ซุ้มประตูป่า เป็นปากทางที่จะเข้าสู่ป่า มักจะปรากฏอยู่เป็นเสา ตั้งอยู่ที่ชายหมู่บ้าน ขนาบทางเดินที่จะเข้าป่า ซึ่งมักจะเป็นส่วนประดับอยู่ระหว่างเสาทั้งคู่ ใช้เป็นบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับหมู่บ้าน
การทำซุ้มประตูป่าในสมัยก่อนจะแยกย้ายกันทำของบ้านตนเอง มีการนำต้นกล้วย ต้นมะพร้าว ใบกล้วย ใบมะพร้าวมาใช้ในการประดับตกแต่งซุ้มประตู ซึ่งการทำซุ้มประตูป่าของแต่ละบ้านเรือนเริ่มหายไปแล้วประมาณ 10 ปีก่อน สาเหตุที่หายไปเพราะเทศบาลของแต่ละตำบลมีการจัดประกวดซุ้มประตูป่าของหมู่บ้าน ชาวบ้านเลยไปร่วมมือกันทำที่เดียว ไม่มีการทำของแต่ละบ้านแล้ว ในช่วงกลางคืนก็มีการจัดดนตรี มีฟ้อนรำให้คนมาร่วมสนุก รอประกาศผลการทำซุ้มประตูป่า (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)
ความเป็นมา
ชาวบ้านจะเตรียมตัวจัดตกแต่งประตูบ้านและประตูวัดให้เป็นซุ้มประตูป่าอย่างสวยงาม เพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในเดือนยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง ซึ่งปรากฏในเวสสันดรชาดก อันเป็นชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะประสูติเป็นพระพุทธเจ้า และเชื่อกันว่าถ้าใครตกแต่งซุ้มประตูป่าได้งดงาม อาจทำให้พระเวสสันดรเสด็จหลงเข้ามาในซุ้มประตูป่าที่จำลองเป็นป่าภายในบ้าน และจะทำให้ได้อานิสงส์อย่างมาก (มณี พยอมยงค์, 2547; สงวน โชติสุขรัตน์, 2511)
ความเชื่อ
- เป็นการต้อนรับการเสด็จกลับจากป่าของพระเวสสันดร
- เป็นซุ้มที่ใช้จุดผางประทีป เพื่อบูชาพระเจ้า 5 พระองค์
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำซุ้มประตูป่าสามารถนำวัสดุอะไรมาทำก็ได้ เพราะไม่มีการจำกัดอุปกรณ์ในการทำ และไม่มีความหมายที่สำคัญแอบแฝง การนำต้นมะพร้าว ต้นกล้วยมาทำเนื่องจากหาได้ง่ายและสร้างความสวยงามให้แก่ซุ้มประตูป่าได้ แต่พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม กล่าวว่า การนำต้นกล้วยมาทำซุ้มประตูอาจจะสื่อถึงการเป็นของเย็น ส่วนต้นอ้อยเป็นของหวาน ให้ความหมายว่าชีวิตจะอยู่เย็นเป็นสุข อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร คล้ายๆการทำพิธีสืบชะตา
ซุ้มประตูป่าวัดเจดีย์แม่ครัว
แหล่งที่มา
มณี พยอมยงค์. (2547). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.
สงวน โชติสุขรัตน์. (2511). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.
พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม. (2566, พฤศจิกายน 27). พระครูวัดเจดีย์แม่ครัว ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์