหนึ่งนี่สั่งอย่างอื่นได้หมดแล้วหัวหน้าหอก็จะได้สิทธิพิเศษได้อยู่หน้ามุกพร้อมรองหัวหน้าหอไม่ต้องปลุกแถวเหมือนทหารผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนแม่โจ้ตลอดเวลานี่ได้อยู่หน้ามุกตลอด 3 ปี ไม่ได้อยู่ในห้องอย่างเขา

            คำที่เรียก “นายร้อย คุณนาย” คือ วัฒนธรรมอันหนึ่งเรียกผู้ชายว่านายร้อย เรียกผู้หญิงว่า คุณนาย (แม่โจ้ มีนักศึกษาหญิงเริ่มที่รุ่น 27) ที่เรียกกันอย่างนี้ก็เพราะว่าอาจารย์พระช่วงฯ ท่านเป็นครูอบรมจากผู้บังคับหน่วยนายทหารสัญญาบัตร แล้วท่านเคยเข้าอยู่ในโรงเรียนวชิราวุธ โรงเรียนวชิราวุธก็ใช้กฎระเบียบแบบทหาร แล้วโรงเรียนทหารก็ใช้กฎระเบียบแบบทหาร เมื่อท่านมาอยู่ที่แม่โจ้ ท่านก็นำกฎระเบียบอย่างนั้นมาใช้กับนักเรียนแม่โจ้ โดยหัวหน้าหอกระทำหน้าที่เป็น ผู้ช่วยอาจารย์ดูแลพวกนักศึกษาในหอ ประเพณีนี่ก็ทำหน้าที่ดูแลนักศึกษาทั้งหมดแทนครูอาจารย์รวมทั้งความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนวิธีการปฏิบัติก็ใช้วิธีวินัยของทหารอย่างเช่นการอยู่ในหอการบังคับ บัญชาในหอมันก็เหมือนกับโรงเรียนทหาร เพราะฉะนั้นเราก็เลยเอามาล้อกันว่านายร้อย คุณนายไป นี่คือที่มา

 

ผู้ให้ข้อมูล: วุฒิ ชพานนท์ แม่โจ้รุ่น 22
ที่มา: หนังสือบันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน

สิ่งที่ยึดถือปฏิบัติสืบกันมาต้องเรียกว่าเป็น “ประเพณี” คือ ใครเข้ามาปีหนึ่ง ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว ต้องอยู่ในแปลงผัก ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก ส่วนคำที่เรียก “นายร้อย คุณนาย” คือ วัฒนธรรมอันหนึ่งเรียกผู้ชายว่านายร้อย เรียกผู้หญิงว่า คุณนาย 

เชิญชวนศิษย์เก่าแม่โจ้ ร่วมเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการบอกเล่าประสบการณ์จากอดีตที่ผ่านมาของท่านในแม่โจ้

สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลได้ที่ ฝ่ายจดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาคารวิภาต บุญศรี วังซ้าย

โทร. 0 5387 3508

หรือสามารถติดต่อได้ที่ Facebook: จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้