Sansai Discovery

วัดพระบาทตีนนก

วัดพระบาทตีนนก ตั้งอยู่เลขที่ 38 หมู่ 10 ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย เชียงใหม่ 50210

ประวัติวัดพระบาทตีนนก

วัดพระบาทตีนนก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2415 นิกาย มหานิกาย มีเนื้อที่ 80 ไร่  เป็นวัดเก่าแก่ของ อ.สันทราย มีประวัติที่น่าศึกษาค้นคว้า ซึ่งพระครูบาศรีวิชัยเดินทางมาจำวัดพักค้างคืนและร่วมบูรณะอยู่ช่วงหนึ่ง ตั้งอยู่บนยอดเขาด้านหน้าเขื่อนแม่กวง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ยกฐานขึ้นสูงมองเห็นอย่างเด่นชัดในระยะไกล

ความเชื่อ

ตำนานเชื่อว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงระลึกอดีตชาติกาลครั้งหนึ่ง ได้เกิดเป็นนกยูงทองแล้วบินมาประทับรอยเท้าไว้บนก้อนหินศิลาแลงที่ยังอ่อนตัวอยู่ ตามความเชื่อที่เล่าขานกันมาจึงเรียกดอยนี้ว่า “ดอยพระบาทตีนนก” ตามภาษาท้องถิ่น และชอบบินมาหาอาหารกินที่ “หนองเหี้ยง”

วันหนึ่งพรานป่าได้ไปพบนกยูงทองเข้า ทำให้อยากได้มาครอบครอง เพราะมีลักษณะที่สวยงาม แตกต่างจากนกยูงทั่วไป จึงได้กลับไปคั่วข้าวตอกในหมู่บ้าน ปัจจุบันเรียกว่า “บ้านทุ่งข้าวตอก” เพื่อนำข้าวตอกมาล่อพญานกยูงทอง โดยนำไปหว่านไว้ใกล้ๆ กับหนองเล็กๆ แห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาที่พญานกยูงทองอาศัยอยู่และทำบ่วงไปดักไว้ สถานที่ใช้บ่วงในปัจจุบันเรียกว่า “หนองก๊อง” แต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายด้วยความฉลาดของนายพราน จึงนำนกยูงตัวเมียมาส่งเสียงล่อพญานกยูงทองได้สำเร็จ แต่ก็มิได้ทำอันตรายใดๆ และปล่อยนกยูงทองไปในที่สุด

ต่อมามีชาวบ้านได้ขึ้นมาหาของป่าแล้วมาพบรอยเท้าพญานกยูงทองบนก้อนศิลาแลง ซึ่งแข็งตัวเป็นหินเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์ครอบไว้และสร้างวัดขึ้นมา จนมีภิกษุขึ้นมาจำพรรษาลุล่วงมาถึงปัจจุบัน (วันที่เก็บข้อมูล ไม่มีภิกษุและเจ้าอาวาสจำพรรษา)  และจัดให้มีการสรงน้ำพระธาตุขึ้นทุกวันที่ 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ ตรงกับวันวิสาขบูชาของทุกปี เพื่อรักษาประเพณีอันดีงามสืบไป

พระครูบาศรีวิชัย

ปี พ.ศ. 2473 พระครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้เดินทางมาจากบ้านหลวง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะศิษย์ได้ขึ้นมาพักวัดแห่งนี้ เป็นระยะเวลา 2 วัน และได้ให้คำทำนายไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ว่า “มนกาลภายหน้าจะมีผู้มีบุญทั้งหลาย ได้ร่วมกันขึ้นมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป”

รายชื่อเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม

  1. พระกุณา จนฺรงฺษี พ.ศ. 2446 – 2452
  2. พระคำมูล คมฺภีโร พ.ศ. 2452 – 2457
  3. พระเงิน ขนฺติโก พ.ศ. 2457 – 2462
  4. พระเส้า สุจิตฺโต พ.ศ. 2462 – 2467
  5. พระจันทร์ต๊ะ จนฺทวณฺโณ พ.ศ. 2467 – 2473
  6. พระดวงจันทร์ จนฺทว์โส พ.ศ. 2473 – 2488
  7. พระอธิการบุญตัน อนุจารี พ.ศ. 2488 – 2512
  8. พระบุญทา ปิยะธมฺโม พ.ศ. 2512 – 2520
  9. พระอินทร ปญฺญาธโร พ.ศ. 2520 – 2524
  10. พระอธิการจำลอง ธมฺมธโร พ.ศ. 2524 – 2530
  11. พระสนั่น สุจิตโต พ.ศ. 2530 – 2532
  12. พระประเสริฐ ปภากโร พ.ศ. 2532 – 2534
  13. พระอธิการวิมล อนาลโญ พ.ศ. 2434 – 2541
  14. พระอธิการสิงค์คำ ฐิตปุญโญ พ.ศ. 2541 – 2556
  15. พระบุญทา นินทธมฺโม พ.ศ. 2556 – 2558
  16. พระอธิการภูวนัย ฐิตสาโท พ.ศ. 2558 – 2563
  17. พระครูวินัยธรชนวิชิต วิสุทธิญาโณ พ.ศ. 2563 – 2567

(วันที่เก็บข้อมูล 9 เมษายน 2567 อยู่ในช่วงการติดต่อหาเจ้าอาวาสคนใหม่)

บรรยากาศรอบวัดเป็นธรรมชาติบนยอดเขาสูง มีวิวที่สวยงาม (วันที่เก็บข้อมูล มีค่าpm 2.5.สูง)

ทางขึ้นมีสองทางคือ ทางลาดสูงที่รถสามารถขึ้นไปได้ และบันไดที่ทอดยาวมีความชันเล็กน้อย มีลวดลายมกรคายนาคประดับหน้าทางขึ้นบันได เป็นลวดลายที่ปรากฏอยู่ทั่วในวัดหลายแห่งทางภาคเหนือ

ข้อมูลจาก: วัดพระบาทตีนนก

เขียน/เรียบเรียง: ศรีมัสยา คันธมาลย์ชาติ

ภาพโดย: ศรีมัสยา คันธมาลย์ชาติ