เรื่องราวของผีหม้อนึ่งที่ถูกเล่าผ่านมุมมองของผู้ที่เคยพบเห็นไม่ใช่ผู้สืบทอดโดยตรง ซึ่งเล่าเรื่องราวโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ชยุตภัฎ คำมูล เป็นอาจารย์สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ทำงานอยู่ภายในพื้นที่ของอำเภอสันทราย แต่อาจารย์มีความรู้เกี่ยวกับการลงผีหม้อนึ่งจากบ้านเกิดอำเภอแม่แตง ถึงแม้จะต่างอำเภอกัน มีจุดแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ใจความสำคัญเหมือนกัน และการแบ่งพื้นที่ทางวัฒนธรรมไม่มีการแบ่งที่ชัดเจนเหมือนกับการแบ่งพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงเป็นการใช้วัฒนธรรมของชาวล้านนาร่วมกันอีกด้วย
ผีหม้อนึ่ง คือ ผีชนิดหนึ่งที่อยู่ในจำพวกผีเรือนซึ่งสถิตอยู่กับหม้อที่ใช้นึ่งข้าว และเป็นความเชื่อที่เสมือนการเสี่ยงทายรูปแบบหนึ่งเพื่อช่วยเหลือผู้คนในกรณีที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบไม่ได้ อย่างการเจ็บป่วยที่ไม่รู้สาเหตุ หรือ การเจ็บป่วยบ่อยเกินกว่าปกติ
อุปกรณ์ในการลงผีหม้อนึ่ง
1. หม้อนึ่ง
2. ไหข้าว
3. ข้าวสารประมาณ 1 ลิตร
4. กระด้งใส่ข้าวสาร
5. เงิน ซึ่งแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันไป อย่างของอำเภอแม่แตงจะใช้เงินจำนวน 22 บาท แต่ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือเขียนไว้ว่าใช้เงินจำนวน 13 สตางค์
6. ดอกไม้ธูปเทียน
7. เสื้อ 1 ตัว
8. ไม้ที่ยาวประมาณ 2 ศอก สามารถนำสอดแขนเสื้อทั้งข้างซ้ายและข้างขวาได้
ภาพจาก เพจเชียงใหม่นิวส์
ภาพโดย : สมาคมคนเหนือ
ภาพโดย : อักขณิช ศรีดารัตน์
ขั้นตอนในการทำพิธี
1. เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ มาทำพิธีที่บ้านของผู้ทำพิธี
2. เทข้าวสารใส่กระดัง
3. นำหม้อนึ่งมาตั้งแล้วเสียบไม้เข้าไปบริเวณหูของหม้อนึ่งทั้ง 2 ข้าง
4. ใส่เสื้อให้กับหม้อนึ่ง จะทำให้ดูคล้ายกับคนที่มีแขนยื่นออกมาสองข้าง
5. ผู้ทำพิธีและตัวแทนผู้ป่วยหรือผู้ป่วยถือไม้ไว้คนละข้าง
6. อัญเชิญดวงวิญญาณของผีหม้อนึ่งโดยการกล่าวคำอัญเชิญ “ขออัญเชิญย่าหม้อหนึ้ง มาเอาข้าเป็นร่างทรงลงยังหุ่นย่าหม้อหนึ้ง หื้อลูกและหลานเหลนหน้อย ได้ถามเถิงเรื่องที่คนเขาบ่รู้แลอยากรู้ บ่หันแลอยากหัน…” (อ้างอิง : หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 8)
7. หลังจากอันเชิญเสร็จให้ถือไว้สักพักนึงซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า ถ้าดวงวิญญาณของผีหม้อนึ่งมาสิ่งสถิตแล้วไม้และหม้อนึ่งจะสั่น
8. เมื่อผีหม้อนึ่งประทับร่างของคนทรงเรียบร้อยแล้ว จะมีการเริ่มสอบถาม โดยลักษณะของคำถามจะเป็นการถามนำว่า “ใช่ หรือ ไม่ใช่” เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารผ่านทางคำพูดได้ ถ้าถามว่าคนนี้เจ็บป่วยเกิดจากอะไรก็ตอบให้ไม่ได้เพราะสื่อสารยาก แต่ก็มีบางคำถามที่สามารถขีดเขียนบนข้าวเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น วาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมไขว้กัน สื่อถึงทางแยก หรือโดนผีทำร้ายมาต้องเอาสิ่งของอะไรไปแก้ก็สามารถวาดเป็นรูปปลา รูปกล้วย รูปไก่ได้
9. ถามคำถามแล้วถ้าคำถามนั้น “ใช่” ไม้และหม้อนึ่งที่จับอยู่จะสั่น แต่ถ้า “ไม่ใช่” จะไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ
10. ถามไปเรื่อย ๆ จนได้คำตอบแล้วก็จะเชิญผีหม้อนึ่งกลับเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
ภาพโดย : เพจไทยรัฐออนไลน์
ช่วงเวลา
ไม่มีช่วงเวลาที่จะทำพิธีที่แน่นอนโดยมีการทำพิธีก็ต่อเมื่อลูกหลานไม่สบาย เจ็บไข้ได้ป่วย
การสืบทอด
การสืบทอดการลงผีหม้อนึ่งของแต่ละพื้นที่อาจจะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ขวัญอ่อนสามารถเข้าทรงได้ง่าย และมีการสืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งภายในตระกูล
ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติ
- ห้ามกินข้าวในงานศพ
- ห้ามลอดราวตากผ้าหรือด้ายสายสิญจน์ในงานศพ
- เสื้อต้องใช้สีดำเท่านั้นเพราะหม้อนึ่งข้าวเขม่าจะเป็นสีดำ
ความแตกต่างของการลงผีหม้อนึ่งในอดีตและในปัจจุบัน
สมัยก่อนแต่ละบ้านจะเตรียมข้าวสารมาจากบ้านด้วยตนเอง แต่ในปัจจุบันไม่ได้เตรียมไปเองแล้ว บางพื้นที่ก็ใช้วิธีเอาเงินไปซื้อข้าวสารจากเจ้าของบ้านที่ทำพิธี เพราะว่าการนำข้าวสารมาจากหลากหลายบ้านแล้วข้าวสารแต่ละชนิดผสมปนเปกันเมื่อนำข้าวไปบริโภคต่อจะให้รสชาติที่ไม่อร่อย นอกจากนี้ยังมีการขอน้ำมนต์จากผีหม้อนึ่งอีกด้วย โดยการนำเอาปลายไม้ที่ใช้ประกอบพิธีไปจุ่มในน้ำ
แหล่งที่มา
ชยุตภัฎ คำมูล. (2567, มกราคม 23). ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สัมภาษณ์
บุญยัง ชุมศรี. ผีย่าหม้อหนึ้ง. (2542). ใน สารนุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 8, 4108-4109). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.