ผีเสื้อบ้าน คือ วิญญาณที่คอยปกป้องดูแลคนในหมู่บ้านซึ่งมีแทบจะทุกหมู่บ้าน โดยคำว่า “เสื้อ” ในภาษาล้านนา หมายถึงการปกป้อง คุ้มครอง เมื่อนำมารวมกับคำว่า “ผี” จะได้คำว่า “ผีเสื้อ” ที่ไม่ใช่แมลงมีปีก แต่มี ความหมายว่า ผีผู้ให้การปกป้องคุ้มครองซึ่งมักจะเชื่อมโยงกับสถานที่ต่าง ๆ
ผีเสื้อบ้านส่วนใหญ่จะไม่มีคนทรง ไม่มีชื่อประจำเสื้อบ้านเนื่องจากเสื้อบ้านเปรียบเสมือนเจ้าที่ในแต่ละหมู่บ้าน แต่เสื้อบ้านของหมู่บ้านทุ่งหมื่นน้อยมีหอเสื้อบ้านและเขียนชื่อติดไว้ และบริเวณที่ตั้งหอเสื้อบ้านแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางพื้นที่ตั้งหอเสื้อบ้านไว้ข้างถนนหรือบางพื้นที่ตั้งไว้ว่างท้ายหมู่บ้านแล้วแต่ความเชื่อของแต่ละหมู่บ้าน
เจ้าหน่อย กาบแก้ว : หอเสื้อบ้านชุมชนทุ่งหมื่นน้อย
หอเสื้อบ้าน
หอเสื้อบ้าน เป็นกะท่อมที่ทำไว้เพื่อเป็นที่สิงสถิตของพระภูมิเจ้าที่หรือดวงวิญญาณที่คอยรักษาบ้านเรือน ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ หลังขนาดไม่ใหญ่นักมีความกว้างประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ 2 ศอก สูงประมาณ 2 ศอก แต่บางแห่งก็มีขนาดใหญ่มาก สามารถอยู่ได้ 20-30 คน ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนวัสดุในการสร้างหอเสื้อบ้านตามแล้วแต่หมู่บ้านจะสะดวกและการตั้งหอเสื้อบ้านจะตั้งในบริเวณที่ว่างของท้ายหมู่บ้านหรือสถานที่ที่คนในหมู่บ้านคิดว่าเหมาะสม ส่วนใหญ่จะเป็นที่เงียบสงบ ร่มครื้น มีต้นไม้ใหญ่หนาแน่น
พ่อหมื่นคำก๋อง : หอเสื้อบ้านชุมชนทุ่งหมื่นน้อย
สิ่งของที่มีอยู่บนหอเสื้อบ้าน
1. เสื้อ 1 ผืนปูเรียบร้อย
2. หมอน 1 ใบ
3. คนโทใส่น้ำดื่มพร้อมภาชนะ
4. พานดอกไม้ธูปเทียน
5. สำรับข้าว 1 สำรับ
6. แจกันดอกไม้ 1 คู่
7. บางแห่งมีรูปสมมติเป็นพระภูมิเจ้าที่ มีหม้อน้ำล้างเท้า และมีการติดผ้าม่านอย่างสวยงาม แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละพื้นที่
ช่วงเวลา
ส่วนใหญ่เดือน 9 ของภาคเหนือ ตรงกับเดือนมิถุนายน หรือบางหมู่บ้านก็จัดช่วงปีใหม่เมือง และเทศกาลสำคัญใหญ่ๆ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา
พิธีกรรมการเลี้ยงผีเสื้อบ้าน
การทำบุญเลี้ยงเสื้อบ้านจะนิยมนำไก่ต้มมาเซ่นไหว้ครัวเรือนละ 1 ตัว จากนั้นชาวบ้านพากันกินอาหาร ดื่มสุราร่วมกันและนำไก่ต้มไปประกอบอาหารกินภายในครัวเรือน แต่บางพื้นที่มีการจัดงานใหญ่โต มีการเล่นซอ หรือบางหมู่บ้านไปรับผีเสื้อบ้านจากศาลหลักเมืองมาให้ดูแลปกป้องหมู่บ้านของตนเอง (นพดล พิมาสน, สัมภาษณ์, 17 มกราคม 2567)
ความแตกต่างในอดีตกับปัจจุบัน
ในสมัยก่อนมีล่ามซึ่งเป็นคนที่มีโวหารดี พรรณนาดี คอยสื่อสารระหว่างเสื้อบ้านกับชาวบ้าน และมีการมอบหมายให้มีคนคอยดูแลและต้องให้ทุกคนในหมู่บ้านมารวมตัวกันเมื่อต้องทำพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน แต่ในปัจจุบันใครอยากทำก็ทำ ใครอยากดำหัวเสื้อบ้านก็สามารถดำหัวได้เองโดยไม่ต้องใช้ล่าม และสามารถทำคนเดียวได้เพราะแต่ละคนในหมู่บ้านมีภาระหน้าที่แตกต่างกัน เวลาว่างก็แตกต่างกันถ้าต้องมารวมตัวกันสามารถทำได้ยาก (นพดล พิมาสน, สัมภาษณ์, 17 มกราคม 2567)
แหล่งที่มา
นพดล พิมาสน. (2567, มกราคม 17). ผู้ปฎิบัติงานเกษตร งานอำนวยการ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สัมภาษณ์
“ผีเสื้อบ้าน”. (2542). ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 8, หน้า 4112 – 4113). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
“หอเสื้อบ้าน (ศาลเทพารักษ์ดูแลหมู่บ้าน)”. (2542). ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7509 -7510). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.