เครื่องสักการะล้านนา คือมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความศรัทธาและภูมิปัญญาของชาวล้านนา ผ่านการประดิษฐ์ที่แฝงความหมายทางจิตใจ ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และพิธีคารวะผู้มีพระคุณ เช่น ครูบาอาจารย์ หรือผู้มียศศักดิ์ เครื่องสักการะล้านนาที่นิยมใช้ในพิธีกรรมสำคัญ มีด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่ หมากสุ่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน และต้นดอก

ความหมายของเครื่องสักการะล้านนา 5 ประการ
หมากสุ่ม ลักษณะเป็นพุ่ม ทำจากหมากแห้งผ่าซีกแล้วนำมาร้อย เสียบกับโครงไม้ไผ่หรือโครงหยวกกล้วยให้เป็นพุ่ม หมากสุ่ม มีความหมายถึงการทำทานหรือการให้ทานแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
หมากเบ็ง ทำจากใบตาลหรือใบมะพร้าวสานเป็นดอกไม้แล้วนำหมากสุกหรือหมากดิบมาไว้ตรงกลางของดอก เป็นจำนวน 24 ลูก ผูกติดยึดโยงกับโครงไม้หรือโครงเหล็กที่ทำเป็นพุ่ม (ลักษณะการผูกติดกันนี้คนเหนือเรียกว่า เบ็ง) หมากเบ็งหมายถึงการแสดงความสามัคคี ความร่วมไม้ร่วมมือกันของผู้คนในหมู่บ้าน
ต้นผึ้ง หรือ พุ่มดอกผึ้ง เป็นการนำเอาขี้ผึ้งมาปั้นเป็นรูปดอกไม้ นำมาตกแต่งเสียบกับก้านทางมะพร้าว แล้วปักลงบนต้นกล้วยที่ตัดเตรียมไว้ให้เป็นทรงพุ่ม ต้นผึ้งมีความหมายถึงการให้แสงสว่าง ให้เกิดสติปัญญา ขี้ผึ้ง ถือเป็นของบริสุทธิ์ที่ได้มาจากเกสรดอกไม้ พุ่มดอกผึ้งหรือดอกที่ทำจากขี้ผึ้งจึงเหมาะสำหรับการนำไปถวายแด่พระสงฆ์องค์เจ้า ต้นผึ้งในเครื่องสักการะล้านนาถือเป็นของสูงที่ต้องใช้ความประณีตพยายามในการประดิษฐ์เป็นอย่างมาก ต้องอาศัยศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ
ต้นเทียน เป็นการนำเอาเทียนที่ทำจากขี้ผึ้งมาผูกติดกับทางมะพร้าวแล้วเสียบลงบนต้นกล้วย ปักให้มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม การถวายเทียนนั้นยังปรากฏในพิธีกรรมทางศาสนาอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ในช่วงเข้าพรรษา ที่ถวายเทียนให้พระภิกษุสงฆ์ เป็นการมอบแสงสว่างให้เพื่อใช้ในการท่องหนังสือ
ต้นดอก หรือ ขันดอก หรือ ต่อมก่อม เป็นโครงที่ทำจากไม้ไผ่แล้วจึงนำดอกไม้ที่ทำจากกระดาษสีเงิน และกระดาษสีทองมาประดับเป็นพุ่มกลมสวยงามในขันหรือภาชนะ ต้นดอกมีความหมายถึงการสักการะถวายพระพรหมทั้ง 4 เพื่อปกปักรักษางานพิธีกรรมให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
บทบาทของเครื่องสักการะต่อชุมชนสันทราบ
เครื่องสักการะล้านนา 5 ประการ มีบทบาทสำคัญในการรวมจิตใจของชุมชนผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีบูชาพระธาตุ พิธีไหว้ครู พิธีขึ้นบ้านใหม่ หรือพิธีทำบุญตามเทศกาลสำคัญ เครื่องสักการะเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนในชุมชนได้แสดงความเคารพและระลึกถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณร่วมกัน
ความท้าทายในยุคปัจจุบัน
แม้เครื่องสักการะล้านนา 5 ประการ จะยังปรากฏในพิธีกรรมของชาวล้านนา แต่ปัจจุบันพบกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความนิยมใช้สิ่งของสำเร็จรูปแทนงานประดิษฐ์ด้วยมือ การขาดการสืบทอดความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ทำให้เครื่องสักการะล้านนามีแนวโน้มที่จะสูญหายไปในอนาคต
แหล่งอ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
บัวจันทร์ นนทวาสี (2567, มกราคม 26). ปราชญ์ชาวบ้านเกี่ยวกับหัตกรรมเครื่องสักการะล้านนา บ้านสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์.
อัมพร ปัญญาชัย (2567, มกราคม 29). ปราชญ์ชาวบ้านเกี่ยวกับหัตกรรมเครื่องสักการะล้านนา บ้านป่าลาน อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์.
Comments