การฉลุลาย
การฉลุลาย เป็นขั้นตอนแรกในการประดิษฐ์ตุงขึ้นมา โดยการฉลุเป็นวิธีหนึ่งในการทำให้เกิดลวดลายลงบนวัสดุ ต่าง ๆ เช่น กระดาษ ผ้า แผ่นไม้ แผ่นโลหะ โดยใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของวัสดุนั้น ๆ อย่างงานฉลุกระดาษและผ้าจะใช้สิ่วและค้อนในการตอกลงบนวัสดุให้เกิดลายสวยงาม
ประวัติความเป็นมาของการฉลุลายไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีที่มาอย่างไร เพียงแค่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก่อนมีการฉลุลายในสมัยโบราณมีการตัดลายจากกระดาษตะกั่วด้วยกรรไกรเป็นวิธีการแรก เนื่องจากไม่มีเครื่องมือที่หลากหลายเหมือนในปัจจุบัน จึงใช้กรรไกรตัดลวดลายตามจินตนาการของแต่ละคน นอกจากนี้การตัดลายด้วยกรรไกรเป็นวิธีการที่ยังคงมีการใช้งานจนถึงปัจจุบัน
ตุงล้านนา
ตุงล้านนา เป็นเครื่องใช้ที่ใช้ในการประดับตกแต่งและใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆในวัฒนธรรมล้านนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อสืบชะตาให้ตนเอง
ประวัติความเป็นมาของตุงล้านนา
- ตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าอุชุตราช ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าอุชุตราชแห่งนครโยนกนาคพันธ์ ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1454 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญข้างซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมีการนำ “ตุงไชยยาวพันวา” ไปปักไว้บนพระเจดีย์เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ผู้คนในสมัยนั้นจึงพากันเรียกว่า “พระธาตุดอยตุง” และเป็นตำนานแรกในการเชื่อว่าตุงมีการสร้างขึ้นมาเพื่อบูชาพระธาตุของชาวล้านนา
- ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ มีการกล่าวว่า ในอดีตกาลมีกาเผือกคู่หนึ่งทำรังอยู่บนต้นไม้และออกไข่มา 5 ฟอง ขณะที่กาเผือกออกไปหาอาหารเกิดพายุลมแรงทำให้ไข่ทั้งหมดพลัดตกจากรังไปคนละทิศละทาง เมื่อกาเผือกทั้งคู่กลับมาไม่เห็นไข่ของตนก็โศกเศร้าจนตรอมใจตายและไปเกิดบนสวรรค์ ส่วนไข่ 5 ฟองถูกไก่ เต่า พญานาค โค และคนซักผ้า นำไปเลี้ยงจนเติบโตกลายเป็นชายหนุ่ม 5 คน ต่างคนก็มีจิตใจอยากบวช จึงออกบวชจนสำเร็จได้ญาณ และมาพบกันโดยบังเอิญ ทั้ง 5 องค์มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้กำเนิด จึงสร้างตุงถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ โดยกะกุสันทะซึ่งไก่เป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปไก่ โกนาคมนะซึ่งพญานาคเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปนาค กัสสปะซึ่งเต่าเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปเต่า โคตรมะซึ่งโคเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปวัวและอริยเมตไตรยซึ่งคนซักผ้าเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปค้อนทุบผ้าซึ่งหมายถึงคนซักผ้า เมื่อสร้างตุงเสร็จแล้ว ก็ถวายเป็นพุทธบูชา แต่กุศลส่งไม่ถึงบิดามารดาผู้ให้กำเนิด กาเผือกจึงลงจากสวรรค์มาบอกกล่าวให้ทำประทีปเป็นรูปตีนกาจุดไปด้วย จึงสามารถอุทิศส่วนกุศลได้สำเร็จ
- ตำนานเกี่ยวกับนายพรานคนหนึ่ง เล่าสืบต่อกันมาว่า มีนายพรานคนหนึ่งเข้าป่าล่าสัตว์เป็นระยะเวลานานหลายปี ได้ทำตุงไปถวายบูชาพระประธานเพียงครั้งเดียวในชีวิต นอกจากนั้นไม่เคยทำบุญกุศลใด ๆ อีกเลยเมื่อเขาเสียชีวิตลงถูกตัดสินให้ตกนรกเพราะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่การถวายตุงครั้งนั้นช่วยดึงดวงวิญญาณของเขาให้พ้นจากนรกและนำทางไปสู่สวรรค์จึงเกิดตุงล้านนาที่มีความเชื่อว่าวิญญาณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วสามารถเกาะชายตุงขึ้นจากนรกไปสวรรค์ได้
ความเชื่อของตุงล้านนา
- เชื่อว่าการถวายตุงเป็นพุทธบูชาจะได้บุศกุศลยิ่งใหญ่ บันดาลให้ได้ขึ้นสวรรค์ เพราะตุงเป็นสัญลักษณ์ของปฐมเจดีย์แห่งแรกบนดินแดนล้านนา
- เชื่อว่าวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วถ้าครั้งหนึ่งเคยถวายตุง หากต้องตกนรกตุงจะช่วยห่อหุ้มไว้ไม่ให้ทุกข์ทรมาน เมื่อพ้นวิบากกรรมแล้วจะได้เกาะชายตุงนี้ไปเกิดเป็นเทพในเทวโลก
- เชื่อว่าการถวายตุงเพื่ออุทิศกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
- เชื่อว่าตุงจะช่วยเสริมสร้างบุญกุศลให้แก่ตนเองในภพนี้และภพหน้า
- เชื่อว่าการถวายตุงเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้หลุดพ้นจากสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว
ประเภทของตุงล้านนา
การแบ่งประเภทของตุงล้านนามักอ้างอิงตามพิธีกรรมที่จะใช้งานได้ 4 ประเภท ดังนี้
- ตุงที่ใช้ในงานมงคล
- ตุงไชย เป็นตุงที่ใช้ในงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานที่เฉลิมฉลองวิหาร ฉลองศาลา หรืออาคารสถานที่ภายในวัด โดยผู้ถวายจะเขียนคำอุทิศติดไว้ที่ตุง จากนั้นนำตุงไปใส่ภาชนะพร้อมข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนถวายให้พระสงฆ์ที่วัด เมื่อพระสงฆ์ให้พรแล้ว จึงนำตุงไปแขวนบนค้างตุงบริเวณหน้าวัดและรอบวัตถุที่ฉลอง
- ตุง 12 ราศี เรียกอีกชื่อว่า “ตุงตัวเปิ้ง” เป็นตุงที่ใช้เพื่อสืบชะตาปีเกิด ต่ออายุของตนเองและเพื่อให้เกิดสิริมงคลตลอดทั้งปี มักจะแขวนไว้ในห้องพระและปักที่เจดีย์ทรายในช่วงสงกรานต์
- ตุงค่าคิง เรียกอีกชื่อว่า “ตุงเทวดา” เป็นตุงที่มีความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของตุง โดยคำว่า “ค่า” หมายถึง เท่ากับ และคำว่า “คิง” หมายถึง ร่างกาย ซึ่งตุงชนิดนี้สร้างขึ้นมาเพื่อสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย เคราะห์กรรมต่าง ๆให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น
- ตุงพระบฏ เป็นตุงขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า กรอบทั้งสี่ด้านทำด้วยไม้ช่วยขึงให้ตึง ตัวตุงทำเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืนบ้าง ปางลีลาบ้าง หรือปางเปิดโลกใช้ประดับไว้ด้านหลังของพระประธานในโบสถ์ รวมถึงนำไปใช้ในพิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ และในปัจจุบันตุงประเภทนี้หายากแล้ว
- ตุงที่ใช้ในงานอวมงคล
- ตุงแดง เป็นตุงที่มีความยาวประมาณ 4-6 ศอก กว้างประมาณครึ่งคืบ แบ่งความยาวออกเป็นสี่ท่อน ชายด้านล่างทำเป็นสามชาย ใช้ในพิธีสูตรถอนศพที่ตายผิดปกติ เช่น ตายเพราะอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยจะปังตุงไว้บริเวณที่ตาย และก่อเจดีย์ทรายเท่ากับอายุของผู้ตาย ปักช่อน้อยบนเจดีย์ทรายให้ครบ
- ตุงเหล็กตุงตอง เรียกอีกชื่อว่า “ตุงร้อยแปด” เป็นตุงที่ทำด้วยแผ่นสังกะสีหรือแผ่นทองเหลืองขนาดเล็ก มีคันตุงทำจากเส้นลวดหรือไม้ไผ่ ส่วนมากจะทำอย่างละ 108 อัน มัดติดเป็นพวง โดยทำฐานตั้งไว้หรือบางแห่งวางไว้บนโลงศพ
- ตุงที่ใช้ในงานมงคลและอวมงคล
- ตุงไส้หมู เป็นตุงที่มีรูปร่างทรงจอมแห ทำจากกระดาษสีต่าง ๆ ผูกติดกับกิ่งไม้ นิยมใช้ในเทศกาลสงกรานต์โดยนำไปปักบนกองเจดีย์ทราย
- ตุงกระด้าง เป็นตุงที่ทำด้วยวัสดุคงรูป เช่น ไม้แกะสลัก แผ่นโลหะ ประดับตกแต่งด้วยกระจก ปูนปั้น หรือฉลุลาย โดยผู้สร้างมักเป็นผู้ที่มีฐานะดี และสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
- ตุงสามหาง เรียกอีกอย่างว่า “ตุงรูปคน” หรือ “ตุงผีตาย” ใช้สำหรับนำหน้าศพไปยังสุสาน โดยส่วนหัวและลำตัวที่กางออกเปรียบเสมือนแขนขาคน ท่อนล่างทำเป็นสามหาง ซึ่งเปรียบได้กับปริศนาธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
- ตุงที่ใช้ประกอบการเทศน์ เป็นการนำตุงค่าคิงหรือตุงเทวดาที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ โดยการปักตุงไว้ประดับกัณฑ์เทศน์หรืออาคารที่ประกอบพิธีกรรม เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา
ข้อห้ามของตุงล้านนา
ชาวล้านนาไม่นิยมนำตุงทุกประเภทมาแขวนไว้ในบ้าน ทำตุงเสร็จแล้วต้องนำไปถวายพระ เพราะส่วนใหญ่ตุงมีไว้เพื่อตัวเราในภายภาคหน้า และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่สามารถนำไปแขวนไว้ที่ร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไปได้ที่ผู้คนไม่อยู่อาศัย
ความแตกต่างในอดีตและปัจจุบัน
จากคำบอกเล่าของครูอัศวศิลป์ แผ่นชัยภูมิ ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาล้านนาที่มีความเชี่ยวชาญในการสืบสานวัฒนธรรม ได้กล่าวว่า ตุงในอดีตกับตุงในปัจจุบันยังคงมีความเหมือนกันมาก เนื่องจากท่านได้ทำการอนุกรักษ์ตุงล้านนาให้ใกล้เคียงกับสมัยก่อนมากที่สุด แต่ก็มีการประยุกต์วิธีการทำลวดลายด้วยการนำเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น แต่ตุงที่ครูอัศวศิลป์เผยแพร่ยังคงใช้การตัดกระดาษด้วยกรรไกรอยู่ แต่เพิ่มการฉลุลายด้วยสิ่วเข้ามาด้วย
การสืบสานวัฒนธรรม
การสืบสานวัฒนธรรมของเชียงใหม่จะมีชั่วโมงเรียนการสืบสานภูมิปัญญาล้านนาของแต่ละโรงเรียนลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย แต่จะไม่จำกัดว่าเรียนเพียงแค่การประดิษฐ์ตุงล้านนาอย่างเดียว จะมีการนำภูมิปัญญาอื่น ๆ มาสอนสลับกันไป เปรียบเหมือนเป็นวิชาหนึ่งในโรงเรียนและเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานที่เด็กต้องเรียนรู้ เพื่อให้วัฒนธรรมล้านนายังคงอยู่ต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน รวมถึงผู้คนเริ่มหันมาสนใจรักษาวัฒนธรรมมากขึ้น ทำให้เชียงใหม่ยังคงมีวัฒนธรรมที่ดีงามและไม่สูญหายไป
แหล่งที่มา
อัศวศิลป์ แผ่นชัยภูมิ. (2567, มีนาคม 1). ครูภูมิปัญญาล้านนา สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์