Sansai Discovery

 “ความเชื่อกับภัยจากลมพายุ” ต่อต้านการเกิดมหัตภัยเลวร้าย

ภัยจากลมพายุ เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากพายุลมแรง จนทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน ต้นไม้ 
และสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเป็นอันตรายแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทำให้เกิดการพยายามต่อสู้เอาชนะภัยจาก
ลมพายุ ถึงแม้ว่าจะสู้ไม่ได้เนื่องจากเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้นาน ผู้คนสามารถรับรู้ได้
ก่อนที่จะเกิดไม่กี่นาทีเท่านั้น จึงใช้ความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ เข้ามารับมือกับภัยจากลมพายุแทน

การรับมือกับภัยจากลมพายุ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 : การวางแผนรับมือกับภัยจากลมพายุ

  • การวางแผนจากคำพยากรณ์ในหนังสือปีใหม่เมือง ซึ่งจะมีการพยากรณ์บอกว่าปีไหนมีลมใหญ่หรือลมที่พัดแรง แต่จะมีการพยากรณ์ไว้ในหนังสือเพียงแค่บางปี
  • สังเกตจากการทำรังของมดแดง โดยดูที่ความสูงต่ำของรังมดแดง ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะมีสัญชาตญาณในตัวเองเมื่อเกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ มาเยือนก็จะรีบหาที่ปลอดภัย เมื่อไหร่ที่มดแดงทำรังไม่สูง คนสามารถเอื้อมมือไปหยิบได้ ทำนายว่าปีนั้นต้องระวังจะมีลมแรงพัดมา

ส่วนที่ 2 : การเตรียมตัวรับมือกับภัยจากลมพายุ

ช่วงที่มีการจัดงานสำคัญ ๆ มักจะมีลมพายุพัดแรงมาทำลายพิธีกรรมต่าง ๆ ผู้คนเชื่อว่ามีพญามารมาคอยขัดขวางไม่ให้พิธีสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

  • การใช้ไม้ไผ่ทำเป็นวงคล้ายๆกับกำไล แล้วเอาเชือกมาผูกติดกับไม้ให้เหมือนกับเบ็ดตกปลา และนำไปปักลงพื้นดินซึ่งปักไว้ที่บริเวณไหนบริเวณนั้นจะไม่มีลมพายุพัดมา
  • อันเชิญพระอุปคุตขึ้นมาจากแม่น้ำ เพื่อป้องกันเหตุภัยจากลมพายุ ไม่เพียงแค่ป้องกันภัยจากลมพายุแต่พระอุปคุตสามารถป้องกันภัยได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะฝนตก น้ำท่วม คนไม่ดี และช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตได้อีกด้วย

ภาพโดย : เพจวัดอุปคุต

ส่วนที่ 3 : การรับมือเมื่อทำพิธีป้องกันภัยจากลมพายุแล้ว แต่ยังเกิดขึ้นอยู่

ภัยจากลมพายุแตกต่างจากภัยอื่น ๆ ตรงที่เมื่อลมพายุเกิดขึ้นไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ ผู้คนสามารถรับรู้ได้ก่อนที่จะเกิดประมาณ 5 นาที และภัยที่เกิดจากลมพายุทุกคนต้องหาวิธีแก้ไขเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง รวมถึงการนิยมทำขึดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าอะไรที่จะเกิดพอขึดแล้วมันจะไม่เกิดไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี ๆ หรือสิ่งไม่ก็ตาม ผู้คนจึงนำความเชื่อนี้ไปเป็นกลอุบายในการทำให้ลมพายุที่จะเกิดขึ้นกลับกลายเป็นไม่เกิด

  • ใช้คาถาไล่ลม แล้วเป่าสวนทางกับลมที่พัดมา                                               
  • นำฝักส้มป่อยไปย่างไฟให้มีกลิ่น โดยเชื่อว่ากลิ่นก็คือลมและส้มป่อยเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์มีพลังมากกว่าลมทั่วไปสามารถต้านให้ลมไปทางอื่นได้
  • การแทงลม เอามีดแทงฝาบ้านซึ่งบ้านในสมัยก่อนทำมาจากไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ ลมมาทางไหนก็แทงไปทางนั้น
  • นำทัพพีมาร่ายรำ
  • นำสากไปย่างไฟ
  • นึ่งข้าวแบบไม่ก่อไฟ ไม่ใส่น้ำ ไม่ใส่ข้าว ทำเหมือนนึ่งข้าวแต่ข้างในไม่มีอะไร
  • นำข้าวที่กินมาวางไว้บนหัวตัวเอง

แหล่งที่มา

ชยุตภัฎ คำมูล. (2567, มกราคม 23). ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สัมภาษณ์