ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยแม่โจ้


ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้นำพระพิรุณทรงนาคเป็นตราสัญลักษณ์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม และได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องและเหมาะสมกับยุคสมัย จวบจนปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้มีการปรับเปลี่ยนตรสัญลักษณ์ดังกล่าวประมาณ 10 แบบ เป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับการเกษตร

ตราสัญลักษณ์แรก

ตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2477 ได้นำพระพิรุณทรงนาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับการเกษตรมาเป็นตราสัญลักษณ์ขึ้นในปีเปิดการศึกษาแรก พ.ศ. 2477

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 2

โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ภาคเหนือมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอีกหลายครั้ง จนเป็นวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ย้ายจากแม่โจ้ไปตั้งที่บางเขน แม่โจ้ได้ถูกจัดตั้งเป็น “โรงเรียนเตรียมวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ตราสัญลักษณ์ของแม่โจ้ จึงมีการเปลี่ยนแปลง เป็นแบบที่ 2

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 3

การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ใหม่ ครั้งที่  3 เกิดขึ้นจากการที่ได้รับโอนกิจการของสถานศึกษาการเกษตรแม่โจ้ ไปสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งเป็น “โรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้” พ.ศ. 2492

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 4

พ.ศ. 2499 มีการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการยกฐานะโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ เป็น “วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2499 จึงเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ใหม่เป็นครั้งที่ 4 โดยใช้ตราของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 เป็นต้นมา ถึง พ.ศ. 2510

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 5

ปี พ.ศ. 2510 วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ได้อนุมัติตราสัญลักษณ์ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนิต มะลิสุวรรณ ออกแบบขึ้นใหม่ โดยให้มีสามเหลี่ยมอยู่ภายในชั้นใน มีพระพิรุณทรงนาคอยู่กลางรอบสามเหลี่ยมมีตราหนังสือ ปากกาขนนกอยู่ด้านซ้าย มีรวงข้าวอยู่ด้านขวา รองรับด้วยควายสัตว์แรงงานผู้ผลิตอยู่ด้านล่าง เพื่อบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของการศึกษาเกษตรกรรมในด้านการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ของประเทศในเวลานั้น

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 6

ปี พ.ศ. 2518 ภายหลังแม่โจ้มีพระราชบัญญัติ “สถาบันเทคโนโลยีการเกษตร” จึงให้มีการประกวดแบบตราสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร มีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะในการออกแบบ จำนวน 50,000บาท และในปีถัดมาสภาสถาบันได้คัดเลือกตราสัญลักษณ์ตามภาพ ซึ่งได้อธิบายความหมาย ประกอบด้วยสี่เหลี่ยมจัตุรัสสามอันซ้อนกัน บน 3 ฐาน

จากปรัชญาข้างต้นนั้น มี 3 หน่วยงานเป็นผู้ขับเคลื่อน ได้แก่ คณะผลิตกรรมการเกษตร 2. คณะธุรกิจการเกษตร และ 3. สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร ความหมายต่อมาคือสาขาแรกที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี ได้แก่ สาขาพืชไร่ สาขาพืชสวน และสัตว์ปีก อีกทั้งยังสื่อความหมาย โอวาทของคุณพระช่วงเกษตรศิลปการ เมื่อครั้งกลับมาเยือนแม่โจ้ เมื่อปี พ.ศ. 2510 ความว่า “สถานศึกษาแม่โจ้แห่งนี้จะเจริญเติบโต ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงนั้น จะต้องประกอบด้วย 1. มีครูดี 2. นักศึกษาดี และ 3. มีศิษย์เก่าดี ที่จะช่วยพยุงค้ำชูให้แม่โจ้มั่นคงแข็งแรงต่อไป” นอกจากนี้ยังสื่อความหมายอื่น ๆ ตามจินตนาการของแต่ละบุคคล เช่น แทนสัญลักษณ์สีเขียว ขาว เหลือง ของธงแม่โจ้ หรือสื่อถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 7

ตราสัญลักษณ์แม่โจ้ (จากผู้ชนะการประกวด) เมื่อ ปีพ.ศ. 2519 ได้ใช้กันมาถึง ปี พ.ศ. 2522 เมื่อสถาบันมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร ครั้งที่ 2 กอปรกับเสียงเรียกร้องจากศิษย์เก่าแม่โจ้ทั่วประเทศว่าต้องการให้เปลี่ยนแบบตราสัญลักษณ์ของสถาบันใหม่ โดยมีข้อเสนอแนะว่า ควรระบุในเงื่อนไขให้มีพระพิรุณทรงนาคอยู่ในแบบด้วยซึ่งสภาสถาบันฯ ได้นำเรื่องไปพิจารณาและเห็นควรให้มีการออกแบบโดยไม่ต้องใช้เงินจัดประกวด โดยกำหนดให้มีพระพิรุณทรงนาคอยู่ในแบบด้วย ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนิต มะลิสุวรรณรับดำเนินการออกแบบโดยได้ดัดแปลงจากแบบเดิม อาทิ นำพระพิรุณทรงนาค อยู่ในวงกลมภายใน มีคำว่า “แม่โจ้ 2477” อยู่ด้านล่างพระพิรุณทรงนาค สภาสถาบันได้อนุมัติแบบ และประกาศใช้เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2525

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 8

ปี พ.ศ. 2525 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร ครั้งที่ 3 นอกจากการแก้ไขพันธกิจของสถาบันฯ แล้วให้มีการเพิ่มชื่อคำว่า “แม่โจ้” ต่อท้ายชื่อสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร

ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 9

ในปี พ.ศ. 2539 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เป็น “มหาวิทยาลัยแม่โจ้” ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้  ไม่มีการกำหนดอัตลักษณ์เรื่องสี มีการออกแบบสีเข้ม-อ่อนต่างกัน


ตราสัญลักษณ์ ครั้งที่ 10

(ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายเรื่องแบรนด์และอัตลักษณ์เรื่องของสี)

ในปี พ.ศ. 2539 เมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เป็น “มหาวิทยาลัยแม่โจ้” จึงมีการแก้ไขตราสัญลักษณ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน แต่อาจมีข้อแตกต่างในเรื่องของสีอันเกิดจากในช่วงนั้นเทคโนโลยีมีความทันสมัย จึงมีสีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กอปรกับ มหาวิทยาลัยยังไม่ได้กำหนดสีและตราสัญลักษณ์ที่เป็นอัตลักษณ์ จวบจนปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้กำหนดความเข้มของสีของตราสัญลักษณ์ขึ้นมาเพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นแบรนด์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และใช้มาจนทุกวันนี้

ที่มา หนังสือบันทึกแม่โจ้ ความคิด ชีวิต ตำนาน. (2560)