ประวัติ
วัดข้าวแท่นหลวง ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดเก่าแก่ ได้เริ่มมีการสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2115 เพราะทราบเค้าเรื่องจากตํานานของพระเจดีย์ ซึ่งมีตํานานเล่าขานว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมารับบิณฑบาตแถวบ้านยางหมอก จึงมีการสันนิษฐานว่าวัดเดิมชื่อวัดยางหมอก เพราะตํานานเล่าว่าที่ตั้งวัดเดิมชื่อว่าบ้านยางหมอก ขณะที่ “พ่อนา” กําลังเก็บเกี่ยวข้าวในทุ่งนาตอนเช้า เห็นพระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาต จึงได้วางมือเก็บเกี่ยวเข้าไปกราบนมัสการพร้อมกับนําฟ่อนข้าวถือติดมือไปปูเป็นแท่น ถวายให้พระพุทธองค์ประทับนั่งและถวายบิณฑบาต จากนั้นพระพุทธองค์จึงทรงตรัสกับ “พ่อนา” ว่า ภายภาคหน้าบ้านยางหมอกจะได้ชื่อว่าบ้านข้าวแท่น เพราะ “พ่อนา” นําฟ่อนข้าวมาทําเป็นแท่นบัลลังก์ให้พระตถาคตประทับนั่ง จากนั้นพระพุทธองค์เสด็จไปฉันภัตตาหารเช้าที่ดอยแท่นพระผาหลวง อยู่ทางทิศเหนือวัดข้าวแท่น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจากบ้านยางหมอกเป็นบ้านข้าวแท่น โดยมีวัดข้าวแท่นหลวง และวัดข้าวแท่นน้อย
พระพุทธรูปปฏิมา
องค์ประธาน ซึ่งประดิษฐานในวิหารสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2441 เป็นพระขนาดใหญ่ มีหน้าตักกว้าง 3.99 เมตร สูง 4.99 เมตร มีพระพักตร์อิ่มเอิบ ประกอบไปด้วยพระเมตตามีพุทธลักษณะงดงาม องค์หนึ่งมีพระนามเรียกว่า “พระพุทธมหาวณฺโณ” พระนามนี้เรียกตามฉายาของพระผู้สร้างพระพุทธรูปนี้คือ พระอธิการหน้อย ฉายา “มหาวณฺโณ” ท่านเป็นทั้งประธานและเป็นช่างสร้างพระพุทธรูป เมื่อสร้างเสร็จแล้วท่านพระมหาวณฺโณ จึงได้อธิฐานตัดนิ้วแม่มือตัวเองบรรจุไว้ในพระอุระ(อก) ของพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งเป็นที่เคารพกราบไหว้ของประชาชนเป็นอย่างมาก
รายชื่อเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม
- พระอธิการชัย ชยวฑฺตฒโน พ.ศ. 2354 – 2376
- พระอธิการกองเงิน กนตจาโร พ.ศ. 2377 – 2401
- พระอธิการหน้อย มหาวณฺโณ พ.ศ. 2402 – 2442
- พระอธิการแก้ว จนฺทธมฺโม พ.ศ. 2443 – 2449
- พระอธิการบุญมา สิริธมฺโม พ.ศ. 2450 – 2455
- พระอธิการอภิวงศ์ อภิวํโส พ.ศ. 2456 – 2467
- พระอธิการแก้ว สุรตฺโน พ.ศ. 2468 – 2473
- พระปลัดบุญปั๋น สุวณฺณธมฺโม พ.ศ. 2474 – 2483
- พระครูสันติยานุสาสน์ (อิ่นคํา อินฺทนนฺโท) พ.ศ. 2483
- พระครูโกศลธรรมวิจัย (สุวรรณ ธมฺมวิจาโร) พ.ศ. 2547 – ปัจจุบัน
ปัจจุบัน
วัดข้าวแท่นหลวง เลขที่ตั้ง 78 บ้านข้าวแท่นหลวง ถนนสุขาภิบาลสันทราย หมู่ที่ 3 ตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 13 ตารางวา โฉนดเลขที่ 2584 อาณาเขตทิศเหนือจรดที่ดินเอกชน ทิศใต้จรดที่ดินเอกชนและลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันออกจรดที่ดินเอกชนและลำเหมืองสาธารณะ ขณะที่ทิศตะวันตกจรดที่ดินเอกชนลำเหมืองสาธารณะ โดยอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ อุโบสถ ศาลาบาตร กุฏิสงฆ์ หอระฆัง หอกลอง และโรงครัว ซึ่งมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูป(พระพุทธมหาวัณโณ) และเจดีย์โบราณ
สิ่งน่าสนใจ
- ห้องสมุด – พิพิธภัณฑ์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2532
- แท๊งค์น้ำ – สะพาน 1 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2515
- กำแพง – สะพาน 2 สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2534
https://www.instagram.com/reel/CXah0RfBILG/
ข้อมูลจาก: หนังสือสารคติโบราณล้านนาไทย
เขียน/เรียบเรียง: ณรงณ์ ณรงค์ชัยปัญญา
ภาพโดย: อเสกข์ เพ็ชรเฟื่อง