งานทอดกฐินแม่โจ้

Archives-Logo-2021-black-3500x1000

Maejo University Oral History

เรื่องราวเหตุการณ์ ประสบการณ์ คำบอกเล่า จากศิษย์เก่าแม่โจ้ เพื่อการเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้่

          การหลอมลูกแม่โจ้รวมกันในยุคนั้นนอกเหนือจากกิจกรรมรับน้องใหม่ ก็เป็นงานทอดกฐิน ถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแม่โจ้ ไปอยู่ที่ไหนก็อยากจะกลับมางานกฐินแม่โจ้เพราะงานกฐินแม่โจ้ 5 คืนหรือ 7 คืนนี่แหละผมจำไม่ได้ แล้วมีมวยชกที่เวทีชื่อ เวทีพระพิรุณ คืนหนึ่งชกไม่ต่ำกว่า 50 คู่ ของเราบ้าง ชาวบ้านบ้าง พวกเราก็ชก และถ้าพวกเราแม่โจ้ขึ้นชก วิชาพละปลายปีนั้นไม่ต้องเรียนเพราะได้คะแนนและมีชื่อขึ้นทะเบียนชกมวยไปแล้ว ฉะนั้นผมจะชกมวยนี่ผมจะไม่ต้องสอบพละปลายปี อาจารย์มณฑล ถาวร จะไม่เรียกสอบพละครับ! แล้วชาวบ้านนี่ เข้ามาในบริเวณแม่โจ้ รับรองได้ว่า มีความปลอดภัย 100% ชาวบ้านจะเมายังไง สะเปะสะปะยังไงมา พวกเรานี่จะไม่ไปถือโทษโกรธเลยจะหานั่นให้กิน จะหาน้ำให้กินอะไรอย่างนี้ พวกเราจะดูแลความสงบเรียบร้อย ปีหนึ่งผมไม่ทราบว่าได้เงินเป็นแสนนะ เพราะเขาไม่ได้เฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่ให้ เขาจะมีหนังสือเวียนไปถึงผู้ปกครอง ทั่วประเทศ ผู้ปกครองก็จะส่งเงินมาร่วมทำบุญทอดกฐินครับ! อย่างนั้นเลย

          ประเพณีทอดกฐินนี่ถือว่าเป็นงานที่สนุกสนานของแม่โจ้ ไม่ใช่สนุกสนานของพวกเราอย่างเดียว ครูบาอาจารย์ก็พลอยสนุกสนานไปด้วยครับ! อย่างอาจารย์เกื้อ ศุขรักษ์ อาจารย์ภาษาไทยเนี่ย พอมาถึงงานประเพณีนี่ ปล่อยหมดเลยทุกอย่าง อาจารย์ปกครองก็อาจารย์เนตร เริ่มศิริ ผู้อำนวยการใหญ่คืออาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้ายแล้วท่านก็มีฝีมือทางการทำอาหารอย่างมากเลย สมเด็จย่าเสด็จฯ มาทางภาคเหนือ อาจารย์บุญศรีจะต้องเข้าเฝ้าแล้วก็ทำอาหารให้เสวย แล้วพระองค์ท่านจะเรียกอาจารย์บุญศรีว่า “บุญศรีๆๆ” สมัยก่อนไม่มีซี ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก แล้วของเรานี่เป็นชั้นพิเศษ มีสองคนในจังหวัด คือ ผู้ว่านิรันดร ชัยนาม ชั้นพิเศษ อาจารย์วิภาต บุญศรี วังซ้าย พิเศษแล้ว ข้าราชการชั้นพิเศษนี่ไม่ใช่ได้มาอย่างนั้นนะ จะต้องมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนะ พวกเราฟังวิทยุมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายวิภาต บุญศรี วังซ้ายเป็นข้าราชการชั้นพิเศษ ดีใจกันสุด ๆ เรื่องสูตรอาหารท่านน่ะเหรอพวกเราหลายคนนี่แหละที่ได้จดจำตำรากันไว้แต่ได้ไม่ถึงก้นบึ้งอาจารย์จริง ๆ ครับ

          อย่างสูตรทำวัวหันผมขออนุญาตพูดว่า ผมกับข้าราชการทั่วไปของจังหวัด และอย่างกองทิพภาคเมื่อเขาจะมีงานใหญ่งานโตเขาจะให้ทหารมาติดต่อผม บอกว่า “เฮ้ย! ขอให้หัวหน้าย้อย ทำวัวหันให้หน่อย” สมมติว่ามีสูตร 10 อย่างอาจจะได้เพียง 8 หรือ 9 อย่างนี้ครับ! ไม่มีใครทำหรือว่ามาต่อ พอลงมือทำก็สะเปะสะปะทำกันไป อย่างที่ผมไปที่สิงห์บุรีไปที่ชัยนาทมันไม่ใช่รสชาติอย่างนั้น ไม่ใช่ ผมขออนุญาตพูดว่าผมเคยหันวัวถวายพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ ในช่วงที่พระองค์นำกษัตริย์เดนมาร์คมาเสวยพระกระยาหารค่ำที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เปิดใหม่ ๆ ผมไปหันวัวถวาย พระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ มาทรงรับสั่งถามว่า “แกะใช่ไหม” ผมบอก “ไม่ใช่พระเจ้าค่ะวัวพระเจ้าค่ะ” พระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงชี้มาตรงเสือร้องไห้ ผมคิดในใจว่า…. ในหลวงรู้จักเสวย อร่อย.. ผมได้ใกล้ชิดมากพระองค์ท่านมีผิวพรรณผุดผ่อง พระหัตถ์เรียวงามตอนนั้นพระตำหนักภูพิงค์เริ่มเปิดใหม่ นักเรียนแม่โจ้เข้าไปมีส่วนเยอะเพราะว่าไม่มีที่อื่นนี่ มีแม่โจ้เท่านั้นแหละ คนที่นำไปก็คืออาจารย์โยธิน วดีศิริศักดิ์ เดินไปทางดอยปุย ไม่มีใคร นักเรียนเกษตร ก็มีแต่แม่โจ้เท่านั้นแหละที่อื่นไม่มี ผมถือว่าเราเป็นผู้มีเกียรตินะแม่โจ้ครับ! ส่วนโครงการหลวงต่างๆ นี่เกิดทีหลัง

          หลังจากวันที่ 7 ไม่มีกิจกรรมอะไร นอกจากไปทำผิดอะไรมาล่ะก็โดนละอันนี้แหละนะทำผิดนี้หมายถึงว่า คือของเรา ลักขโมยไม่มีเลยเด็ดขาด ชกต่อยกันเองมีบ้าง นิดๆ หน่อยๆ ครับ! อย่างอื่นไม่มีอะไร ศาลเจ้าพ่อไม่มี มีแต่ศาลเจ้าแม่ คือที่ผมเรียนกับท่านนี่ พวกที่ตอนจบปี 3 แล้ว เอ็นทร๊านซ์กลับเข้ามาใหม่ เขาก็รับ 50 คน สัตวบาล 25 คน พืช 25 คน แต่ที่จบจริง ๆ แค่ 47 คน รุ่นนั้นที่ขาดหายไป 3 คน เพราะว่าต้องดรอปไม่งั้นไม่รอด

          กฐินนี่เลื่องชื่อเลย ปีหนึ่งก็วัดหนึ่ง ๆ เราเอาเงินเป็นก้อนไปให้วัดเลย บริเวณใกล้เคียงเรานี่แหละไม่มีมหรสพอย่างสมัยก่อนซึ่งถือเป็นงานใหญ่ประจำปีมีหนังกลางแปลง มีซอ มีมวย แล้วก็มีการละเล่นอะไรต่ออะไรสนุกสนานมาก แม่โจ้เราจะมีงานยังไงก็ไม่มีชกไม่มีต่อยกัน เราไม่เคยข่มเหงรังแกชาวบ้านเลยชาวบ้านจึงรักเรา รักพวกเราครับ

          ความเป็นพี่เป็นน้องของแม่โจ้นี่เข้มข้นมาก เราจะเคารพนับถือระบบซีเนียร์กัน เคารพนับถือจริงๆไม่มีเลยที่จะไปละลาบละล้วงกัน ผมอยู่ปีหนึ่งแล้วก็เพื่อนรุ่นเดียวกันเรียนมัธยมมาด้วยกัน แล้วก็มาอยู่ผมอยู่ปีสอง เขาอยู่ปีหนึ่งปีนี้จะไปละลาบละล้วงตบบ่ารุ่นปีสองซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันมาตั้งแต่มัธยมไม่มี พอมาอยู่ที่นี่แล้วไม่กล้าเลย เพราะอะไรรู้ไหม ที่ไม่กล้าเพราะอย่างท่านกับผมเรียน มัธยมปีเดียวกันมาแต่เผอิญท่านมาเรียนที่หลังผม เข้าแม่โจ้ที่หลังผมแต่ท่านมาถึงจะมา

“เฮ้ย! ย้อยโว้ย” อย่างนี้ ไอ้ผมไม่ว่าเพราะเพื่อนกัน แต่เพื่อนรอบข้างที่รุ่นเดียวกับผมสิ

“อ้ะ! ไอ้นี่บังอาจ” โทษเรื่องบังอาจนี่สำคัญนะ เข้มข้น และการเรียนนี่เราเรียนเช้าครับ!

          แปดโมงกินข้าวต้มโรงครัวเสร็จเข้าห้องเรียน พอถึงเที่ยง เราก็กินข้าวโรงครัวกลับหอใครหอมัน เปลี่ยนชุดทำงาน มันก็จะมีเพลงว่า “บ่ายโมงก็ลงงาน หาความชำนาญเพื่อให้เคย”แล้วผมพูดนอกเรื่องไปนิดหนึ่ง แล้วฝนที่นี่นะครับเป็นฝนรัฐบาล พวกเราเรียกฝนรัฐบาล ตั้งแต่เช้า ถึงเที่ยงตกจริงตกจังตกเสียจนเดินไปกินข้าวโรงครัว ขอโทษ! ลุยน้ำที่สนามจากตึกเรียนนะ ตึกเรียน มีตึกเดียว คือ ตึกคุณพระช่วง เดินไปโรงครัวไปกินข้าวกัน พอกินข้าวเสร็จฝนก็ตก ต้องเอาอะไรปิดหัวเดินไปหอ พอใกล้จะถึงบ่ายโมงจะต้องลงงานฝนหยุด แดดแจ้นเลย แหม! มันทารุณเสียไม่มีเลย คือ ถ้าฝนตกเลยบ่ายโมงไปสัก 5 นาทีนี่ ไม่ลงงานกันแล้วก็จะนอนหอคุยกันนี้ แต่ถ้าก่อนบ่ายโมงฝนหยุดต้องไป แล้วก็อาจารย์รัตน์ ชลลัมพี นี่ ฝนจะตกแดดจะออก ไม่ได้บอกให้หยุด มึงอย่าหยุดเชียวนาไอ้เรื่องลงงานเนี่ย โอ้โฮ! ที่แม่โจ้นี่นะ เป็นสถาบันชีวิตจริงๆ พอเราจบไปนะครับท่าน เราไปปกครองลูกน้องปกครองคนงานน่ะ เราดู เราเหลือบตาไปดู เรารู้เลยไอ้คนไหนที่กะล่อน ไอ้คนไหนที่วอก ไอ้คนไหน ที่ยืนให้จอบกินนม อยู่เป็นประจำนี่รู้หมดเลย

          แล้วก็อยู่ที่แม่โจ้เนี่ย อาจารย์สอนน่ะ เอ้า! เอาถั่วเขียวไปคนละกิโล ไปนับมา เอาถั่วเหลืองไปคนละกิโลไปนับมา เอาข้าวไปกิโลไปนับมา ไอ้เราเรียนหนังสืออยู่ มันจะให้ไปนับทำอะไรวะ มันนับทำอะไร พอเราจบไปแล้วนะท่านนะ พอไปคุยกับคนอื่นนักวิชาการอะไรเนี่ย เฮ้ย! ถั่วเขียวเนี่ย กิโลหนึ่งน่ะสี่พันห้าร้อยกว่าเมล็ด ถั่วเหลืองสามพันหกร้อยเมล็ด ข้าวโพดสองพันแปดร้อยกว่าเมล็ดเราพูดได้อย่างนี้ปุ๊บเนี่ย คนอื่นว่าเฮ้ย! มันรู้จริงนี่หว่า เพราะอะไร ประโยชน์ที่จะตามมาก็คือว่าอย่างหยอดข้าวโพดเนี่ย ไร่หนึ่งใช้กี่กิโล พอใช้กี่กิโลล่ะ แล้วมันจะได้กี่ต้นมันคำนวณขึ้นมาได้เลย มันเป็นอย่างนั้นท่าน ไอ้ตอนเรียนอยู่ไม่รู้เรื่อง เอ้า! แล้วอาจารย์วิภาตสอน ไปหาสุภาษิต ภาษาไทย 50 ภาษาอังกฤษ 20 พวกเราก็ไปใช่ไหม! โอ้โฮ! น้ำขึ้นให้รีบตัก หนึ่งแล้วนะ ใจเร็วด่วนได้ไม่สู้ดี ช้าๆได้พร้าเล่มงาม อะไรอย่างนี้ฮะ เราก็มา เอ! มันจะมีประโยชน์อะไร เอามา คือตอนเป็นเด็กน่ะไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์อะไรหรอก แต่พอเราได้ออกไปเสร็จแล้ว ทำงานกับคนรอบข้างคนอื่นนี่เราถึงจะรู้ว่า เออ! มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ เนี่ยครับ! ที่แม่โจ้เราฝึกความอดทน มีวินัย ขยัน เข้มแข็ง

          จอมพลสฤษดิ์ เคยพูดให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นี่จะไปหานักเรียนเกษตรเนี่ย ได้อดทน บึกบึนขยันขันแข็ง แล้วก็มีความเคารพนบนอบต่อผู้บังคับบัญชาได้อย่างแม่โจ้นี่ไม่มีแล้ว ให้สัมภาษณ์อย่างนี้ฉะนั้นพวกที่รุ่นพี่ก่อนๆ ผมน่ะ เขาถึงไปเป็น ทส. ไปเป็นทหารอยู่กับจอมพลสฤษดิ์หลายคน อย่างอาจารย์เพียร จันทร์สืบศรีนี่ ร้อยเอกประสงค์ คงพิชญานนท์นี่ พันตรีประทีป กิตติรัตน์นี่ พวกนี้รุ่นก่อนผม ทั้งนั้นแหละไปเป็นทหารกัน ไปเป็นทหารแล้วไม่เคยทำให้เสียชื่อ แล้วท่านลองนึกดูแล้วทหารท่านอยู่แต่ในแวดวงทหาร ทหารจะเป็นใคร ทส. รอบข้างท่านนี่พูดแต่เรื่องของทหาร จะไม่พูดเรื่องสัพเพเหระ

          ข้างนอกเลยถ้าไปคุยกับทหารผมเคยอยู่กับผู้ใหญ่ พอเราคุยเรื่องนี้ท่านก็ตั้งใจฟัง เช่น อย่างท่านเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนี่ยเวลาคุยกันเนี่ยท่านว่าคุณย้อย ไอ้เรื่องนี้เป็นไง เรื่องนั้นเป็นยังไง พอถามมาเรื่องเกษตรเราตอบได้ ให้คำแนะนำได้ พลโทภิญโญ วัชรเทพ พลโทชัยชนะ ธารีฉัตร แม่ทัพ 3 และก็พลโทรวมศักดิ์ ชัยโกมินทร์ แม่ทัพ 3 พอคุยกับพวกเราแล้วท่านก็สนุกสนาน ท่านก็ไม่เครียดอะไรเพราะว่าคุยกับลูกน้องก็เกี่ยวกับระเบียบวินัย แต่พอคุยกับเรานี่มันเรื่องสัพเพเหระนี่ แม่ทัพปิ่นธรรมศรีมาเมื่อไหร่มาเจอผมก็ต้องขออนุญาตพูดตรงนี้ได้ไหม กินเหล้ากัน เราก็ปะเหลาะ ท่านครับ! เพราะนายทหารผู้ใหญ่เขาจะมีเหล้าใส่ยังกับขวดแบนแม่โขงเนี่ยแต่ว่าไม่ใช่ขวดเป็นอลูมิเนียมน่ะ บางทีเขาพกมา 2 แบน 3 แบน ย้อยก็ปะเหลาะเล่นเรียบ

          มันสนุกสนานแล้วที่พบก็คือคนที่ใหญ่จริงๆ นี่ เขาไม่มาเบ่งใส่เราเลยนะ มีแต่ว่า เออ! นี่น้องบางทีเราขออะไรปุ๊บเนี่ย! ได้สิ เสร็จแล้วสั่ง ทส. เรื่องนี้ ทำให้คุณย้อยหน่อย ผมขออนุญาตตรงนี้ว่าผมเคยถูกกองทัพ 3 ทำหนังสือถึงอธิบดี เรียนอธิบดีที่นับถือ เนื่องจากกองทัพมีความจำเป็นที่จะ ต้องใช้นายทองย้อย บัวศรี ไว้ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อการข่าวและประสานงานกันกับหน่วยใกล้เคียงอันนี้ผมเล่าย่อๆ นะ ถ้าจะมีการโยกย้าย และสับเปลี่ยนโปรดแจ้งให้กองทัพทราบก่อนที่จะดำเนินการ คือ เราเอาประเพณีที่เราอยู่ เคยอยู่ เรียนหนังสืออยู่ที่แม่โจ้เอาไปใช้ประกอบส่วนข้างนอกให้ความเคารพนบนอบ ระบบซีเนียร์ นะไม่จำเป็นกับพรรคพวกเราแม่โจ้ด้วยกันเท่านั้นกับใครทั่ว ๆ ไปก็เถอะเมื่อเราเห็นเขาแก่กว่านี่ อายุมากกว่านี่เราก็ให้ความเคารพนับถือครับ! เหมือนพระสงฆ์ครับ พระที่บวชก่อนนี่ถือว่าอาวุโสมากกว่าใช่ไหมครับ?

 

ผู้ให้ข้อมูล: ทองย้อย บัวศรี รุ่น 25
ที่มา: หนังสือบันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน

 การหลอมลูกแม่โจ้รวมกันในยุคนั้นนอกเหนือจากกิจกรรมรับน้องใหม่ ก็เป็นงานทอดกฐิน ถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแม่โจ้ ไปอยู่ที่ไหนก็อยากจะกลับมางานกฐินแม่โจ้

เชิญชวนศิษย์เก่าแม่โจ้ ร่วมเติมเต็มประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยการบอกเล่าประสบการณ์จากอดีตที่ผ่านมาของท่านในแม่โจ้

สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลได้ที่ ฝ่ายจดหมายเหตุและคอลเล็กชั่นพิเศษ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อาคารวิภาต บุญศรี วังซ้าย

โทร. 0 5387 3508

หรือสามารถติดต่อได้ที่ Facebook: จดหมายเหตุมหาวิทยาลัยแม่โจ้