Sansai Discovery

“ตั้งธรรมหลวง” เทศน์มหาชาติ ฟังธรรมครั้งยิ่งใหญ่

ตั้งธรรมหลวง หมายถึง การเทศน์ธรรมชาดกที่ยาวกว่าเรื่องอื่น ๆ และเป็นการฟังเทศน์ครั้งใหญ่ มีคนมาร่วมฟังเทศน์กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการฟังเทศน์ครั้งใหญ่มีทั้งการฟังเทศน์แบบธรรมวัตรและฟังมหาเวสสันดรด้วย (ปณิตา สระวาสี, 2559)

รูปแบบการตั้งธรรมหลวง มี 2 แบบ (ปณิตา สระวาสี, 2559) ดังนี้

  • การเทศน์ตามประเพณีประจำปี คือ ชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงินและจัดสรรปันส่วนเป็นกัณฑ์เทศน์ 
  • การเทศน์แบบสืบชะตาอายุ โดยผู้ฟังเทศน์จะต้องเลือกกัณฑ์ที่ตรงกับปีเกิดของตนและเป็นเจ้าภาพกัณฑ์นั้น 

วัตถุประสงค์

  • เป็นการช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน
  • เป็นการสืบทอดจารีตประเพณี
  • เป็นการสั่งสอนธรรมและคุณงามความดี

ช่วงเวลาในการตั้งธรรมหลวง

การตั้งธรรมหลวงส่วนใหญ่จะจัดในช่วงเดือนยี่เป็งหรือวันลอยกระทง และมีการจัดในช่วงเดือนสี่เป็ง นอกจากนี้ยังมีการตั้งธรรมฟังเทศน์มหาชาติในกรณีพิเศษ คือ การฉลองพระชนมพรรษต่าง ๆ และวาระโอกาสสำคัญของแต่ละสถานที่

การตั้งธรรมหลวงของวัดทุ่งหมื่นน้อย

วัดทุ่งหมื่นน้อยมีการตั้งธรรมหลวงช่วงสิ้นปีเป็นการรวมเข้าด้วยกันกับการจัดสวดมนต์ข้ามปี แต่การตั้งธรรมหลวงมีตั้งแต่เช้า เพื่อดึงญาติโยมให้อยู่วัดทั้งวัน การตั้งธรรมหลวงจัดขึ้นแต่ละครั้งนั้นยาก เพราะต้องใช้ความสมัครสมานสามัคคีและความพร้อมในหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ ซึ่งการตั้งธรรมหลวงของวัดทุ่งหมื่นน้อยถือว่าเป็นการสืบชะตาอายุตามแต่ละปีนักกษัตร โดยจะมีการเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ แต่ปีนักกษัตรมีเพียง 12 ปีเท่านั้น จึงจัดให้การเทศน์มหาชาติกัณฑ์ที่ 13 เป็นการชุมนุมรวมชะตาทุกปีเกิด รวมทั้งมีการจำลองเขาวงกต ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนหนึ่งในมหาเวสสันดรชาดกตอนที่ พระเวสสันดรออกจากเมืองไปบำเพ็ญบารมีในป่าเขาวงกต เด็ก ๆ ที่มาวัดได้มาเล่นเขาวงกตนี้ก็จะรู้สึกสนุกสนานไปด้วย (พระครูจันทสรการ, สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2567)

การสืบชะตาอายุ

เขาวงกตคีรีจำลอง

การสวดมนต์ข้ามปี

แหล่งที่มา

พระครูจันทสรการ. (2567, มกราคม 19). เจ้าอาวาสวัดทุ่งหมื่นน้อย ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์

ปณิตา สระวาสี (2559, มิถุนายน 23). ตั้งธรรมหลวง. https://rituals.sac.or.th/detail.php?id=76

ภาพโดย : เพจวัดทุ่งหมื่นน้อย สันทราย เชียงใหม่