ภัยที่เกิดจากฝน เป็นภัยที่มาจากการเกิดฝนตกหนักหรือฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งกลายเป็นน้ำท่วม และน้ำท่วมฉับพลัน โดยเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหาย ความยากลำบากและความท้าทายที่ หลากหลายให้แก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ครอบครัวต้องไร้บ้านกลายเป็นผู้พลัดถิ่น สูญเสียทั้งทรัพย์สินเงิน ทอง ทำให้เกิดการรับมือกับภัยจากฝนด้วยการนำความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
การรับมือกับภัยจากฝน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 : การวางแผนรับมือกับภัยจากฝน
- วางแผนจากหนังสือปีใหม่เมือง มีการพยากรณ์ปริมาณน้ำในแต่ละปีว่าจะตกมากน้อยเท่าไหร่
- สังเกตจากพวกแมลง เป็นการดูล่วงหน้าแบบระยะสั้น เช่น มดขนไข่ขึ้นที่สูง ฝนจะตกหนัก
- สังเกตจากปรากฏการณ์บนท้องฟ้า
- การดูสีของพระจันทร์ทรงกรดว่าออกเป็นสีอะไร ซึ่งแต่ละสีบอกว่าจะมีปริมาณน้ำมากน้อยแตกต่างกันไป และเป็นการดูล่วงหน้าแบบระยะยาว
- การดูสีของท้องฟ้า ในช่วงหน้าฝนเห็นฟ้าลายๆ แสดงว่าฝนทิ้งช่วงไม่ตกเยอะ ถ้าฟ้าสีแดงทั้งฟ้าฝนจะตกหนัก และฟ้าสีแดงเป็นหย่อม ๆ แล้วอีกฝั่งฟ้าเป็นสีเทาด้วย จะเป็นการเตือนว่าพายุกำลังเข้ามายังบริเวณนี้ เมื่อไหร่ที่ฟ้าสีแดงเคลื่อนตัวเข้ามาเรื่อย ๆ เกิดพายุแน่นอน
ส่วนที่ 2 : การรับมือป้องกันภัยจากฝน ซึ่งสามารถใช้วิธีนี้ได้ทั้งช่วงที่ฝนยังไม่ตกและฝนตกแล้ว
- บนบานกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นทั้งการป้องกันระยะยาวและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดฝนตกแล้ว ซึ่งแต่ละชุมชนจะรู้กันว่าต้องไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณไหน
- การปักตะไคร้ไล่ฝน โดยการนำปลายยอดของตะไคร้ปักลงไปในดิน ซึ่งภาคเหนือนิยมใช้คนทำพิธีเป็นแม่หม้ายที่สามีตายจากไปแล้ว (ไม่นำผู้หญิงที่หย่าร้างแต่สามียังไม่ตายเพราะภาคเหนือเรียกว่า “แม่ฮ้าง”) มีความเชื่อว่าแม่หม้ายมีพลังวิเศษ ถ้าสาปแช่งอะไรจะเป็นจริง รวมถึงการเป็นแม่หม้ายสามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนกว่าการนำเด็กบริสุทธิ์มาทำพิธี
ภาพโดย : เพจ silpa-mag
แหล่งที่มา
ชยุตภัฎ คำมูล. (2567, มกราคม 23). ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สัมภาษณ์