ผางประทีป เป็นประทีปที่ใช้เป็นเครื่องสักการะบูชาพระพุทธเจ้า และเป็นการนำไปใช้ในการบูชาสืบชะตาต่ออายุของตนเอง อีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในการจุดแทนตะเกียงช่วงเวลากลางคืน (เยาวนิจ ปั้นเทียน, 2542)
คำว่า “ผาง” หมายถึง ภาชนะรองรับน้ำมันหรือไขที่เป็นเชื้อเพลิงของประทีป คำว่า “ประทีป” หมายถึง แสงไฟ
ความเป็นมา
- ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ (พระพุทธเจ้าที่ผู้คนนับถือในปัจจุบัน) และพระศรีอริยเมตไตรย เดิมทั้ง 5 พระองค์เป็นลูกกาเผือก โดยกาเผือกไปฟักไข่ไว้บนรังต้นไม้ในขณะที่แม่กาเผือกกำลังออกหากินเกิดลมพายุพัดแรงขึ้นทำให้ลูกที่เป็นไข่ถูกลมพัดตกหล่นไปในแม่น้ำ ไข่ทั้ง 5 ใบก็ลอยแยกออกจากกันไปเจอคนเลี้ยงที่ต่างกัน โดยไข่ใบแรกเจอไก่เก็บไปเลี้ยง คือ พระกกุสันธะ ไข่ใบที่ 2 นาคได้เก็บไปเลี้ยง คือ พระโกนาคมนะ ไข่ใบที่ 3 เต่าได้เก็บไปเลี้ยง คือ พระกัสสปะ ไข่ใบที่ 4 โคได้เก็บไปเลี้ยง คือ พระโคตมะ และไข่ใบสุดท้ายคนซักผ้าได้เก็บไปเลี้ยง คือ พระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งไข่พอฟักออกมาแล้วแทนที่จะเป็นกา แต่กลับกลายเป็นคน เมื่อทั้ง 5 พระองค์เติบโตขึ้นมาได้รับรู้ว่าตัวตนจริง ๆ เป็นไข่ของกาเผือกมาก่อน จึงอยากรู้ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงของตัวเองเป็นใครได้ทำการออกเดินทางตามหา ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์มาเจอกันโดยบังเอิญแล้วได้เล่าเรื่องราวของกันและกันให้ฟัง ทำให้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน ก็เลยสัจจะอธิษฐานว่าอยากเจอแม่แท้ๆ ซึ่งแม่ของทั้ง 5 พระองค์ได้เกิดเป็นเทพบนสวรรค์แล้วเนื่องจากรู้ว่าลูกของตนเองหายไป จึงได้ทำการออกตามหาลูกแต่หานานเท่าไหร่ก็ไม่เจอจนเกิดอาการอกแตกตาย ด้วยแรงอธิษฐานของทั้ง 5 พระองค์ทำให้แม่ที่อยู่บนสวรรค์ลงมาแปลงกายให้เห็นว่าเป็นกาเผือก และมีการพูดคุยกัน พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์อยากได้ของจากแม่เพื่อที่จะเก็บเป็นที่ระลึกบูชา แม่ก็เลยนำด้ายมาฟั่นเป็นตีนกา ลูกทั้ง 5 คนจึงตั้งใจออกบวชเป็นฤๅษี ปฏิบัติธรรมและอธิษฐานให้ตนเองเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกันทั้ง 5 พระองค์ (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
- ตำนานเกี่ยวกับการแสดงอิทธิฤทธิ์ระหว่างพราหมณ์กับพระพุทธเจ้า ชาวเมืองหันมาเคารพนับถือศาสนาพุทธกันมากขึ้น ทำให้พวกอาจารย์ที่เป็นพราหมณ์มีผู้คนเริ่มนับถือน้อยลง เครื่องราชสักการะก็น้อยลง พราหมณ์เหล่านั้นได้ทำการคิดว่าจะทำยังไงให้คนกลับมาเคารพนับถือมากขึ้น จึงมีการจัดแสดงอิทธิฤทธิ์ด้วยการเหาะขึ้นไปเอาของบนยอดไม้ เพราะมีความเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนับถือคนที่มีฤทธิ์มีเดช แต่เหล่าพราหมณ์ทั้งหลายได้มีการยื้อยุดฉุดกระชากกันเป็นเวลานานก็ยังไม่มีใครเหาะขึ้นไปได้ สุดท้ายพระโมคคัลลานะซึ่งเป็นพระที่มีฤทธิ์มากเดินผ่านไปยังบริเวณจัดแสดงอิทธิฤทธิ์ได้เหาะขึ้นไปเอาของบนยอดไม้มา พราหมณ์ทั้งหลายที่พบเห็นก็เลยโจษจันว่าลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้นเกเร อันธพาลไปทำลายพิธีของพวกเขา เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่องราว ท่านจึงห้ามพระสาวกแสดงอิทธิฤทธิ์อีก เพราะการแสดงอิทธิฤทธิ์ไม่ใช่แก่นสารของการที่ทำให้ผู้คนบรรลุคุณความดี พอพราหมณ์ได้ยินก็เลยท้าทายสาวกของพระพุทธเจ้า แต่ไม่มีสาวกองค์ใดของพระพุทธเจ้ารับคำท้า จนมาวันหนึ่งพราหมณ์ได้ไปท้าทายพระพุทธเจ้า พระองค์จึงรับคำท้านั้น แล้วบอกกล่าวไปว่าจะแสดงอิทธิฤทธิ์ที่ประตูเมืองสาวัตถี เมื่อพวกพราหมณ์และพระเจ้าพิมพิสารได้ยินก็ได้กล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธองค์ห้ามสาวกแสดงอิทธิฤทธิ์ แล้วทำไมพระพุทธองค์จะไปแสดงเอง” พระพุทธเจ้าท่านก็เลยถามย้อนกลับไปว่า “มะม่วงในสวนของพระองค์ พระองค์ห้ามคนอื่นกินใช่ไหม แล้วพระองค์กินได้ไหม” ก็เหมือนกับที่บอกว่า “เราห้ามคนอื่นไม่ให้ทำได้ แต่เราทำได้” แล้วพระองค์บอกว่าจะไปแสดงอิทธิฤทธิ์ที่ต้นมะม่วงหน้าเมือง พวกพราหมณ์รู้จึงพากันไปตัดต้นมะม่วงทั้งหมดทิ้ง และสร้างปราสาท ทำซุ้มต่าง ๆ เพื่อมาแข่งกับพระพุทธเจ้า เมื่อวันแสดงอิทธิฤทธิ์จริงมาถึงพระพุทธเจ้าออกไปบินฑบาตแล้วได้มะม่วงมาลูกหนึ่งเป็นมะม่วงหลงฤดู ท่านจึงฉันมะม่วงลูกนั้น เมื่อฉันเสร็จแล้วก็ให้คนเอาเมล็ดมะม่วงไปปลูกที่หน้าเมือง แล้วพระพุทธเจ้าก็นำน้ำล้างบาตรไปเทรดมะม่วงที่ปลูกไว้ มะม่วงก็เจริญเติบโตขึ้นมาทันตาเห็น ในขณะนั้นเองก็บังเอิญเกิดพายุฝนกระหน่ำเข้ามาทำลายปราสาท ทำลายซุ้มของพวกพราหมณ์พังทลายทั้งหมด พระพุทธเจ้าท่านก็เลยแสดงฤทธิ์ด้วยการนั่งสมาธิแยกร่างของพระองค์ออกมาเป็น 2 ร่าง ลอยไปมาบนอากาศสลับกันขึ้นลง ในระหว่างนั้นเหล่าเทพเทวดาที่เคารพพระพุทธเจ้าจึงทำการจุดประทีปกัน โดยการทำให้ประทีปลอยวนกลางอากาศในบริเวณพิธีวันนั้น (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
ความเชื่อ
การจุดประทีปถือเป็นสัญลักษณ์ของความกตัญญูรู้คุณไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หนังสือ ดินสอ และเป็นกลอุบายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนได้รำลึกถึงสิ่งที่มีบุญคุณกับตัวเรา นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บุพการีแล้ว ยังรวมไปถึงความเชื่อที่อยากให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากลำบากของคนเฒ่าคนแก่ในสมัยก่อนว่ามีการใช้ชีวิตอย่างไร (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
การวางผางประทีป
การวางผางประทีปในสมัยก่อนจะวางไว้ตามรั้ว หัวเสา ประตู หน้าต่าง คอกวัว และคอกควาย รวมถึงการวางไว้ใกล้กับเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหากิน หรือเป็นการวางไว้ตามสถานที่ที่ผู้คนได้พึ่งพาอาศัยสิ่งเหล่านั้นสำหรับการสร้างประโยชน์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
แหล่งที่มา
เยาวนิจ ปั้นเทียน. (2542). ผางประทีส/ผางประทีป (ดวงประทีป). ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 8, หน้า 4072- 4075 ). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม. (2566, พฤศจิกายน 27). พระครูวันเจดีย์แม่ครัว ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์