Sansai Discovery

“จอบตุ่ม” การถอดพิษด้วยไข่ไก่

การจอบตุ่มหรือความเชื่อต่าง ๆ ของผู้คนบางครั้งไม่สามารถที่จะไปหาต้นเหตุหรือความเป็นมาได้แล้ว จึงต้องอาศัยการมาเล่าสู่กันฟังจากคนที่เขาเคยทำ เคยได้ยินมาก่อน และความเชื่อของแต่ละคนมีความต่างกันนิดหน่อย บอกไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด ถึงแม้จะอยู่ในอำเภอเดียวกัน

การจอบตุ่ม เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ช่วยในการรักษาโรค โดยคำว่า “จอบ” หมายถึง ชักจูง หรือล่อให้ตาม ส่วนคำว่า “ตุ่ม” หมายถึง เม็ดที่เกิดขึ้นตามผิวหนัง ดังนั้น “การจอบตุ่ม” เป็นการล่อให้ตุ่มหรือพิษ
ออกจากร่างกายเมื่อบุคคลนั้นไม่สบาย ไข้ไม่ยอมลด แม้จะให้ยากินแล้วก็ตาม ชาวบ้านเชื่อกันว่า 
อาจมีตุ่มลี้หรือตุ่มที่มีพิษซ่อนอยู่ในร่างกายแต่ไม่ปรากฏออกมาตามผิวหนัง จึงต้องทำพิธีการจอบตุ่ม
ให้พิษต่าง ๆ ออกมา ด้วยการใช้เหรียญแถบเป็นตัวล่อ (สนั่น ธรรมธิ,2553)

ภาพโดย : เพจ mgronline

ช่วงเวลา

ไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอน โดยจะทำพิธีก็ต่อเมื่อมีผู้เจ็บป่วยต้องการให้คนทำพิธีรักษาให้ เนื่องจากรักษาด้วยทางการแพทย์แล้วยังคงมีอาการเจ็บป่วยอยู่ (สุรพล สุเทนะ, สัมภาษณ์, 30 มกราคม 2567)

สถานที่ในการทำพิธี

สถานที่ในการทำพิธีสามารถทำได้ทั้งบ้านของคนทำพิธีและบ้านของผู้ป่วยเองแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน (สุรพล สุเทนะ, สัมภาษณ์, 30 มกราคม 2567)

อุปกรณ์

1. เหรียญแถบหรือเงินแถบ 1 เหรียญ (ถ้าไม่สามารถหาได้สามารถนำเงินแท้มาทำเป็นเหรียญใช้แทนได้)

2. ถ้วย

3. ข้าวตอกดอกไม้

4. ธูป

5. เทียน

6. เงิน 50 บาทขึ้นไป

7. ไข่ไก่ที่สุกแล้ว

ขั้นตอน

1. นำผู้ป่วยมาทำพิธีพร้อมด้วยอุปกรณ์สำหรับทำพิธี

2. คนทำพิธีนำไข่ไก่ที่ต้มสุกแล้ว ผ่าแบ่งครึ่งเป็นสองซีกแล้วเอาไข่แดงออกทั้งหมด เหลือไว้แค่ไข่ขาว

(บางพื้นที่ปอกเปลือกไข่ก่อนผ่าแต่บางพื้นที่ก็ไม่ปอกเปลือกไข่ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน)

3. ใส่เหรียญแถบลงไประหว่างไข่ทั้งสองซีก แล้วห่อด้วยผ้ารอบไข่ไก่

4. เสกคาถาที่ไข่ แล้วนำไปเช็ดผู้ป่วยตั้งแต่ศีรษะลงไปจนถึงลำตัว

5. เช็ดไปเรื่อย ๆ พร้อมทั้งสลับกับการท่องคาถาไปด้วย

6. เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 30 นาทีให้แกะไข่เอาเหรียญแถบออกมาดูว่าสีของเหรียญแถบเปลี่ยนไปหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนเป็นสีดำแบบช้ำเลือดช้ำหนองแสดงว่ามีพิษอยู่ในร่างกาย หากสีเหรียญแถบไม่เปลี่ยนแสดงว่าไม่มีพิษอยู่ภายในร่างกาย

7. เช็ดและแกะออกมาดูอย่างน้อย 3 รอบ หรือจนกว่าเหรียญแถบจะเป็นสีปกติ

8. แต่ถ้าอาการป่วยกลับมาอีกครั้ง สามารถทำพิธีนี้ซ้ำได้

คาถา

อาสะกะกา จะกะกา ทาวันนัง คาถาติ  (พูด 3 รอบ)

ข้อห้าม!!

  • ห้ามใช้ไข่ชนิดอื่น สามารถใช้ไข่ไก่ได้อย่างเดียว
  • ห้ามนำไข่ไก่ไปเช็ดตัวของผู้ป่วยบริเวณที่ต่ำกว่าสะดือ
  • ห้ามทำการเช็ดจากข้างล่างไปข้างบน เพราะคาถาจะไม่ดี

การสืบทอด

ใครจะมาสืบทอดหรือมาเรียนจากผู้มีวิชาก็ได้ ไม่จำกัดคุณสมบัติ แต่ถ้าคนที่ผ่านการบวชสามเณรและบวชเรียนเป็นพระภิกษุเมื่อท่องคาถาจะขลังกว่าคนธรรมดา (สุรพล สุเทนะ, สัมภาษณ์, 30 มกราคม 2567)

ความรู้เพิ่มเติม

  • คาถาแก้ปวดหัว “โอมซีแซ แจแงแง โอมจุ๊ต่อ บ่อสหวาหาย”  โดยจะท่องคาถาพร้อมทั้งใช้มือลูบไปด้วยบริเวณที่มีการปวดหัว และถ้าคนป่วยเป็นผู้หญิงจะไม่สามารถลูบบริเวณหน้าได้ แต่จะทำที่หัวเข่าของคนทำพิธีแทน (สุรพล สุเทนะ, สัมภาษณ์, 30 มกราคม 2567)
  • เหรียญแถบ หรือเงินแถบ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “เงินรูปี” เป็นเงินตราของอังกฤษที่ใช้ในประเทศอินเดีย ซึ่งมีรูปกษัตริย์ของอังกฤษอยู่บนเหรียญ ต่อมาเมื่ออังกฤษยึดประเทศพม่าได้ อังกฤษก็นำเอาเงินรูปีจากอินเดียเข้ามาและนิยมใช้ทางตอนใต้ของประเทศพม่า เมื่อชาวอังกฤษมีการติดต่อค้าขายกับทางล้านนา จึงได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลไทยนำเงินแถบเข้ามาใช้ในล้านนาด้วย แต่ว่ารัฐบาลไทยไม่อาจผลิตเงินตราออกมาใช้ได้มากตามความต้องการของตลาดโดยเฉพาะในภาคเหนือที่มีกระแสการหมุนเวียนของเงินสูงมากเพราะมีการค้าไม้สัก ชาวล้านนาจึงนิยมใช้เงินรูปีมากกว่าเงินตราจากกรุงเทพ เพราะเงินแถบผลิตจากเงินที่ดีมีเนื้อเงินมาก ต่างกับวัตถุที่ใช้แทนค่าเงินของกรุงเทพที่ทำด้วยทองแดง

ภาพโดย : เพจ mgronline

แหล่งที่มา

“เงินแถบ (เงินตรา).” (2542). ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 3, หน้า 1393). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

สนั่น ธรรมธิ. 2553. ร้อยสาระสรรพล้านนาคดี. โรงพิมพ์นันทกานต์กราฟฟิคการพิมพ์.  

สุรพล สุเทนะ. (2567, มกราคม 30). ค้าขาย. สัมภาษณ์