ความเป็นมา
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เจ้าเมืองต่าง ๆ ก็ยกทัพมาแย่งชิงจะเอาพระธาตุไปเป็นของตนเอง โทณพราหมณ์จึงรับผิดชอบในการแบ่งพระธาตุให้กับเจ้าเมืองแต่ละเมือง แล้วได้ฉุกคิดขึ้นว่าเราเป็นคนแบ่งพระธาตุ ทำไมเราจะไม่ได้พระธาตุสักชิ้นเลย จึงทำการซ่อนพระเกศแก้วจุฬามณีไว้ในผ้าโพกผมของตนเอง ในขณะเดียวกันเหล่าเทวดาที่อยู่บนสวรรค์ก็มีความคิดว่าโทณพราหมณ์แบ่งพระธาตุไม่ได้นึกถึงเทพเทวดาเลย จึงแอบเอาพระธาตุชิ้นที่โทณพราหมณ์นั้นซ่อนไว้ และนำพระเกศแก้วจุฬามณีไปไว้บนสรวงสวรรค์ (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
ความเชื่อ
การปล่อยโคมเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี เป็นความเชื่อของผู้คนที่จะทำทุกวิธีทางเพื่อให้สามารถกราบไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีที่อยู่บนสวรรค์ได้ ทำให้เกิดโคมที่สามารถลอยขึ้นไปบนอากาศ และเชื่อกันว่าการปล่อยโคมเปรียบเสมือนการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
สถานที่ในการปล่อยโคม
ในสมัยก่อนนิยมปล่อยโคมที่หัววัดหรือวัดประจำตำบล จะไม่มีการปล่อยตามบ้านเรือนหรือวัดเล็ก ๆ
ว่าวฮม/โคมลอย
ภาพโดย : เพจศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่
โคมลอยมาจากศัพท์สองคำ คือ “โคม” ที่หมายถึง เครื่องใช้ที่ให้กำเนิดแสงสว่าง และคำว่า “ลอย” ที่หมายถึง ทรงตัวอยู่ในน้ำหรือในอากาศ ดังนั้น “โคมลอย” จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถลอยอยู่ได้ทั้งในน้ำและในอากาศก็ได้ทั้งสองกรณี(อุดม รุ่งเรืองศรี,2554) แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้คำจำกัดความของ “โคมลอย” หมายถึง ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปในอากาศ
ว่าวฮม/โคมลอย เป็นบอลลูนขนาดใหญ่โดยการใช้ควันอัดเข้าไปในโคมทำให้โคมลอยได้ โดยโคมลอยนิยมปล่อยในช่วงกลางวัน ซึ่งโคมชนิดนี้ส่วนใหญ่จะทำกันอยู่ 2 รูปแบบ (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, 2542) ได้แก่
- ว่าวสี่แจ่ง เป็นว่าวรูปทรงสี่เหลี่ยมด้านเท่าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีรูปทรงที่ทำได้ง่ายและนิยมทำกันทั่วไป โดยใช้กระดาษว่าวในการทำจำนวน 36 แผ่นมาต่อกันเข้าเป็นหกด้าน คือ ด้านข้างทั้งสี่ด้าน รวมทั้งด้านบนและด้านล่าง ด้านละ 6 แผ่น ส่วนที่สำคัญที่สุดของว่าวรูปแบบนี้ คือ ด้านปาก ต้องพับครึ่งกระดาษสองครั้งเพื่อหาจุดศูนย์กลาง
- ว่าวมน เป็นว่าวรูปทรงกลม นิยมใช้กระดาษว่าวอย่างน้อย 64 แผ่น สำหรับทำส่วนปากและก้นอย่างละ 12 แผ่น ส่วนด้านข้างนั้นต้องใช้กระดาษ 40 แผ่นด้วยกัน หากจะทำให้ใหญ่กว่านี้ก็ต้องทำให้ได้สัดส่วนที่ลงตัวกันได้พอดี
ว่าวไฟ/โคมไฟ
ว่าวไฟ/โคมไฟ เป็นดวงโคมที่ให้แสงสว่างและเป็นลูกโป่งกระดาษชนิดที่อาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับ แกนกลางทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศ โดยนิยมปล่อยให้ลอยในช่วงเวลากลางคืน
ในอดีตผู้คนทั่วไปจะไม่ค่อยมีการปล่อยโคมไฟตามบ้านเรือน เพราะเมื่อก่อนจะทำโคมไฟกันที่วัด โดยโคมไฟจะมีขนาดใหญ่มาก ต้องใช้คนอุ้มกันประมาณ 10 คนขึ้นไป วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประกอบด้วยกระดาษสา ใช้กระบวนการเดียวกับการทำว่าวฮม แต่ใช้กระดาษน้อยกว่าและอาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับแกนกลาง ทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศ ลูกไฟที่ผูกติดแกนกลางนั้นในปัจจุบันนิยมใช้กระดาษชำระชุบขี้ผึ้งเทียน และโคมไฟในสมัยก่อนสามารถลอยอยู่บนอากาศได้ตลอดทั้งวัน รวมถึงผู้คนในสมัยก่อนนิยมนำของกินของใช้ใส่ถาดแล้วนำไปใส่ในโคมไฟด้วย นอกจากนี้ขนาดของโคมไฟสมัยก่อนมีแค่โคมไฟขนาดใหญ่ ไม่มีขนาดเล็กเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งโคมไฟขนาดเล็กมีได้ประมาณ 30 ปี (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
ความแตกต่างของว่าวฮมกับว่าวไฟ
ในเรื่องของความเชื่อเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์และความเชื่อของการปลดปล่อยลอยเคราะห์ ความไม่ดีทั้งหลายว่าวทั้งสองรูปแบบมีความเชื่อเหมือนกัน เพียงแค่ช่วงเวลาและกระบวน การในการทำให้ว่าวลอยตัวขึ้นนั้นแตกต่างกัน โดยว่าวฮม/โคมลอย นิยมปล่อยในช่วงกลางวันและมีการทำเป็นถุงรับความร้อนจากควันไฟเพื่อพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศได้ แต่ว่าวไฟ/โคมไฟ นิยมปล่อยในช่วงเวลากลางคืนและจุดไฟแขวนที่ปากว่าว ให้ความร้อนยกตัวว่าวขึ้นไปบนอากาศจนกว่าจะหมดเชื้อเพลิงแล้วตกลงมาสู่พื้นดิน นอกจากนี้ว่าวฮมได้เกิดการสูญหายไปแล้ว เหลือเพียงแค่ว่าวไฟ (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, 2542)
แหล่งที่มา
พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม. (2566, พฤศจิกายน 27). พระครูวันเจดีย์แม่ครัว ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์.
สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี. (2542). ว่าว (เครื่องเล่นที่ปล่อยให้ลอยในอากาศ). ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 12, หน้า 6256-6257). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
อุดม รุ่งเรืองศรี. (2554). โคมลอย. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (ฉบับเพิ่มเติม) (เล่ม 1, หน้า 166-169). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.