ประเพณีตานข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า เมื่อชาวบ้านได้ยินสัญญานที่เกิดจากไม้ที่ระเบิดที่เกิดจากการทำหลัวหิงไฟพระเจ้า ก็จะนำข้าวใหม่หลังการเก็บเกี่ยวไปทำบุญที่วัด
ความเป็นมา
ความเป็นมาของประเพณีตานข้าวใหม่มีหลากหลายเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าต่อ ๆ กันมามีทั้งความคล้ายคลึงกันและแตกต่างกันบางส่วน ขึ้นอยู่กับความเชื่อและมุมมองของบุคคลที่มีต่อประเพณี ถึงแม้ว่าจะเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเดียวกัน ดังนี้
- ประเพณีตานเข้าใหม่ เกิดจากช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านต่างนึกถึงบุญคุณของ “ผีปู่ผีย่า ผีฟ้าผีน้ำ ผีค้ำดินดำ” ได้แก่ ผีบรรพบุรุษผู้ให้ที่นาทำมาหากิน ผีบนฟ้าที่ให้น้ำฝน ผีขุนน้ำที่ให้น้ำในลำธารช่วยหล่อเลี้ยงต้นกล้าให้เติบโตงดงาม ผีดินผู้คอยดูแลดินให้สมบูรณ์จึงได้พากันจัดแบ่งข้าวเปลือกข้าวสารใส่กระทงพร้อมข้าวสุก อาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ หมวกพลู บุหรี่ ใส่บัตรพลี แล้วประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชา ต่อมาชาวล้านนาได้รับพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาหลัก จึงนิยมทำบุญอุทิศตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของข้าวสาร อาหารคาวหวานจะถูกนำไปกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัยด้วย ภายหลังความศรัทธาในพระศาสนาเข้มข้นขึ้นจึงจัดถวายพระรัตนตรัยเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ได้ทิ้งความเชื่อเดิมที่ยังมีการทำบุญให้เจ้าป่าเจ้าเขา เทวดา พระแม่ธรณี ตลอดจนญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว (รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, 2563)
- ประเพณีตานข้าวใหม่ เกิดขึ้นจาการที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าวกันเป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะนำข้าวไปขายหรือกินกันในครัวเรือนจะต้องมีการไปถวายพระสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสรรพสัตว์ต่าง ๆ อย่างวัว ควายที่ได้ใช้งานในการทำไร่ไถนา (นพดล พิมาสน, สัมภาษณ์, 17 มกราคม 2567)
- ประเพณีตานข้าวใหม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตอบแทนบุญคุณที่ลูกหลานได้มีพื้นที่ไร่นาจากคนเฒ่าคนแก่ในการทำมาหากิน ปลูกข้าวมาได้ยาวนานจนถึงเดือนสี่ของภาคเหนือ จึงมีการเก็บเกี่ยวข้าวใหม่เพื่อระลึกถึงบุญคุณที่ได้รับมาจากคนเฒ่าคนแก่ โดยมีการแบ่งข้าวถวายเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกนำไปถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนที่ 2 ถวายเพื่อคนเฒ่าคนแก่ที่เป็นเจ้าของที่ดินสำหรับการทำไร่นาและทำให้พื้นดินนี้สืบทอดมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ส่วนที่ 3 เป็นการถวายไว้กินในภายภาคหน้า (พระครูจันทสรการ, สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2567)
ช่วงเวลาในการจัดประเพณี
ประเพณีตานข้าวใหม่นิยมจัดในช่วงเดือนสี่เป็งของภาคเหนือ หรืออยู่ในช่วงประมาณปลายเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคม ซึ่งในปี 2567 ตรงกับวันที่ 27 มกราคม เช่นเดียวกับประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า
ขั้นตอนในงานประเพณีตานข้าวใหม่
ประเพณีตานข้าวใหม่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้า เนื่องจากชาวบ้านได้ยินเสียงระเบิดที่เกิดจากการทำหลัวหิงไฟพระเจ้าเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวบ้านมาทำบุญที่วัด โดยหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยจะนำข้าวเปลือกไปเก็บไว้ในยุ้งข้าว แล้วนำข้าวเหล่านั้นไปนึ่งให้สุก และจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ มาเพื่อถวายพระสงฆ์ หลังจากถวายเสร็จจะมีการรับศีล รับพร และกรวดน้ำ (รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี, 2563; สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, 2565)
การสืบสานประเพณีให้ยังคงอยู่ต่อไป
ประเพณีตานข้าวใหม่จะยังคงอยู่เพียงแค่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ถึงแม้ว่าประเพณีตานหลัวหิงไฟพระเจ้าที่มีความเกี่ยวข้องกันกำลังจะสูญหายไปโดยประเพณีนี้ผู้คนจะนำข้าวเปลือกที่ตนเองได้จากการทำไร่ทำนามาถวายพระ แต่ในปัจจุบันผู้คนทำเกษตร ปลูกข้าวกันน้อยลงจึงมีการปรับเปลี่ยนจากการนำข้าวเปลือกข้าวสารที่ปลูกด้วยตนเองเป็นการซื้อข้าวเปลือกข้าวสารจากร้านค้าแทน และการจัดประเพณีนี้จะยังจัดในช่วงเดือน 4 เป็งอยู่ แต่บางคนจะถวายข้าวเปลือกก่อนจะถึงเดือน 4 เป็ง แล้วแต่ความสะดวกของผู้คนในปัจจุบัน (นพดล พิมาสน, สัมภาษณ์, 17 มกราคม 2567)
แหล่งที่มา
นพดล พิมาสน. (2567, มกราคม 17). ผู้ปฎิบัติงานเกษตร งานอำนวยการ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สัมภาษณ์
พระครูจันทสรการ. (2567, มกราคม 19). เจ้าอาวาสวัดทุ่งหมื่นน้อย ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์
รุ่งนภา สงวนศักดิ์ศรี. (2563, ธันวาคม 23). ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า. https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/22367-ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า—ความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. (2565, กันยายน 2). ประเพณีตานข้าวใหม่. https://www2.m-culture.go.th/chiangmai/ewt_news.php?nid=2545&filename=index