Sansai Discovery

มนต์เสน่ห์วัฒนธรรมลอยกระทงแบบล้านนา “ประเพณียี่เป็ง”

ประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของภาคเหนือที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ในภาษาเหนือ คำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วนคำว่า “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หรือ พระจันทร์เต็มดวง โดยเดือนทางภาคเหนือจะนับเร็วกว่า 2 เดือน ซึ่งเดือนยี่ของภาคเหนือตรงกับเดือน 12 ของภาคกลางหรือวันลอยกระทง

ความเป็นมา

  • ตำนานเกี่ยวกับโยนกและจามเทวีวงศ์ มีการบอกกล่าวว่า “ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ” เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาล การลอยโขมดเกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ.1490 มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นไปอยู่ที่เมืองสะเทิม ต่อมาอหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองสะเทิม จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงในสะเปาซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงแม่น้ำปิง แม่น้ำแม่ท่า และลำน้ำแม่กวง เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่ต่างเมือง จึงเป็นสาเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยกระทง (มณี พยอมยงค์, 2547; สงวน โชติสุขรัตน์, 2511)
  • ตำนานที่มีต้นกำเนิดมาจากพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งนางสุชาดาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนที่หุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระพุทธองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ” ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพญานาค จนตื่นขึ้นและประกาศก้องว่า “บัดนี้ได้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว” เหล่าเทพยดาทั้งหลายและพญานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อที่พวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ได้พบเห็นเรื่องราวก็นำความไปบอกนางสุชาดา เมื่อถึงวันนั้นของทุกปีนางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำ และต่อมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงที่พบเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน (มณี พยอมยงค์, 2547; สงวน โชติสุขรัตน์, 2511)

ความเชื่อ

ความเชื่อของประเพณียี่เป็ง เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่อยู่ในมหาสมุทร อีกความเชื่อหนึ่งเป็นการบูชาพระแม่คงคา บูชาน้ำ ขอโทษขออภัยและขอบคุณที่ให้น้ำในการนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันเป็นการลอยกระทงเพื่อหาคู่ และมีบางคนที่ตัดเล็บตัดผมใส่ไปด้วยถือเป็นการลอยเคราะห์ (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)

กิจกรรมของประเพณียี่เป็ง

  • กิจกรรมของประเพณียี่เป็งในอดีต
    • การทำประทีปโคมไฟ โดยประทีปโคมไฟจะนิยมทำในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ผู้คนจะทำเป็นประทีปตีนกา ซึ่งการทำเป็นตีนกา คือ การนำฝ้ายสีขาวมาฟั่นให้เป็นแฉกๆ เหมือนกับตีนกาแล้วนำไปใส่ภาชนะ ผู้คนในสมัยก่อนจะใช้วัสดุหลายอย่างในการทำ แต่ส่วนมากจะใช้ดินเผาปั้นเป็นภาชนะเล็ก ๆ แล้วเอาน้ำมัน ขี้ผึ้ง ไขที่เป็นเชื้อไฟได้มาทำเป็นน้ำเทียน
    • การปล่อยโคม เป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และเปรียบเสมือนการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก ปล่อยเรื่องที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต โดยการปล่อยโคมจะมี 2 รูปแบบ คือ โคมลอยหรือว่าวฮม เป็นการปล่อยโคมในช่วงกลางวัน และโคมไฟหรือว่าวไฟ เป็นการปล่อยโคมในช่วงกลางคืน
    • การจุดบอกไฟ มีความเชื่อว่าเป็นการช่วยให้ชีวิตรุ่งโรจน์โชติช่วงเหมือนกับประกายไฟของดอกไม้ไฟ โดยมีทั้งการจุดบอกไฟดอก และบอกไฟดาว รวมถึงมีการจัดแข่งขันจุดบอกไฟดอก แต่ในปัจจุบันไม่มีกิจกรรมนี้แล้ว เพราะมีข้อจำกัดด้านกฎหมายเนื่องจากก่อให้เกิดความอันตรายได้
    • การเผาสีสายค่าคิง เป็นการนำด้ายมาชุบกับน้ำมัน ขี้ผึ้ง แล้วตัดด้ายให้ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของด้ายเส้นนั้น เพื่อเป็นตัวแทนของตัวเรา และนำไปเผาบูชาพระ ซึ่งในปัจจุบันการเผาสีสายค่าคิงไม่มีที่ไหนทำแล้ว

  • กิจกรรมของประเพณียี่เป็งในปัจจุบัน ได้แก่ การประกวดกระทงเล็ก การประกวดกระทงใหญ่ การประกวดร้องเพลง การประกวดซุ้มประตูป่า การฉายหนังกลางแปลง การเทศน์ธรรม การปล่อยโคมไฟ การจัดประกวดนางนพมาศ และตอบปัญหาธรรมะ
  • การจัดกิจกรรมประเพณียี่เป็งในวัด
    • ช่วงเช้า มีการบิณฑบาตจากชาวบ้าน
    • ช่วงกลางวัน มีการเทศนาธรรมต่าง ๆ
    • ช่วงกลางคืน มีการเทศนาธรรมอีกครั้งเกี่ยวกับอานิสงส์ผางประทีป โดยบอกว่าอานิสงส์ผางประทีปมีที่มาอย่างไร การทำประทีปแต่ละอย่างที่ช่วยสร้างเชื้อเพลิงจากไข น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว อานิสงส์แต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน และอยู่ที่การอธิษฐานของแต่ละบุคคลด้วย แต่ในปัจจุบันมีการเทศนาธรรมเพียงช่วงกลางวันอย่างเดียว

ความแตกต่างของประเพณียี่เป็งในอดีตและปัจจุบัน

ในอดีตการจัดงานประเพณียี่เป็งเป็นแบบเรียบง่าย แต่ในปัจจุบันประเพณียี่เป็งมีการสร้างสรรค์งานอย่างอลังการ ไม่มีแก่นแท้ของประเพณีว่าประเพณีนี้มีความเป็นมาอย่างไร จัดขึ้นมาเพื่อสาเหตุอะไร และน้อยคนที่จะเห็นถึงความงดงามของประเพณีจริง ๆ รวมถึงมีการแอบแฝงไปด้วยการแสวงหาผลประโยชน์จากตุง โคมแขวน โคมไฟ เมื่อก่อนผู้คนจะไม่นำสิ่งเหล่านี้ไปไว้ตามบ้านเรือนมีเพียงแค่ที่วัดเท่านั้น สมัยนี้ตุง โคมแขวนกลายเป็นของประดับตกแต่ง และสังคมไทยโดนวัตถุนิยมครอบงำ คิดที่จะทำสิ่งใดก็จะต้องมีเงินเป็นค่าตอบแทน คนจึงฉวยโอกาสจากประเพณีไปใช้ในการหาเงินในการขายเหล้า ขายเบียร์ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวมากกว่าการเคารพบูชาพระพุทธศาสนา (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายนน 2566)

ความสำคัญของประเพณียี่เป็งที่มีผลดีต่อชุมชน

  • ช่วยสร้างความสามัคคีของผู้คนในชุมชนในการร่วมมือกันจัดกิจกรรประเพณียี่เป็ง
  • ช่วยคัดกรองคน เนื่องจากมีการทำงานเป็นหมู่คณะจะทำให้เห็นตัวตนของแต่ละบุคคลได้ชัดเจนในการทำงานร่วมกับผู้อื่นว่ามีการปฏิบัติตัวอย่างไร
  • ช่วยพัฒนาคน ครอบครัว และชุมชนให้เข้มแข็ง

มุมมองของพระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโฒที่มีต่อประเพณียี่เป็ง

เรื่องราวที่เกี่ยวกับประเพณียี่เป็ง

ซุ้มประตูป่า

ผางประทีป

การปล่อยโคม

แหล่งที่มา

มณี พยอมยงค์. (2547). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.

สงวน โชติสุขรัตน์. (2511). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.

พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม. (2566, พฤศจิกายน 27). พระครูวันเจดีย์แม่ครัว ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์