Sansai Discovery

“ส่งเคราะห์” พิธีกรรมทางล้านนา ส่งสิ่งชั่วร้าย เพื่อให้อยู่สุขสบาย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายทั้งปวง

พิธีกรรมของแต่ละพื้นที่ถึงแม้จะมีชื่อเรียกและใจความสำคัญเหมือนกัน แต่รายละเอียดต่าง ๆ มีความแตกต่างกันไปเล็กน้อยตามความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละชุมชน รวมถึงคาถาในการส่งเคราะห์ก็แตกต่างกันไปตามตำราที่บุคคลศึกษามา

พิธีกรรมส่งเคราะห์ เกิดจากการที่บุคคลถูกคนทำไม่ดีใส่ ประสบอุบัติเหตุ ค้าขายไม่ได้กำไร เจ็บป่วย
อย่างมีสาเหตุหรือไม่มีสาเหตุก็ได้ ถือว่าบุคคลนั้นมีเคราะห์กรรมมากระทบ ต้องทำพิธีกรรมให้หายจาก
โรคภัยไข้เจ็บ ไม่ให้มีเคราะห์ ให้อยู่สุขสบาย 

ช่วงเวลา

ไม่มีการกำหนดวันในการทำพิธีตายตัว แต่จะทำก็ต่อเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยและต้องการให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ให้มีเคราะห์มีหนาม โดยนิยมทำช่วงเช้า

อุปกรณ์

1. สะตวงที่ทำจากกาบกล้วย 1 อัน

2. ครัวห้า เช่น ข้าว 5 ก้อน กล้วย 5 ลูก อ้อย 5 อัน ส้ม 5 ผล น้ำ 5 ขวด และอาหารอย่างละ 5 ถ้วย (ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นอาหารชนิดไหน สามารถใช้ได้ทุกอย่าง)

3. เทียนเล็ก 5 เล่ม

4. เทียนใหญ่ 1 เล่ม

5. ตุงจ้อ หรือตุงช่อ 16 อัน

6. ข้าวตอกดอกไม้

7. น้ำส้มป่อย

8. ผ้าขาวผ้าแดง

9. สายสิญจน์

ภาพโดย : เพจรักษ์ล้านนา มนตรา คาถา อาคม

ขั้นตอน

1. เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำพิธี โดยทำพิธีที่บ้านของผู้ป่วย

2. นำสะตวงมาผ่าตรงกลางให้มีประตูทางเข้าและประตูทางออก แล้วตั้งสะตวงหันไปทางทิศตะวันออก

3. ใช้ตุงจ้อ หรือตุงช่อ ด้วยการนำกระดาษมาทำให้เป็นรูปธงสามเหลี่ยมมาติดกับไม้ แล้วปักตามมุมต่าง ๆ ของสะตวง ซึ่ง 1 สะตวงมี 4 มุม และปักมุมละ 4 อันด้วยกัน

4. โยงสายสิญจน์ล้อมในสะตวงไปหาคนไข้ แล้วให้คนไข้กำไว้

5. หลังจากนั้นท่องคำส่งเคราะห์ แล้วเป่าลงในน้ำส้มป่อย  

6. พรมน้ำส้มป่อยไปที่ผู้ป่วย

7. ผูกข้อไม้ข้อมือ และให้พร

8. ทำพิธีในบ้านเสร็จนำสะตวงเอาไปไว้นอกบ้านให้หันไปทางทิศตะวันตก แล้วห้ามหันหน้ากลับไปมองเนื่องจากมีความเชื่อว่าถ้าหันกลับไปมองสิ่งไม่ดีจะตามกลับมาด้วย

9. ถวายปัจจัยให้แก่ผู้ทำพิธีเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรม

ข้อห้าม!!

ผู้ที่ทำพิธีกรรมให้คนป่วยห้ามเป็นคนธรรมดาทั่วไป ต้องผ่านการบวชมาแล้วเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการบวชเรียนเป็นสามเณร เป็นพระภิกษุก็ตาม เพราะคนที่ผ่านการบวชมาแล้วท่องคาถาจะมีความขลัง

คำในการส่งเคราะห์

สรีสิทธิสวัสดี อัชจะโย อัชจะโย อัชจะในวันนี้ก็เป๋นวันดี สรี๋ศุภะ มังคละอันผาเสิฐ ลำเลิศกว่าวันและยามตังหลาย วันเม็งก็หมดใส วันไตย ก็หมดปลอด เป๋นวันยอดแห่งพญาวัน บัดนี้หมายมี นาย-นาง………………..(ออกจื่อ) ก็ได้ต้องทะรงยัง เคราะห์ถ่อยจ๊า ผู้ข้าก็จักปัดไปไล่หื้อออกจากได้ค้ายพรากไปในวันนี้ยามนี้แต๊ดีหลี เคราะห์อันบ่ดี แต่ก่อนป๋างหลังเคราะห์เมื่อยังแรกเกิด เคราะห์อันบ่ผาเสริฐมวลมี เคราะห์สิบสองราศี เกี๊ยวกอด ลักขณาสอดเกาะกุม อาติจย์ซ้ำมาสุมแก่นกล้าพระจั๋นทร์ส่องหล้าสวักสวาด ถ้วนสามอังคารรังหยาดเลิศแล้ว ถ้วนสี่พุธผ่องแผ้วใสงาม พัสถ้วนห้าต๋ามแถมเล่า สุโขถ้วนหกบ่เส้าดวงใสโสรี ถ้วนเจ็ดรัศมีไวหลายส่ำ สัพพเคราะห์พร้อมพร่ำนานา

อันมีในก๋ายาแห่งเจ้า นวฆาตตังเก๊ามวลมีตังนักขัตฤกษ์สลี 27 ตั๋วนับหมาย แม่นว่าเคราะห์ตังหลายมาพร้อมอยู่แล้ว จุ่งหื้อได้กลาดแกล๊ว หนีเสียไกล๋ ถือเคราะห์จั๋งไรถ่อยจ๊า เคราะห์ 13 นาม 15 ก็หื้อหนี้ตังเคราะห์ปี๋ เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์บ่ดีบ่งามจี้ใส่เคราะห์น้อยเคราะห์ใหญ่มวลมีเคราะห์ก๋าลี เมื่อหลับเมื่อตื่น เคราะห์เมื่อยืนเมื่อเตียว เคราะห์เมื่อเกี้ยวเมื่อกิ๋น เคราะห์เมื่อคืนบ่หัน เคราะห์เมื่อวันบ่รู้เคราะห์เมื่ออู้เมื่อจำ เคราะห์นานาตั๋วกล้า เคราะห์ต่ำจ๊าจดเจื๋อ เคราะห์เหนือเคราะห์ใต้ เคราะห์เมื่อเจ็บเมื่อไข้ เคราะห์วันตกวันออก อยู่ด้าวขอกแดนใดก็ดี ก็หื้อย้ายหนีไปวันนี้ยามนี้ เคราะห์ดำก่ำกี้ตั๋วกล้า เคราะห์จนหน้าจนหลัง แม่นว่าเคราะห์ตั๋วใดยัง 108 อย่าง ก็อย่าได้ข้องค้างอยู่ในต๋นตั๋วแห่ง นาย-นาง……………….(ออกจื่อ) สักเยื่องสักประก๋าร แม่นเคราะห์ตั๋วหาญเกี้ยวหน่อง ก็จุ่งหื้อได้ดับล่องไปด้วยไฟ หื้อได้ไหลไปด้วยน้ำ อย่าหื้อได้คืนมาแถมซ้ำปอสอง หื้อได้ป๋องดับหายไปบัดดี้แด่เต๊อะ หูรู หูรู สวาหาย

เมื่อสัพพะเคราะห์ตังหลายได้ค้ายออก หื้อตกไปยังขอกข้าจักรวาล ไปอยู่สถานตี่แผ่นดินสุดไกล๋ และหากตั๋วใดได้กลับเป๋นป๋าปะเคราะห์แล้ว ขอจุ่งได้กลาดแกล๊วมาเป๋นโสมะ และตั๋วใดหากเป๋นโสมะแล้วก็ดี ขอจุ่งเป๋นศรีนำมายังโจคปี๋ โจคเดือน โจควัน โจคยาม อายุปี๋ อายุเดือน อายุวัน อายุยาม หื้อมีอายุหมั้นยืนยาว ร้อยซาวขวบเข้าวัสสา ได้อยู่ก้ำจูสาสะนะไปไจ๊ ๆ หื้อได้สวัสดี แด่เต๊อะ แม่นจักก็อยู่หื้อตีฆามีจัย แม่นจักไปก็หื้อมี โจคลาภ ผาบแป๊สัตรู๋ หลับตาก็หื้อได้เงินหมื่น ตื่นก็หื้อได้คำแสน ได้เป๋นเศรษฐีเจ้าเงินเจ้าคำ เจ้าจ้างเจ้าม้า มีข้าหญิงข้าจาย ไปตางใดก็มีคนหูมคนรัก แม่นจักผาถานาสิ่งใด ก็หื้อได้สิ่งนั้นจุประก๋าร จุ่งจักมีเตี่ยงแต้ดีหลีดั่งพระมุนีต๋นผาเสริฐอันล้ำเลิศยิ่งกว่าโลก โลก๋า

กล่าวเป็นคาถาไว้ว่า “สัพพะพัตถะ สัพพะตา สัพพะเคราะห์ สัพพะภัยยา สัพพะตุกขา สัพพะโรคา วินาสันตุ เต ฯ ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง โสตถิ ภาคะยัง สุขัง พะลัง สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ โภคัง วุฑฒี จะยะสะวา สะตะวัสสา จะ อายุ จะ ชีวะ สิทธี ภะวันตุเต ฯ (เรียบเรียงจาก : ตำราประเพณีเมืองเหนือ (ของโบราณ) )

แหล่งที่มา

ญาณรังษี. (ม.ป.ป.). ตำราประเพณีเมืองเหนือ (ของโบราณ). ลำปางสังฆภัณฑ์.

สุรพล สุเทนะ. (2567, มกราคม 30). ค้าขาย. สัมภาษณ์