แม่โจ้ให้อะไรบ้าง


แม่โจ้ให้อะไรบ้าง

โดย ถมยา บุนยเกตุ

 

ราวต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นเวลาปิดเทอมปลาย และกําลังใกล้จะเปิดเทอมปีการศึกษาต่อไป คุณพ่อข้าพเจ้าเรียกตัวให้ไปพบแล้วก็บอกว่า “พ่อจะส่งลูกไปเรียน วิชาการเพาะปลูกที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่” ข้าพเจ้าไม่มีทางที่จะปฏิเสธได้นอกจากกล่าวคําว่า “ครับ” อย่างเดียว ถ้าจะนับว่าข้าพเจ้าเป็นลูกแม่โจ้ก็นับได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สาเหตุที่ข้าพเจ้าถูกส่งไปเรียนวิชาเกษตร ข้าพเจ้ามั่นใจเหลือเกินว่าคุณพ่อและพี่ชายข้าพเจ้าปรึกษากันดีแล้ว เพราะขณะนั้นพี่ชายข้าพเจ้าได้รับราชการอยู่กรมเกษตรและได้เรียนสําเร็จวิชาการเกษตรมาจากต่างประเทศ ประกอบกับคุณพ่อของข้าพเจ้ามีสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มะม่วง ชมพู่ ฝรั่ง หมาก กล้วย มะขามหวาน ฯลฯ และยังเลี้ยงเป็ดอีกจํานวนมาก คงจะเห็นบทบาทของการเกษตรว่ามีทางก้าวหน้าในอนาคต ต่อมาคุณแม่ก็ได้ไปตระเตรียมซื้อของใช้ที่จําเป็น เพื่อให้ข้าพเจ้าไปใช้สอยในการศึกษาที่แม่โจ้   สําหรับตัวข้าพเจ้าในระหว่างนั้น ต้องไปติดต่อการสมัครเรียนที่กระทรวงธรรมการ ซึ่งขณะนั้นอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น กรมกสิกรรม

ในวันที่ 4 มิถุนายน 2478 ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพพร้อมกับนักเรียนที่ร่วมเดินทางในขบวนรถด่วนจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่ ประมาณเกือบ 200 คน วันนั้นที่สถานีหัวลําโพงมีผู้คนมากมาย คงจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมาส่ง สําหรับผู้ที่จะไปคงมีความตื่นเต้นและดีใจที่จะได้ไปเชียงใหม่ที่เขาลือกันนักว่าเป็นเมืองที่มีความสวยงาม กับทั้งมีสาวงาม มีธรรมชาติสวยงามน่าท่องเที่ยว เราถึงเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น มีครูอาจารย์พร้อมทั้งนักเรียนฝึกหัดครูอีกหลายคนเช่ารถประจําทางมารับ แล้วก็เดินทางต่อไปถึงแม่โจ้ในบ่ายวันนั้น

พาหนะที่แสนดีของยุค

ข้าพเจ้าขอเล่าสภาพของแม่โจ้ ในวันแรกที่ได้เห็นและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในขณะนั้นพอสังเขปให้ท่านผู้อ่านพอเข้าใจว่าแม่โจ้มีสภาพอย่างไร แม่โจ้เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ หมู่บ้านหนึ่ง อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 19-20 ก.ม. แต่ก่อนนั้นยังไม่มีถนนตัดตรงไปยังแม่โจ้อย่างสมบูรณ์ ต้องอาศัยถนนจากในเมืองไปถึงอําเภอสันทรายแล้วใช้คันเหมืองแม่แฝกเป็นถนนต่อไป ก่อนถึงแม่โจ้ประมาณ 2-3 ก.ม. เป็นป่าไม้สองข้างทาง และเป็นถนนทางเกวียนตลอดทางเป็นถนนทราย พอเข้าเขตแม่โจ้ก็มีทางชั่วคราว คือ ขุดแล้วเอาดินสองข้างทางพูนขึ้นมาสําหรับให้คนและพาหนะใช้เดินทาง พอถึงบริเวณโรงเรียนจะเห็นภาพอันแท้จริงของโรงเรียนแม่โจ้ ซึ่งเหมือนกับป่าไม้ที่ถูกเจาะ แล้วมีบ้านเรือนอยู่ภายใน ปัจจุบันนี้เป็นสถานีทดลองพืชไร่แม่โจ้ สิ่งก่อสร้างในบริเวณโรงเรียน มีโรงครัว มีสํานักงานของอาจารย์ มีโรงรับประทานอาหาร มีห้องเรียน โรงเก็บเครื่องมือ บ้านพักนักเรียน คอกวัว คอกควาย คอกหมู และเล้าไก่ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป สําหรับบ้านพักนักเรียน ปลูกไว้เป็นระยะ ๆ ห่าง กัน 80-100 เมตร ตามริมห้วย หรือริมเหมือง แล้วแต่ภูมิประเทศจะอํานวยให้ รอบ ๆ บ้านยังเป็นป่าอยู่ทั้งนั้น ลักษณะของบ้านที่นักเรียนพักเป็นรูปยาวประมาณ 30-40 เมตร หลังคามุงด้วยใบตองตึง (ใบของต้นพลวง) ฝาบ้านก็ใช้ใบตองตึงกั้น บ้านกว้างประมาณ 5-6 เมตร พื้นใช้ไม้กระดาน ตรงกลางบ้านทําเป็นทางเดินไปตามยาว สองข้างทางเดินยกขึ้นทั้งสองข้างสูงประมาณ 60 ซ.ม. เมื่อมองไปจะเป็นห้องเดียวโล่ง ๆ เดินกันตลอดหมด หน้าต่างก็ทำด้วยใบตองตึง เวลาเปิดต้องใช้ไม้ค้ำ มุขยื่นออกมาเล็กน้อย สําหรับให้ผู้ปกครองหรือแขกไปเยี่ยมเยือน และใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือประจําตัวนักเรียน ประตูใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ เป็นประตูบานเดียวใช้ลวดมัดสําหรับเลื่อนปิดเท่านั้น จะแลเห็นได้ว่าเมื่อนักเรียนได้เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านพักจะนอนติด ๆ กันเป็นแถวไป มีเนื้อที่ประมาณคนละไม่เกินสามตารางเมตร สิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเสื้อผ้า เสื่อ หมอน ที่นอน มุ้ง หนังสือ ฯลฯ จะต้องอยู่ใน เนื้อที่นี้เท่านั้น ตลอดกลางคืนจะเห็นมุ้งกางเป็นแถวติดกันไปหมด และมีแสงไฟทุก ๆ มุ้ง เพราะใช้ตะเกียงรั้วจุดคนละดวงสําหรับดูหนังสือ และเขียนหนังสือ

 

ห้องเรียนปลูกโล่งๆ มีหลังคาคลุมด้วยใบตองตึง ทั้งสี่ด้านโปร่ง มีโต๊ะยาวตั้งเรียงเป็นแถว ห้องเรียนหนึ่งบรรจุได้ประมาณ 40-50 คน ห้องน้ำไม่มี การอาบน้ำต้องเดินลงไปอาบในห้วยแม่โจ้หรือไปอาบที่เหมืองน้ำ ห้องส้วมใช้สวมหลุมมีหลังคาและฝาทําด้วยใบตองตึง เมื่อเวลาส้วมเต็มแล้วสามารถ ย้ายไปตั้งที่ใหม่ได้ โรงครัวและห้องอาหาร ตั้งอยู่ไม่ห่างจากออฟฟิสทํางานของครู มีพ่อครัวแม่ครัวหลายคนช่วยกันปรุงอาหาร การทําอาหารจะต้องใช้กะทะ เช่น หุงข้าวก็หุงด้วยกะทะ เพราะนักเรียนมีจํานวนมาก การทําอาหารมาก ๆ นั้นเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่จะทําให้อร่อยถูกปากเหมือนกับอยู่ที่

บ้านไม่ได้ บางวันก็อร่อย บางวันก็ไม่อร่อย บางครั้งก็มีของหวาน เช่น ถั่วเขียวต้ม กล้วย แตงโม สัปรด มันต้ม กล้วยบวชชี ฯลฯ

การหุงข้าวด้วยกะทะนั้น ก้นกะทะมักเป็นข้าวตัง นักเรียนชอบไปขอแม่ครัวมารับประทาน ทําเป็นอาหารคาวก็ได้ เช่น เอาไปจิ้มแกง บางครั้งก็ใช้จิ้มนมข้นเป็นอาหารหวาน แก้หิวหายอดอยากไปได้เหมือนกัน จะมีแม่ค้ามาขายขนมบ้างประปราย ตามมีตามเกิดของชาวบ้านแถบนั้น เช่น กล้วย ส้ม ลําไย ฝรั่ง และรังแตน (นังเล็ด แต่ไม่มีน้ำตาล)

โรงครัว

โรงรับประทานอาหาร

 

โรงรับประทานอาหาร ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับโรงครัว มีหลังคาคลุมโล่ง ๆ และมีโต๊ะอาหารตั้ง ซึ่งคนสามารถนั่งได้ทั้ง 2 ข้าง อยู่ห่างจากบ้านที่ข้าพเจ้าพักประมาณ 300 เมตร จะต้องเดินไปรับประทานอาหารทุกมื้อ และเตรียมเอาช้อนซ่อมติดตัวไปด้วย การรับประทานอาหารทานเป็นวงละสี่คน อาหารพิเศษที่นักเรียนจะต้องขอแม่ครัวเป็นประจํา คือ น้ำปลาพริกบางครั้งก็มีมะนาวด้วย

การรับประทานอาหาร สําหรับผู้ที่ทํางานออกกําลังมาก ๆ ทุก ๆ วัน และเป็นเด็ก กําลังเจริญเติบโต มีความจําเป็นเหลือเกินจะต้องรับประทานอาหารให้พอกับที่ร่างกายต้องการ ข้าพเจ้ามีวิธีการที่รับประทานอาหาร ซึ่งไม่ว่าจะอร่อยหรือไม่อร่อยก็ตาม แต่จะสามารถทานได้ปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จึงใคร่เสนอแนะให้ท่านนําปฏิบัติดูบ้างก็จะดี แม้แต่จะมีน้ำปลาพริกเพียงเท่านั้นก็สามารถรับประทานอาหารได้มาก คือให้ตักข้าวใส่จานกะว่าพอดีอิ่มของเรา ให้เอาน้ำปลาพริกคลุกให้ทั่วก่อนลงมือรับประทาน ให้เริ่มพูดว่า “อร่อย ๆ ๆ” แล้วตักข้าวเข้าปาก ให้รีบเคี้ยวให้เร็ว ๆ และอย่าให้ทันหมดปากดี ก็ให้ตักใส่ปากอีก ตอนนี้พูดไม่ได้ให้นึกว่าอร่อย ๆ ๆ (ข้อห้าม อย่ารับประทานช้า ๆ และอย่านึกเรื่องอื่น ให้รับประทานอาหารอย่างเดียว ให้หมดจาน ไม่ช้าท่านก็จะอิ่ม)

การแต่งตัวไปทํางานกลางแจ้ง จะใส่เสื้อนุ่งกางเกงอะไรก็ได้ ทั้งนั้น แต่ไม่ใช่สีขาวก็แล้วกัน ข้าพเจ้าใส่กางเกงขาก๊วยสีน้ำเงินหรือสีดํา อย่างชาวไร่ ชาวนาใส่กัน หรือ เสื้อเมือง กางเกงเมือง ซึ่งคนในภาคเหนือนิยมใช้ใส่ทํางานและมีผ้าขาวม้าคาดพุงเพื่อจะได้ใช้เช็ดเหงื่อ นอกจากนั้นก็มีหมวกกันแดด ส่วนการแต่งตัวเข้าห้องเรียน จะใช้เสื้อผ้าอะไรก็ได้ ขอให้ดูสะอาดตาก็แล้วกัน เรื่องนี้โรงเรียนไม่ได้พิถีพิถันอะไรกันมาก

การซักผ้า ต้องนําผ้าไปซักในลําห้วยหรือที่เหมือง แต่ก่อนนี้ไม่มีผงซักฟอกเช่นเดียวกับเดี๋ยวนี้ ต้องใช้สบู่กรดหรือสบูซันไลท์ ซักแล้วนําไปตาก และพับเก็บต่อไป ไม่มีการรีด

การเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเป็นแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช้ทิงเจอร์ ยาแดง ยาเหลือง ส่วนยารับประทาน มียาแก้ปวดหัว ปวดท้อง ท้องเดิน เป็นไข้เล็ก ๆ น้อย ๆ รวมความแล้วใช้ยาตําราหลวงเป็นส่วนใหญ่ การป่วยไข้ที่สําคัญมากที่สุดคือไข้มาเลเรีย ที่แม่โจ้มีเชื้อไข้มาเลเรียขึ้นสมองเป็นเรื่องสําคัญ ถ้าใครเป็นไข้มาเลเรียชนิดนี้จะต้อง     รีบนําส่งโรงพยาบาลในเมือง ก่อนที่จะเพ้อละเมอ เพราะเคยมีผู้เป็นไข้ชนิดนี้มาแล้ว ยารักษาไข้มาเลเรียที่ใช้กันมีแต่ควินนินน้ำชนิดเดียว ซึ่งแสนที่จะขมและเอียน ถ้าหากการเจ็บป่วยที่ต้องใช้การผ่าตัดก็ต้องนําส่งโรงพยาบาลในเมืองเช่นกัน เพราะที่แม่โจ้มีแต่บุรุษพยาบาลไม่ใช่นายแพทย์

การเข้าไปพักผ่อนและเที่ยวเตร่ในเมือง จะต้องขออนุญาตจากอาจารย์ผู้ปกครองทุกครั้งไป ในหนึ่งเดือนทางโรงเรียนจะอนุญาตให้นักเรียนคนหนึ่งเข้าไปในเมืองได้เดือนละสองครั้ง แต่ต้องเป็นวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ มีโอกาสค้างได้ 1 คืน ส่วนเงินจะต้องไปขอเบิกจากครูผู้ปกครองเช่นเดียวกัน ว่าจะซื้อของอะไรบ้าง เพราะทางโรงเรียนควบคุมการใช้จ่ายเงินโดยให้ผู้ปกครองส่งเงินมาฝากไว้กับทางโรงเรียน

 

เมื่อ พ.ศ.2479

การเดินทางเข้าเมืองเวลานั้นไม่มีรถประจําทาง นักเรียนที่จะเข้าไปพักผ่อนหรือเที่ยวเตร่ในเมืองจะต้องออกเดินทางจากแม่โจ้แต่เช้า ผ่านป่าไปก่อนจนถึงวัดแม่แก้ดแล้วเดินออกหลังวัดแม่แก้ดตัดข้ามทุ่งนา ซึ่งเป็นทางลัดที่สุดที่จะตรงไปยังหมู่บ้านสันทรายจนกระทั่งถึงวัดสันทราย ถ้าหากเป็นหน้าฝนลําบากมากเพราะต้องหาของมาใส่รองเท้า เสื้อผ้า กันเปียก แล้วหิ้วไป เพราะตลอดทางเป็นโคลน ต้องข้ามทุ่งนาหนทางก็ลื่นลําบากแก่การเดินทางมาก ถ้าเป็นหน้าแล้งหนทางก็เป็นทรายเดินทางก็ลําบากอีกเช่นกัน และก็ยังร้อนจัด จะได้ยินเสียงจักจั่นร้องทั่วไปหมด เมื่อถึงวัดสันทรายก็จัดแจงเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ที่นั่นจะมีรถสามล้อจอดคอยรับจ้างไปส่งในเมืองราคาประมาณ 12 สตางค์ ซึ่งเป็นระยะทาง 7-9 ก.ม. ถ้าวันไหน สามล้อมีน้อย บางคนก็ต้องเดินเข้าเมืองหรือเดินจนกว่าจะพบสามล้อ เมื่อถึงในเมืองส่วนมากจะพักกันที่บ้านเพื่อนชาวเหนือหรือบ้านคนที่รู้จัก พวกที่พักโรงแรมมีน้อย เพราะขณะนั้นโรงแรมมีไม่มากนัก ที่เที่ยวส่วนใหญ่เป็นตลาดเล่าโจ๊ กับตลาดต้นลําไย น้ำตกห้วยแก้ว หรือไม่ก็โรงหนัง ตงก๊ก ตงเฮง มิฉะนั้นก็ไปจังหวัดลําพูน อําเภอสันกําแพง ฯลฯ รุ่งขึ้นก็เดินทางกลับในตอนบ่ายให้ทันกินอาหารเย็น ต่อมาบางคนก็มีรถจักรยานสองล้อ แต่ก็ต้องเดินทางกับเส้นทางนั้นอีกเหมือนกัน หน้าฝนขี่ลําบากมาก บางครั้งรถก็ขี่คน หน้าแล้งก็เช่นเดียวกันเพราะตลอดทางเป็นทรายต้องใช้แรงถีบมากกว่าจะถึงก็หกล้มหกลุกกันเรื่อยไปตามทาง

ได้เล่าภาพพจน์และเหตุการณ์ต่างๆ ของแม่โจ้ และความเป็นอยู่ของนักเรียนให้ทราบแล้ว

หลังจากได้ไปรายงานต่อท่านอาจารย์แล้วก็มีการประชุมชี้แจง การปฏิบัติการเพื่อการศึกษา ระเบียบการข้อบังคับต่าง ๆ ให้เป็นที่เข้าใจกันดีว่าควรจะเตรียมสิ่งไรบ้าง สําหรับผู้ที่สมัครเข้ามาศึกษาในโรงเรียนนั้น ผู้ที่มาทั้งหมดจะต้องสอบคัดเลือกเสียก่อนจึงจะรับเป็นนักเรียนได้ การสอบมีด้วยกันสองวิธี

    1. ขั้นแรก จะต้องสอบการปฏิบัติงานกลางแจ้ง
    2. ขั้นที่สอง สอบวิชาเรียน

         การกําหนดเวลา มีระฆังตีบอกเวลา ตีห้าครึ่งปลุกให้นักเรียนตื่น เตรียมล้างหน้า แต่งตัว มีระฆังเตือนอีกครั้งหนึ่งเวลาตีห้าสี่สิบห้า เวลาหกโมงตีระฆังเรียกชื่อและให้ลงมือทํางาน สองโมงเช้าเลิกทํางาน สองโมงครึ่งรับประทานอาหารเช้า สามโมงเช้าเข้าเรียน เที่ยงพักทานอาหารกลางวัน บ่ายโมงเข้าเรียนต่อ สามโมงเย็นเลิกเรียน สามโมงครึ่งทํางานภาคเย็น ห้าโมงครึ่งเลิกทํางาน หกโมงรับประทานอาหารเย็น สองทุ่มครึ่งสวดมนต์ สามทุ่มครึ่งนอน

หอระฆัง

         เมื่อได้ทราบสภาพของแม่โจ้และความเป็นไปบางอย่างแล้ว ป่าไม้ที่เห็นอยู่ทั่ว ๆ ไป รอบ ๆ บ้านหรือในบริเวณแม่โจ้ที่มีจํานวนมากมาย จะต้องถูกโค่น ทําลายลงมาก เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าให้เป็นที่ราบ ซึ่งเหมาะแก่การ ทําไร่ ทํานา ทําสวน ที่พักอาศัย ถนนหนทาง เพื่อให้เหมาะสมกับที่ปรับปรุงเป็นโรงเรียนเกษตรที่สมบูรณ์ เป็นที่น่าอยู่น่าศึกษาต่อไป เพราะฉะนั้นนักศึกษารุ่นแรก ๆ จะต้องทําการบุกเบิก สร้างสรรขึ้นมาด้วยความลําบาก จะต้องออกแรงกายเสียเหงื่อไคลพร้อมทั้งความอดทนต่อสู้กับงานต่าง ๆ ซึ่งปรากฏเป็นผลประจักษ์อยู่จนทุกวันนี้

งานทดสอบการปฏิบัติงานเป็นงานที่ทํากลางแจ้ง 100% หรืออาจจะกล่าวตามตรงว่าเป็นงานกรรมกรเราดี ๆ นี่เอง เพราะงานที่สั่งให้นักเรียนทําเป็นงานของกสิกร กรรมกร ชาวไร่ ชาวนา ที่ได้ปฏิบัติกันเป็นประจํา เช่น การโค่นต้นไม้ เลื่อยต้นไม้ ตัดต้นไม้ แบกหามต้นไม้ เอาไม้ผ่าเป็นพื้น บางครั้งก็ต้องปฏิบัติงานแทนวัวควายโดยการลากเกวียนที่บรรทุกพื้น บรรทุกกิ่งไม้หรือของต่าง ๆ ลากรถเข็น หาบน้ำ หาบปุ๋ย หาบดิน พรวนดิน ถางหญ้า ขนขยะ ทําถนน ขุดบ่อ ขุดร่องน้ำ เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ทําความสะอาดคอกวัว ควาย สร้างโรงเรียนต่าง ๆ ฯลฯ แล้วแต่ครูจะสั่งงานอะไรให้ทํา

         วันแรกของการปฏิบัติงาน เมื่อนักเรียนไปพร้อมกันที่หน้าโรงพัสดุจ่ายเครื่องมือประจําโรงเรียนโดยมีอาจารย์พนมและครูอีกหลายคนคอยควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน เมื่ออาจารย์เรียกชื่อนักเรียนคนใดนักเรียนคนนั้นจะขานรับว่า “มาครับ” ทุกสายตาจะมองไปที่เสียงนั้น เพื่อจะได้รู้จักรูปร่างหน้าตาคนนั้นว่าเป็นอย่างไร เพราะนักเรียนมีจํานวนมาก มาจากต่างจังหวัดทั่วประเทศ แล้วก็จ่ายงานให้ไปทําเป็นกลุ่ม ๆ ไป มีครูคอยควบคุมดูแลความเรียบร้อยทุกกลุ่ม

         หลังจากปฏิบัติงานได้ประมาณเดือนหนึ่ง ก็ปรากฏผลการงานทดสอบคัดเลือกนักเรียน เข้าศึกษาในโรงเรียน ผู้ที่สามารถทนปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้ ทางโรงเรียนรับไว้เป็นนักเรียนทั้งหมด ซึ่งมีจํานวนมากพอสมควร ส่วนผู้ที่ไม่สามารถทนต่อการปฏิบัติงานหรือร่างกายสุขภาพไม่สมบูรณ์ ก็ลาออกไปหาที่ศึกษาแห่งใหม่ ส่วนข้าพเจ้าและเพื่อน ๆ ที่สมัครเรียนต่อไปต้องอยู่ที่ นั่นเป็นประจําเป็นเวลาสี่ปี ต้องปฏิบัติงานต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประจําหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ จากการทําไร่ ทํานา ทําสวน ขุดดิน ปลูกต้นไม้ ฉีดยาป้องกันกําจัดรักษาโรคศัตรูพืช และการเก็บพันธุ์พืช การใช้เวลาและทํางานซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่เสมอ ทําให้เกิดประสบการณ์ ความชํานาญรอบรู้มากขึ้นทุกทีเกี่ยวกับการเกษตร

         แต่กว่าจะเป็นผู้มีประสบการณ์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามือจากบุคคลธรรมดาไปจับขวานจับจอบจะต้องพองแตกแล้วก็ด้านหนาสมกับมือของชาวไร่ชาวนาและบ่าจากการไม่เคยหาบหามจะต้องฟกช้ำปวดเมื่อยจนกระทั่งสามารถหาบหามได้ ร่างกายก็สมบูรณ์ขึ้น แข็งแรง มีพลัง สุขภาพดีสามารถทํางาน ทุกอย่างโดยไม่ย่อท้อ

         ผลที่แม่โจ้ได้ให้อะไรแก่ข้าพเจ้า

    1. ให้ความรู้ ปัญญาและความสามารถในวิชาการเกษตรเกือบทุกสาขา ติดตัวไปเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางพืชหรือสัตว์และปศุสัตว์
    2. สอนให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีความมานะอดทน บึกบึน ต่อสู้กับงาน สามารถทํางานได้ทุกชนิด ไม่เลือกงาน มีความเพียรพยายามจนเป็นผลสําเร็จ
    3. สอนให้เป็นผู้รู้จักรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายให้ทํา (Sense of Responsibility)
    4. มีความกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์ผู้ให้วิชาและอบรมสั่งสอน (Seniority)
    5. มีใจรักเพื่อนฝูง และหมู่คณะ (Unity)
    6. รักศักดิ์ศรี รู้จักสิทธิและหน้าที่ของการเป็นนักเรียนในสถาบันแม่โจ้ (Honour)
    7. สอนให้นักเรียนเป็นผู้มีระเบียบวินัยและตรงต่อเวลา (Order)

         นักเรียนแม่โจ้ ผู้ซึ่งได้รับการฝึกและอบรมบ่มนิสัย ตลอดจนจิตใจ จากครูบาอาจารย์ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของแม่โจ้ แลไปทางไหน ใกล้ก็เป็นป่า ไกลก็เป็นเขา สงบเงียบ ที่พักอาศัยไม่สะดวกสบายนัก อาหารการกินก็ไม่สมบูรณ์ ไม่เหมือนกับผู้ที่อยู่ในเมือง มีอะไรก็ต้อง รับประทานได้ การเจ็บป่วยต้องอดทน ร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรง ตลอดจนการปฏิบัติงาน ต้องทําทุกอย่าง เช่น ชาวไร่ ชาวนา อยู่เป็นประจําทุกวัน ฉะนั้นเปรียบเสมือน แม่โจ้ เป็นช่างปรุงแต่งให้นักเรียนพร้อมที่จะรับและเผชิญกับงานการทุกชนิด โดยมีความอดทนและมั่นใจเสมอ ไม่มีการย่อท้อ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลของงานปรากฏว่าสําเร็จเสมอเมื่อได้รับมอบหมายมาให้ทําซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ของนักเรียนแม่โจ้

ที่มา : หนังสือเกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบปีที่ 82 ของอาจารย์ อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524 หน้า 73-79