"ตาน" คือ ถวาย,ทาน "หลัว" คือ ฟืนที่นำมาเป็นเชื้อก่อไฟ "หิง" คือ การผิงไฟ,การก่อไฟ "พระเจ้า" คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความเป็นมา
ความเป็นมาของประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้ามีความสอดคล้องกับบริบททางสภาพแวดล้อม เนื่องจากเป็นพื้นที่ ๆ มีอากาศหนาวจัดมาก มีป่าไม้ที่อุดสมบูรณ์ ต้นไม้ขึ้นหนาแน่น และมีความชื้นสูง นอกจากนี้ชาวบ้านนิยมไปทำบุญตักบาตรช่วงเช้าที่มีอากาศหนาวเย็น ผู้คนในสมัยก่อนจึงมีการคิดหากุศโลบายว่า ให้ชาวบ้านเอาไม้ไปคนละวา เพื่อนำไปทำหลัวหิงไฟพระเจ้า เพราะกลัวว่าพระพุทธรูปที่อยู่ในวัดจะหนาว แต่ความจริงก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่พระสงฆ์ และชาวบ้านที่ไปทำบุญ ด้วยเหตุที่ว่าในสมัยก่อนไม่มีเครื่องนุ่งห่มที่สามารถป้องกันความหนาวเย็นได้เท่ากับปัจจุบัน (นพดล พิมาสน, สัมภาษณ์, 17 มกราคม 2567)
ความเชื่อ
- เชื่อว่าพระพุทธเจ้ายังไม่นิพพานจึงกลัวว่าพระพุทธเจ้าจะหนาว ทำให้เกิดการก่อไฟเพื่อให้ความอบอุ่น
- เชื่อว่าการทำหลัวหิงไฟพระเจ้าจะช่วยสร้างสัญญานในการตื่นขึ้นมาเตรียมอาหารและสังฆทาน ตั้งแต่เช้าเพื่อที่จะมาวัดให้พร้อมเพียงกัน
- เชื่อว่าการทำหลัวหิงไฟพระเจ้าต้องการให้ประชาชนที่มีใจศรัทธามาทำบุญที่วัดได้รับความอบอุ่นจากไฟ เพื่อคลายความหนาว
ช่วงเวลา
ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้านิยมจัดในช่วงเดือนสี่เป็งของภาคเหนือ หรืออยู่ในช่วงประมาณปลายเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคม ซึ่งในปี 2567 ตรงกับวันที่ 27 มกราคม และ 1 ปีมีการจัดเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น โดยกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เคยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 แต่ในปีต่อ ๆ มา จนถึงปี 2567 ไม่มีการจัดประเพณีขึ้น เนื่องจากการเผาฟืนจะส่งผลกระทบให้เกิดมลพิษทางอากาศ (นพดล พิมาสน, สัมภาษณ์, 17 มกราคม 2567)
สถานที่ในการจัดประเพณี
ส่วนใหญ่ประเพณีนี้จัดที่วัด โดยมีการนำไม้ฟืนที่ชาวบ้านนำมาถวายพร้อมขันดอก ไปถวายให้พระประธานในวิหาร และนำมาจุดบริเวณหน้าวิหาร
วิธีการทำหลัวหิงไฟพระเจ้า
1. ชาวบ้านจะไปตัดไม้จี้หรือไม้คนทาให้มีความยาวของไม้ 1 วา หรือเท่ากับความสูงของคนที่ตัดไม้
2. นำไม้ที่ตัดได้มากองรวมกันไว้ที่ลานกว้าง แล้วลอกเอาเปลือกไม้ที่มีหนามออก
3. ต่อมาเอาไม้มามัดรวมกันให้เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้า 80 พรรษา หรือมากกว่านั้นแล้วแต่กำลังศรัทธาของแต่ละหมู่บ้าน
4. จากนั้นช่วยกันแบกหามเข้าวัด นำไปวางไว้บริเวณลานข้างวิหารหรือบริเวณตรงหน้าพระประธาน
5. จัดการนำกองไม้มาทำเป็นรูปกระโจมแบบอินเดียแดง
6. ใส่สะโปกหรือไม้ประทัดสอดเข้าไปข้างใน เมื่อไม้ชนิดนี้ติดไฟจะมีเสียงดังไปไกล เป็นสัญญานให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาจัดเตรียมข้าวปลาอาหารต่าง ๆ เพื่อนำมาทำบุญที่วัด
ภาพโดย: เพจข่าวด่วนจอมทอง รักคุณ
ภาพโดย: เพจเชียงใหม่นิวส์
ขั้นตอนในงานประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า
1. ชาวบ้านเตรียมพานข้าว ดอกไม้ ธูป เทียน ฟืนยาว 1 วาหรือเท่ากับความสูงของตนเองจำนวน 1 มัด และภัตตาหารถวายแก่พระสงฆ์
2. ไหว้พระรับศีลรับพรจากพระสงฆ์ และกล่าวคำถวายที่เกี่ยวกับการบูชาพระรัตนตรัย การถวายทานและการสร้างกุศล
3. นำฟืนไปประเคนหน้าพระประธานในวิหาร หรือบางแห่งใช้กรวยดอกไม้ไปประเคนหน้าพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการะ
4. ในเวลาประมาณ 04.00 – 05.00 น. เริ่มจุดกองไฟหรือกองฟืน โดยเจ้าอาวาสเป็นผู้เริ่มจุดไฟพร้อมกับการตีฆ้อง 3 ครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้ทราบและร่วมอนุโมทนาบุญด้วยกัน
ไม้ที่นิยมใช้ในการทำหลัวหิงไฟพระเจ้า
ไม้ที่นิยมนำไปทำหลัวหิงไฟพระเจ้า คือ “ไม้จี้” หรือภาษากลางเรียกว่า “ไม้คนทา” เป็นไม้ประเภทหนึ่งที่มีหนาม เนื้อไม้สีขาว สามารถติดไฟได้ง่ายซึ่งชาวบ้านจะนำกิ่งไม้จี้มาคนละวา หรือเท่ากับส่วนสูงของบุคคลที่ไปหาไม้มา และสมัยก่อนแต่ละบ้านจะมีไม้จี้เป็นจำนวนมาก ในสมัยนี้ยังมีอยู่บ้าง แต่ต้องไปหาในป่า (นพดล พิมาสน, สัมภาษณ์, 17 มมกราคม 2567)
ข้อห้าม!!
- ห้ามใช้ไม้ที่มีรสเผ็ด รสเปรี้ยว หรือมีกลิ่นเหม็นเด็ดขาด
- ห้ามถวายดอกใหม่ หรือดอกชบา เพราะมีตำนานเกี่ยวกับความรักของพระนางจามเทวีที่มีต่อขุนหลวงวิลังคะ โดยสมัยก่อนดอกไม้ชนิดนี้มีสีอื่น แต่พระนางจามเทวีเอาไปลงคาถาจนกลายเป็นสีแดง แล้วนำไปให้ขุนหลวงวิลังคะแต่ท่านนำไปทัดหู คาถาอาคมที่ลงไว้ในดอกไม้เกิดเสื่อมสลายไป ซึ่งดอกไม้ชนิดนี้มีความรักและคุณไสยเข้ามาเกี่ยวข้องจึงไม่เหมาะสมในการนำไปถวายพระ
ความสำคัญของประเพณีที่มีต่อคนในชุมชน
ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้ามีความสำคัญต่อคนในชุมชน คือ ทำให้คนในชุมชนมารวมตัวกัน และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของผู้คนภายในชุมชน
มุมมองของบุคคลเกี่ยวกับประเพณี
- มุมมองของนายนพดล พิมาสน ประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้ากำลังจะสูญหายไป เนื่องจากประเพณีมีการเผาไฟ ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงผู้คนในสมัยนี้เข้าวัดกันน้อยลงไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนเฒ่าคนแก่ และหาคนสืบสานประเพณีนี้ได้ยาก เพราะแต่ละคนมีภาระหน้าที่ของตนเอง
- มุมมองของพระครูจันทสรการ เจ้าอาวาสวัดทุ่งหมื่นน้อย ในสมัยก่อนช่วงสี่เป็งยังมีการจัดงานประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า แต่ในสมัยนี้ที่วัดทุ่งหมื่นน้อยไม่มีการจัดประเพณีนี้แล้ว เพราะว่าต้องการรณรงค์ให้ลดการเผาไหม้สิ่งต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียทางอากาศ ซึ่งส่วนใหญ่วัดแถวนอกเมืองจะยังมีการจัดอยู่ อย่างอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และแนวคิดในการหาสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาแทนการหลัวหิงไฟ เพื่อให้ประเพณียังคงสืบทอดต่อไป ตอนนี้ยังไม่พบเห็น
ความรู้เพิ่มเติม
- ไม้จี้ หรือไม้คนทา(ภาคกลาง) เป็นไม้พุ่มกึ่งเลื่อย สูงประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นมีหนามแหลมสั้น ลักษณะของใบเป็นแบบแขนง เรียงสลับกัน ก้านและแกนใบแผ่ขยายออกเป็นปีกแคบ ๆ ใบย่อยมี 1-15 ใบ รูปวงรีหรือรูปไข่ ส่วนของดอกด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ด้านในเป็นสีนวล ออกดออกเป็นช่อ รากของไม้จี้ใช้เป็นส่วนผสมในการทำยารักษาโรคแก้ท้องร่วง แก้โรคลำไส้ แก้ไข้พิษต่าง ๆ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่จะขึ้นตามพื้นที่ดอน ป่าเชิงเขา (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ม.ป.ป.)
แหล่งที่มา
นพดล พิมาสน. (2567, มกราคม 17). ผู้ปฎิบัติงานเกษตร งานอำนวยการ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สัมภาษณ์
พระครูจันทสรการ. (2567, มกราคม 19). เจ้าอาวาสวัดทุ่งหมื่นน้อย ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์
มณี พยอมยงค์. (2547). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). ส.ทรัพย์การพิมพ์.